ตำนานของ Teru Teru Bozu ตุ๊กตาไล่ฝนของญี่ปุ่น
ตำนานของ Teru Teru Bozu ตุ๊กตาไล่ฝนของญี่ปุ่น
คราวก่อน “ปักตะไคร้” ไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่ เพราะฝนก็ยังตกอยู่แทบทุกวัน ดีหน่อยว่าบางวันก็เปลี่ยนจากตกตอนบ่ายตอนเย็นไปตกตอนดึกแทน (แล้วก็ทำให้มี “น้ำรอการระบาย” ตั้งแต่เช้า) งั้นมาลองหาวิธีอื่นดูบ้างดีไหม
ถ้าพูดถึงเทรุ เทรุ โบซุ (Teru Teru Bozu) หลายคนที่ไม่ได้เรียนภาษาญี่ปุ่นมาก็อาจจะงง ๆ ว่าคืออะไร แต่ถ้าบอกว่ามันคือ “ตุ๊กตาไล่ฝน” แบบญี่ปุ่น คิดว่าคนไทยโดยเฉพาะที่อายุเกิน 30 ปีขึ้นไปคงจะนึกภาพออกกันแทบทุกคน เพราะเคยเห็นกันมาแล้วทั้งนั้นจากการ์ตูนเรื่อง “เณรน้อยเจ้าปัญญา” ซึ่งทุกครั้งที่อิคคิวซังคิดถึงท่านแม่ ก็จะมาพูดกับตุ๊กตาที่ว่านี้เสมอ และยังได้เป็นไตเติลของเพลงจบด้วย
เทรุ เทรุ โบซุ ซึ่งต่อไปจะขอเรียกว่า “ตุ๊กตาไล่ฝน” เพื่อความสะดวก เป็นตุ๊กตาที่ทำขึ้นอย่างง่าย ๆ จากกระดาษหรือผ้าสีขาว โดยนำกระดาษหรือผ้ามาขยุ้มให้เป็นก้อนกลม ๆ จากนั้นจึงนำกระดาษหรือผ้าอีกผืนมาห่อก้อนกลมนั้นไว้ตรงกลาง หาเชือกหรือด้ายมามัดให้ก้อนกลมเป็นส่วนหัว และขอบกระดาษหรือผ้าคลี่ออกให้เป็นส่วนลำตัวของตุ๊กตาอีกที จากนั้นจึงใช้สีแต้มที่ส่วนหัวให้เป็นตาและปาก (ตุ๊กตายุคใหม่อาจจะมีประดับตกแต่งเพิ่มขึ้นเพื่อความสวยงาม) เมื่อได้ตัวตุ๊กตาแล้วก็จะนำไปแขวนที่ขอบหน้าต่างหรือกิ่งไม้ในสวน เพื่อขอให้อากาศในวันรุ่งขึ้นแจ่มใสไร้ฝน
มีบางแห่งเชื่อว่าตุ๊กตาไล่ฝนดังกล่าวนี้ญี่ปุ่นได้มาจากจีนอีกทีตั้งแต่สมัยเฮอัน (Heian 974-1184) ซึ่งเป็นช่วงที่วัฒนธรรมจากจีนในสมัยราชวงศ์ถังหลั่งไหลเข้าสู่ญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ในตำนานจีนกล่าวกันว่า ครั้งหนึ่งในเมืองแห่งหนึ่งมีฝนตกหนักจนน้ำท่วมเรือกสวนไร่นา ผู้คนเดือดร้อนกันมากจนต้องมีการทำพิธีเซ่นสรวงบูชายัญ ซึ่งปรากฎว่ามีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งตัดสินใจเสียสละตัวเอง เธอได้ถือไม้กวาดและเดินจากไปสู่สวรรค์แล้วฝนก็หยุดตก และหลังจากนั้นผู้คนจึงระลึกถึงเธอด้วยการทำตุ๊กตาเด็กนำมาแขวนไว้เพื่อขอให้เธอกวาดเมฆฝนทิ้งไป
แต่ในตำนานของญี่ปุ่นเองนั้นออกจะโหดกว่ามาก เรื่องมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งมีฝนตกหนักในญี่ปุ่นจนชาวบ้านเดือดร้อนไปทั่ว พระรูปหนึ่งเกิดความสงสารจึงบอกว่า ท่านจะทำพิธีขอให้ฝนหยุด แต่เมื่อทำพิธีแล้ว ฝนก็ยังไม่หยุดตกอยู่ดี ชาวบ้านโกรธมากคิดว่าถูกหลอกลวงจึงได้ขอให้เจ้าเมืองนำพระรูปนั้นไปประหารชีวิตเสียแล้วนำศีรษะของพระรูปนั้นห่อผ้าเอาไปแขวนประจานไว้ แต่ทันใดนั้นเอง ฝนก็หยุดตกราวกับปาฏิหาริย์ จากนั้นมา ผู้คนจึงได้ทำตุ๊กตาเลียนแบบศีรษะพระรูปนั้นขึ้นเพื่อขอให้ฝนหยุด คำว่า Teru Teru Bozu ก็มาจากคำว่า Teru ที่แปลว่า “แดดออก” และ Bozu ที่แปลว่า “พระภิกษุ” และยังมีตำนานต่อมาอีกว่า หากเกิดฝนแล้งนาน ๆ ก็ให้นำตุ๊กตาไล่ฝนมาแขวนแบบกลับหัวแทน (คล้าย ๆ กับเรื่องของการปักตะไคร้เหมือนกัน) เพื่อให้ฝนตกลงมา
ตำนานของตุ๊กตาไล่ฝนญี่ปุ่นนั้นเป็นที่รู้จักแพร่หลายกันมากตั้งแต่ยุคเอโดะ และเมื่อถึงปี 1921 Kyoson Asahara และ Shinpei Nakayama ยังได้แต่งเพลงกล่อมเด็กที่เกี่ยวข้องกับตุ๊กตาไล่ฝนเอาไว้ด้วย