ภาพถ่ายงานฉลองพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ภาพนี้มีเจ้าฟ้ารัฐฉานต่างๆมารวมตัวกัน!!
จากภาพถ่ายงานฉลองพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ซึ่งเป็นการชุมนุมกันของ "เจ้าประเทศราช" ในบริติชอินเดีย หรืองาน "เดลี ดูร์บาร์" (Delhi Durbar ) เมื่อปี 1903 (พ.ศ. 2446) ในภาพนี้มีเจ้าฟ้ารัฐฉานต่างๆ มารวมตัวกัน เฉพาะที่ประทับยืนด้านหลังคือ เจ้าฟ้าของกลุ่มรัฐกะเหรี่ยงแดง จากซ้ายไปขวาคือ เจ้าฟ้าเมืองบอละแค เจ้าฟ้าเมืองกันตรวดี และเจ้าฟ้าเมืองเจโบจี (ด้านหน้าคือเจ้าฟ้าไทยใหญ่ประทับนั่ง)
ที่แปลกตาคือ เจ้าฟ้าเมืองบอละแค ทรงสวมเสื้อของสตรีจีนสมัยราชวงศ์ชิง
มีหลายความเป็นไปได้ว่าทำไมเจ้าฟ้าเมืองบอละแคถึงใส่เสื้อสตรี ต่อไปนี้จะวิเคราะห์จากการ "มโน" ล้วนๆ เพราะยังหาหลักฐานไม่พบ
1. อาจเป็นเพราะแยกความต่างไม่ออก เพราะเมื่อเทียบกับเสื้อของชายชาวรัฐฉานและรัฐกะเหรี่ยงแดงจะดูคล้ายกับเสื้อสตรีจีนสมัยชิงอยู้บ้าง
2. เมื่อเทียบกับภาพทหารองครักษ์ของเจ้าฟ้าไทยใหญ่ มีการสวมเสื้อกั๊กแขนกุดแบบจีนทับเสื้อแขนยาวแบบไทยใหญ่ ซึ่งทำให้ดูคล้ายเสื้อสตรีจีนเช่นกัน และความคล้ายนี้อาจทำให้แยกไม่ออกและเข้าใจผิด
3. เจ้าฟ้าเมืองบอละแคคิดว่ามันสวยเลยซื้อมาใส่ ไม่ได้คิดอะไรมาก
เสื้อสตรีที่เห็นเป็นเสื้อสตรีชาวฮั่นสมัยชิง ซึ่งต่างจากเสื้อชาวแมนจูและเสื้อสตรีในราชสำนักพอสมควร ความต่างสำคัญคือ เสื้อนอกของสตรีในราชสำนักจะยาวเกือบคลุมข้อเท้า ส่วนเสื้อของสตรีชาวฮั่นจะยาวไม่ถึงเข่า และปลายแขนเสื้อจะกว้าง ซึ่งตรงกับในภาพนี้
เสื้อสตรีสมัยกวงซวี่ยังนิยมสีฟ้าทะเลสาบ (湖蓝) ดังในภาพนี้คงจะดูคล้ายสีแบบนั้นที่สุด
ในภาพเจ้าฟ้าเมืองบอละแคสวมกางเกง อาจเป็นกางเกงชายแบบกางเกงขาก๊วยอย่างที่คนแถบนั้นสวมใส่กันปกติ แต่พึงทราบว่า หญิงชาวฮั่นในสมัยรัชศกกวงซวี่แห่งราชวงศ์ชิง (ครองราชย์ 1875–1908) นิยมใส่กางเกงกันมาแล้ว และคลายความนิยมในการสวมกระโปรง ดังนั้นไม่ตัดความเป็นไปได้ว่าเป็นชุดสตรีทั้งชุด
อ้างอิงจาก: ภาพจากหนังสือ G. E. Mitton, Scott of the Shan Hills, 1936 ลงสีโดย "ห้องหนังสือจอหงวน