ตำนาน "ผีไร้หน้าแห่งไฮล์บร็อน" ฆาตกรต่อเนื่องกว่า 40 แห่งทั่วเยอรมนี, ฝรั่งเศส และออสเตรีย
ผลดีเอ็นเอของสตรีคนหนึ่งที่พบในจุดเกิดอาชญากรรมกว่า 40 แห่งทั่วเยอรมนี, ฝรั่งเศส และออสเตรีย จนทำให้เจ้าหน้าที่เรียกขานว่าอาชญากรรายนี้เป็น "ผีแห่งไฮล์บร็อน" แท้จริงแล้วเป็นการปนเปื้อนจากสตรีในโรงงานผลิตคัตตันบัดของตำรวจที่ใช้เก็บตัวอย่างจากจุดเกิดเหตุอาชญากรรม
นี่คือผีแห่งไฮล์บร็อน หรืออีกชื่อคือ สตรีไร้หน้า หมายถึงสตรีไม่ทราบชื่อที่สันนิษฐานกันว่าเป็นฆาตกรต่อเนื่องโดยอนุมานจากหลักฐานดีเอ็นเอที่พบในที่เกิดเหตุอาชญากรรมหลายแห่งในประเทศออสเตรีย ฝรั่งเศส และเยอรมนีตั้งแต่ปี 1993 ถึง 2009
เหตุฆาตกรรมหกครั้งในบรรดาอาชญากรรมดังกล่าวรวมถึงเหตุฆาตกรรมมีเช็ล คีเซอเว็ทเทอร์ เจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองไฮล์บร็อนของเยอรมนี เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2007
ความเชื่อมโยงเพียงอย่างเดียวระหว่างอาชญากรรมแต่ละครั้งคือดีเอ็นเอของสตรีคนเดียวกันที่พบในจุดเกิดอาชญากรรมกว่า 40 จุด ตั้งแต่ฆาตกรรมไปจนถึงโจรกรรม ในปลายเดือนมีนาคม 2009
เจ้าหน้าที่สืบสวนได้สรุปว่าไม่มี "อาชญากรผี" ดังที่เชื่อกัน ดีเอ็นเอที่พบในจุดเกิดอาชญากรรมทุกจุดนั้นปรากฏอยู่ที่ไม้พันสำลีที่ใช้เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอตั้งแต่แรกแล้ว และดีเอ็นเอดังกล่าวเป็นของสตรีคนหนึ่งที่ทำงานในโรงงานผลิตไม้พันสำลีที่ตำรวจใช้
การสืบสวน
ผลการวิเคราะห์ดีเอ็นเอในไมโทคอนเดรียจากตัวอย่างที่เก็บได้ในออสเตรียแสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะที่มักพบในชาวยุโรปตะวันออก ผลดีเอ็นเอจากการสืบสวนของเยอรมนีไม่สามารถบอกข้อมูลนี้ได้
เนื่องจากในเวลานั้นการวิเคราะห์ดีเอ็นเอสามารถบอกลักษณะเฉพาะได้เพียงบางอย่างเท่านั้น เช่น เพศ อย่างน้อยตั้งแต่ปี 2008 เจ้าหน้าที่บางส่วนเริ่มสงสัยว่าหลักฐานเหล่านี้อาจทำให้การสืบสวนไขว้เขว และการปรากฏของดีเอ็นเออาจมาจากการปนเปื้อนของตัวอย่าง ต่อมาจึงยืนยันว่าเป็นเช่นนั้นจริงในปี 2009
ไม้พันสำลีที่หน่วยงานตำรวจของรัฐหลายรัฐนำมาใช้ถูกพบว่ามีการปนเปื้อนก่อนการขนส่ง โดยปรากฏว่าไม้พันสำลีที่ปนเปื้อนทั้งหมดมาจากโรงงานเดียวกันซึ่งมีลูกจ้างเป็นสตรีชาวยุโรปตะวันออกหลายคนที่เข้าข่ายว่าจะมีดีเอ็นเอสอดคล้องกันกับดีเอ็นเอที่พบในจุดเกิดอาชญากรรม ในขณะที่ตำรวจรัฐไบเอิร์นใช้ไม้พันสำลีจากโรงงานอื่น
จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงไม่พบดีเอ็นเอของ "ผี" นี้ในรัฐไบเอิร์นเลย ทั้ง ๆ ที่รัฐนี้อยู่ใกล้กับจุดเกิดอาชญากรรมหลายจุดที่พบดีเอ็นเอดังกล่าว
อนุสรณ์ที่จุดเกิดเหตุฆาตกรรมคีเซอเว็ทเทอร์
ผลสืบเนื่อง
องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ไอโซ) เผยแพร่มาตรฐาน ISO 18385 ในปี 2016 เพื่อกำหนดมาตรฐานสำหรับอุปกรณ์ที่ใช้เก็บหลักฐานทางชีวภาพที่จุดเกิดอาชญากรรม ที่ปราศจากการปนเปื้อนของดีเอ็นเอมนุษย์