ช่วงนี้หน้าฝนโปรดระวัง "ด้วงก้นกระดก" แมลงที่อันตรายชอบมากับช่วงฤดูฝน!!
เนื่องจากเจ้าตัวแมลงลำตัวสีดำสลับสีส้มนี้มีอุปนิสัยชอบเล่นแสงไฟในเวลากลางคืน แถมยังมีขนาดลำตัวที่เล็กกว่าเมล็ดข้าวสาร ฉะนั้นการมุดเข้ารูมุ้งลวดจึงเป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินความสามารถ โดยที่มาของชื่อ "ด้วงก้นกระดก" (Rove beetle) นั้นมาจากพฤติกรรมที่มักยกปลายส่วนท้องสลับขึ้นๆ ลงๆ นั่นเอง
ทั้งนี้เราสามารถพบด้วงก้นกระดกได้ตั้งแต่ช่วงต้นฤดูฝนจนถึงช่วงฤดูหนาว แต่อย่างไรก็ตามปริมาณของด้วงก้นกระดกในพื้นที่ที่มีต้นไม้ทุ่งหญ้านั้นมีมากกว่าในพื้นที่ใจกลางเมือง ขอให้ผู้อ่านเบาใจและอย่าเพิ่งตื่นตระหนกไปนะครับ
แต่หากรู้สึกว่ามีแมลงมาเกาะ หนึ่งคือตั้งสติก่อน อย่าเพิ่งตบ อย่าเพิ่งตี สองคือดูดีๆ ก่อนนะ หากเป็นด้วงก้นกระดกเราสามารถใช้ปากเป่าเพื่อให้น้องปลิวไปก่อนแล้วค่อยตามไปจัดการก็ได้ครับ...แต่ถ้าเผลอตีแล้วอย่าเพิ่งเกาเด็ดขาด
เพราะหากสมมติว่าเราตีด้วงก้นกระดก สารพิษในลำตัวจะออกมาทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณผิวอ่อน เช่น ใบหน้า ลำคอ และข้อพับ หากบางรายผิวแพ้ง่ายอาจเกิดแผลยาวแบบงูสวัดก็มีครับ
ดังนั้น หากพบแมลงหน้าตาประมาณนี้เกาะผนังให้ใช้ “สก๊อตเทป” แปะแมลงแล้วดึงออก เพราะเป็นวิธีการเลี่ยงการสัมผัสและปลอดภัยที่สุด หรือวิธีการที่ง่ายและรวดเร็วกว่านั้นคือ การใช้สเปรย์ป้องกันกำจัดแมลงฉีดพ่นแต่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังผู้ที่อยู่อาศัยด้วยนะครับ
สุดท้ายนี้ยังมีแมลงที่มีอันตรายต่อมนุษย์อีกหลายชนิด และสิ่งที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกับมันได้อย่างปลอดภัยนั่นก็คือ "เราจะต้องเรียนรู้ที่จะทำความรู้จักกับมันก่อนก็เท่านั้นเองครับ"
ที่มาข้อมูล
อิทธิพล บรรณาการ
นักกีฏวิทยาชำนาญการ กลุ่มงานอนุกรมวิธานแมลง
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
อ้างอิงจาก: https://www.facebook.com/100054310789216/posts/pfbid0W9NxQVGAAdBr75yU3iMxBDCwQ7WicBZAJLpQrHtjbHBLsgybmaAuE48MR6NPVGDJl/