แบงก์ชาติ คุมเข้มแคมเปญเงินกู้ ให้คนไทยก่อหนี้เกินตัว หวังแก้หนี้ครัวเรือน
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.เตรียมออกประกาศและหนังสือเวียนเกี่ยวกับแนวทางการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตในไตรมาสแรกปี 66 เพื่อไม่ให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการนอนแบงก์โฆษณากระตุกพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านแคมเปญต่างๆ ให้คนก่อหนี้เกินตัว ก่อหนี้โดยไม่จำเป็น ก่อหนี้ไม่เกิดประโยชน์ เช่น ของมันต้องมี หรือกู้ไม่สร้างรายได้เพิ่ม โดยเป็นหนึ่งในแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของ ธปท. ให้ลดอยู่ระดับความยั่งยืน 80% ต่อจีดีพี จากปัจจุบันอยู่ที่ 88% ต่อจีดีพี รวมทั้งต้องลดหนี้ปัจจุบัน, การปล่อยสินเชื่อมีคุณภาพและการสร้างความรู้ทางการเงิน
“บางผลิตภัณฑ์ยังไม่ตอบโจทย์ ต้องดูการปล่อยสินเชื่ออย่างมีคุณภาพทำอย่างไร สถาบันการเงินต้องมีความรับผิดชอบต่อลูกหนี้ มีหลายเรื่องคือไม่ให้สถาบันการเงินกระตุกพฤติกรรมก่อหนี้ ไม่ก่อหนี้ล้นพ้นตัว ไม่ก่อหนี้ไม่เกิดประโยชน์ และในระยะต่อไป ต้องดูเงินเหลือสุทธิของลูกหนี้ ดูรายได้สุทธิ แต่เรื่องนี้ถ้าออกมาเร็วไปอาจทำให้บางกลุ่มที่เปราะบางได้รับผลกระทบได้ในช่วงนี้ และต้องเสริมความรู้ทางการเงิน สร้างวินัยทางการเงินลูกหนี้ เริ่มต้นเด็กจบใหม่ วิศวะ อาชีวะ ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร หาแนวทางเสริมความรู้ทางการเงินให้ประชาชนมากขึ้น”
น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่า เกณฑ์ที่จะออกมาในไตรมาสแรกปี 66 จะต้องไม่เป็นปัญหาในการก่อหนี้ในระยะยาว ไม่ใช่แคมเปญที่สนับสนุนให้ก่อหนี้จนขาดคุณภาพ ไม่ได้ยั่งยืน จากที่ตรวจสอบมีแคมเปญโฆษณาต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นนอนแบงก์ เช่น ให้กู้เพื่อไปท่องเที่ยว กู้เพื่อซื้อสินค้าแบรนด์เนม กู้ผ่อนมือถือยาว ๆ นานๆ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้ห้ามแต่อยู่ที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะทุกวันนี้มีการกู้เพื่อของมันต้องมี และปัจจุบันเด็กจบใหม่มีหนี้เร็ว และคนไทยยังมีหนี้นาน ใกล้เกษียณแล้วยังมีหนี้
ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ธปท.รายงานยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยไตรมาส 2 ปี 65 อยู่ที่ 14.76 ล้านล้านบาท มีสัดส่วน 88.2% ต่อจีดีพี ลดจากระดับ 89.2% ต่อจีดีพีในไตรมาสแรกปี 65 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หนี้ครัวเรือนขยยายตัว 3.5% ซึ่งต่ำสุดในรอบ 18 ปี และชะลอลงเมื่อเทียบกับ 3.7% ในไตรมาสแรกของปี 65 โดยภาระหนี้ของภาครัวเรือนอยู่สูงกว่า 1 ใน 3 ของรายได้ หรืออยู่ที่ 33.9% เพราะครัวเรือนบางส่วนกำลังเริ่มมีข้อจำกัดหรือต้องปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายเพื่อให้สามารถก่อหนี้ก้อนใหญ่ก้อนใหม่ได้ โดยไม่เบียดบังในส่วนที่ควรเก็บสะสมเพื่อเป็นเงินออมในอนาคต
สำหรับแนวโน้มในปี 65 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับทบทวนประมาณการตัวเลขสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลงมาที่ 85.0-87.0% จากคาดการณ์เดิมที่ 86.5-88.5% ชะลอลงเมื่อเทียบกับสัดส่วน 90.1% ต่อจีดีพีในปี 64 เนื่องจากมูลค่าจีดีพีเติบโตสูงตามภาวะเงินเฟ้อ และครัวเรือนระมัดระวังการก่อหนี้ก้อนใหม่ แต่ต้องติดตามใกล้ชิดเพราะครัวเรือนหลายส่วนพึ่งพาสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีดอกเบี้ยสูงมาเสริมสภาพคล่องระยะสั้น