ความเป็นมาของ “ชามตราไก่” ของดีจากเมืองลำปาง
วันนี้ใครที่เข้ากูเกิลของไทย ก็คงจะได้เห็นภาพชามตราไก่เป็น Google Doodle ประจำวัน เนื่องจากเป็นการเฉลิมฉลองปีที่ 9 ที่สินค้าชามตราไก่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นสินค้าที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ของจังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2556 นั่นเอง
จุดเริ่มต้นของ “ชามตราไก่” เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2503 โดยชาวจีนจากเมืองไท้ปู จังหวัดแต้จิ๋ว คือ นายซิวกิม แซ่กว๊อก และนายซิมหยู แซ่ฉิน ทั้งคู่ได้เคยทำงานอยู่ในโรงงานถ้วยชามที่เมืองจีน อยู่ก่อนแล้ว ต่อมาเมื่อเกิดภัยสงคราม ทั้งคู่จึงได้อพยพไปอยู่ที่เวียดนาม ก่อนจะเข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 และเข้าทำงานในโรงงานผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่วงเวียนใหญ่ ก่อนจะย้ายไปทำงานที่จังหวัดเชียงใหม่
จนในวันหนึ่งในขณะที่ทั้งคู่กำลังมองหาแหล่งดินขาวคุณภาพดีเหมาะกับการทำถ้วยชามแบบที่เคยทำอยู่ที่เมืองจีน ได้มีคนนำหินลับมีดเนื้อสีขาวจากลำปางมาขาย ทั้งคู่เห็นแล้วเกิดความสนใจจึงได้เดินทางมายังจังหวัดลำปาง จนเมื่อพบแหล่งดินและได้ทดลองนำมาเผาจนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ทั้งคู่จึงเกิดความคิดที่จะตั้งโรงงานผลิตถ้วยชามของตัวเอง แต่เนื่องจากยังมีไม่มีเงินทุนมากพอ ทั้งคู่จึงต้องเข้าทำงานตามที่ต่าง ๆ อยู่หลายปีเพื่อสะสมเงินทอง จนถึงปี 2503 ทั้งสองจึงหาหุ้นส่วนมาร่วมลงทุนเปิดโรงงานผลิตถ้วยชามได้ ในชื่อ “โรงงานถ้วยชามสามัคคี” ซึ่งนับเป็นโรงงานผลิตถ้วยตราไก่แห่งแรกของจังหวัดลำปาง ต่อมาเมื่อหุ้นส่วนแยกย้ายกันไปเปิดโรงงานของตัวเอง คุณซิมหยูจึงได้เปิดโรงงานชื่อ “ธนบดีสกุล” เพื่อดำเนินธุรกิจการผลิตชามตราไก่ของตัวเอง
สำหรับ “ตราไก่” ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของผลิตภัณฑ์นั้นเล่ากันว่า ในตอนแรกนั้นชามยังเป็นสีขาวเรียบ ๆ แต่คุณตาซินหยูเห็นว่าควรมีลวดลายเพื่อความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ของโรงงาน จึงได้วาดรูปไก่และดอกไม้ประดับบนตัวจานเพื่อเพิ่มความสวยงาม โดยไก่นั้นกล่าวกันว่าหมายถึงประเทศจีน ซึ่งมีรูปร่างประเทศ (สมัยโบราณ) คล้ายไก่ จนทำให้กลายเป็นเอกลักษณ์ของสินค้าไป
ชามตราไก่ยุคแรกเริ่มจะเป็นชามปากบานรูปเกือบกลมก้นลึก เหมาะกับการรับประทานข้าวต้มด้วยการใช้ตะเกียบพุ้ย ต่อมาจึงได้มีการผลิตถ้วยชามรูปร่างอื่น เช่น จานใส่กับข้าว ถ้วยน้ำจิ้ม ถ้วยกาแฟ ฯลฯ และแม้ว่าในยุคใหม่ ความนิยมใช้ถ้วยชามตราไก่จะลดลงไปเนื่องจากมีสินค้าชนิดอื่น ๆ มาทดแทน แต่โรงงานหลายแห่งก็ได้ปรับตัวหันมาผลิตสินค้าอย่างอื่นเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากถ้วยชามแบบดั้งเดิม ซึ่งนอกจากจะการใช้งานแล้ว ยังสามารถจำหน่ายในรูปแบบของที่ระลึกหรือของฝากสำหรับนักท่องเที่ยวได้อีกด้วย
อ้างอิงจาก: รูป https://www.viriyah.co.th/th/content/article.php?page=90
เรื่อง https://www.thansettakij.com/general-news/540029
และ https://marketeeronline.co/archives/71419