แส้ที่มาจาก..ขนหางจามรี!!
แส้ขนหางจามรี คนจีนเรียกว่า 拂尘 “ฝูเฉิน” แปลตามตัวอักษรเลย ก็คือ “ไม้ปัดฝุ่น” แส้นี้ แต่เดิมไม่ใช่ของจีน เป็นคติที่มากจากศาสนาในอินเดีย แต่เนื่องจากเป็นที่แพร่หลายและเก่าแก่มาก เลยไม่ทราบว่าใครคิดกันแน่ แต่ที่แน่ๆ ไม่ใช่พุทธศาสนา จุดประสงค์ของมันก็คือ เอาไว้ “ปัดฝุ่น” คือ พวกโยคีในอินเดีย เวลาไปไหน มาไหน ก็ต้องมีไม้นี่ไว้ปัดแมลงตลอดเวลา เพราะบางพวกแก้ผ้า, บางพวกไม่อาบน้ำ พอมีแมลงตอมก็จะรำคาญมาก ก็จะใช้ไม้นี่ปัดไล่แมลง เพราะถ้าเอามือปัด เกิดโดนแมลงตาย อ้าว... บาป ไม่ได้ๆ ต้องใช้ไม้ปัด ซึ่งธรรมชาติของแมลง พอมีอะไรไหวๆ ก็จะบินหนีไปเอง
แต่เนื่องจากโยคีไม่มีสมบัติติดตัว (บางพวกไม่มีเสื้อผ้าด้วยซ้ำ) ใครๆ ก็เลยเห็นพวกโยคีถือไม้นี่ติดตัวไปไหนมาไหน ก็เลยคิดว่า ไม้นี้เป็นสัญลักษณ์ของพวกโยคีไป ซึ่งถ้าใครเคยไปเที่ยวอินเดีย หรือ เคยดูสารคดี ก็จะพบว่า ในปัจจุบันยังสามารถเห็นโยคีถือไม้นี่อยู่ ซึ่งในความเป็นจริง ก็ไม่ได้มีเฉพาะพวกโยคีเท่านั้นที่ใช้ ชาวบ้านชาวช่องก็ใช้กันทั่ว (อินเดียอากาศร้อน แมลงเยอะต้องเข้าใจ) พวกคนมีสตางค์ มีอำนาจ ก็มีพวกเด็กรับใช้ติดตามข้างๆ คอยปัดแมลง, ไล่ยุง เวลานั่ง เวลานอน ฯลฯ จึงพัฒนาไปเป็นการที่เราเห็นพวกขันที ถือไม้นี่คอยรับใช้ฮ่องเต้ในหนังจีนนั่นเอง นอกจากใช้ไล่แมลง ยังใช้ปัดที่หลับที่นอน ข้าวของจิปาถะ
เมื่อพุทธศาสนามหายานถือกำเนิดขึ้น ก็รับเอาไม้ปัดฝุ่นนี่มาด้วย ในวินัย (ศีลของพระ) ของมหายานก็มีกล่าวถึงไม้นี่เหมือนกันว่า ใช้ในการปัดที่นั่งที่นอนของพระ เพื่อไม่ให้นั่ง หรือ นอนทับแมลง (สำหรับพระเถรวาทจะถือไม้ปัดฝุ่นนี่ไม่ได้ ถ้าถือจัดว่าต้องอาบัติ เพราะถือว่าเป็นเครื่องประดับชนิดหนึ่ง)
ต่อมา ภายหลัง นักพรตเต๋าก็รับต่อจากพระมหายานไปอีกต่อหนึ่ง จุดประสงค์ใช้งานก็เหมือนกัน คือ ปัดฝุ่นและไล่แมลง ซึ่งจะมีใช้มากก็แต่ในสมัยก่อนเท่านั้น สมัยนี้เจริญขึ้นมากของใช้ชนิดนี้จึงอันตรธานหายไปในที่สุด ทุกวันนี้ที่มีใช้ก็แต่ในกิ้มซิ้น (รูปเคารพ), ภาพวาด แล้วก็พวกม้าทรงเวลาเจ้าลง แล้วก็ในหนังจีนกำลังภายใน เวลาเราดูหนังจีน เห็นนักพรตชอบโบกแส้ผ่านหน้าตัวเอง จนถือเป็นเอกลักษณ์นั้น จริงๆ แล้วมาจากการปัดแมลงที่ตอมหน้าตัวเอง นั่นเอง พอทำบ่อยๆ กลายเป็นความเคยชินไป และเป็นสัญลักษณ์ไป
ในพุทธศาสนามหายาน นิกายที่เน้นไม้ปัดฝุ่น ก็คือ นิกายเซน (นิกายฌาน) และนิกายวินัย โดยผู้ที่ถือไม้นี่ ก็คือ พระวินัยธร โดยถือเป็นธรรมเนียมว่า เมื่อจะแสดงธรรมต้องถือไม้ปัดฝุ่นนี่
ต่อมาสายโพธิสัตว์มรรค (แนวทางเพื่อการเป็นพระโพธิสัตว์) เจริญขึ้นมาก ไม้นี่สำหรับพระมหายานจึงใช้น้อยลง เพราะพระโพธิสัตว์จะไม่บริโภคเนื้อสรรพชีวิต ไม่อุปโภค (ใช้) ของที่ได้จากการเบียดเบียนสรรพชีวิต นั่นหมายความว่า ไม้ที่จากขนสัตว์ คือ จามรีก็ต้องใช้น้อยลงไปโดยปริยาย (พระมหายานจะไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ เช่นเครื่องหนัง, รองเท้าหนัง, ประคำที่ทำจากงาช้าง หรือ กระดูกสัตว์, สบู่ที่ทำจากไขมันสัตว์ โดยจะใช้เกลืออาบน้ำแทน)
ในคัมภีร์เถรวาท กล่าวว่า จามรีรักขนที่หางมาก ถึงขนาดกล่าวว่า ถ้าวิ่งหนีเสือ ถ้าหางไปเกี่ยวกับกิ่งไม้ขณะหนี ก็จะไม่รีบจะค่อยๆ แก้ปมหางที่เกี่ยวอยู่ โดยไม่สนใจการมาของเสือร้าย หมายความว่า ถ้าจะเอาขนที่หางของจามรี ก็ต้องฆ่าจามรี
นอกจากมนุษย์จะได้ประโยชน์จากจามรี โดยการรีดนมมาดื่มแล้ว ยังมีการฆ่า เพื่อกินเนื้อด้วย เนื่องจากมีถิ่นที่อยู่ในที่ราบสูงทิเบต เพราะอากาศหนาว จึงมีวิวัฒนาการให้ขนยาวขึ้น เพื่อปกป้องความหนาว ในความเป็นจริงไม่จำเป็นต้องไปไกลถึงทิเบต บริเวณเสฉวนก็สามารถพบจามรีได้ ทั้งนี้ เพราะมีชาวทิเบตบางส่วนอพยพลงมา และได้นำพาจามรีลงมาด้วย ซึ่งนอกจากนำเนื้อจามรีมาประกอบอาหาร ยังมีการแปรรูปเป็นเนื้อกรอบและเนื้อแดดเดียวด้วย
โดยหลักๆ ขนที่จะนำมาทำแส้ มีขนของสัตว์ 2 ชนิด คือ ขนจากหางม้า และ จามรี เนื่องจากขนทั้ง 2 ชนิดนี้ขนาดยาวและคุณภาพดี (ปัจจุบันมีการใช้เส้นใยสังเคราะห์มาทำ – ไนล่อน) ซึ่งนอกจากจะใช้ทำแส้แล้ว ยังใช้เป็นสายของคันชักซออีกด้วย คันชักที่ทำจากชนดังกล่าว ค่อนข้างแพง ปัจจุบันมีการใช้ไนล่อนมาแทนที่ (ขนแท้หาซื้อได้ไม่ยาก แต่แพงซักหน่อย) นอกจากนี้ ยังมีการนำมาทำขนของพู่กัน ในปัจจุบัน พู่กันของเครื่องสำอางราคาแพงบางยี่ห้อก็ใช้ขนของจามรี
ในความเป็นจริง ขนจามรีมีหลายสี ดำ, น้ำตาล, ขาว ฯลฯ (แต่ไม่ขาวจั๊วะ โดยมากที่ขาวมากๆ จะใช้สีฟอก) คนจีนจะย้อมขนจามรีเป็นสีแดงแล้วผูกไว้ปลายทวน เรื่องนี้มีมาแต่โบราณ (ปรากฏในนิยายอิงพงศวดารจีน) เชื่อกันว่าผีกลัว และสามารถขับไล่สิ่งชั่วร้ายได้ การปัดด้วยแส้ขนจามรี ก็เชื่อกันว่าขับไล่สิ่งชั่วร้ายได้
แรกเริ่มเดิมที แส้ขนของจามรี มีไว้เพื่อใช้งาน ต่อมา ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงทางประเพณีและวัฒนธรรม จนพัฒนากลายเป็นเครื่องประดับ, ของใช้ในศาสนา, สัญลักษณ์แห่งมั่งมี, อำนาจ และราชศักดิ์ ฯลฯ เรามักเห็นรูปเคารพเทพจีนที่ถือแส้จามรี แม้แต่ในมหายานก็กล่าวว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ พระพรหมถือแส้ขนจามรี เสด็จตามคอยรับใช้พระพุทธเจ้า ในความเป็นจริงนั้น เทวภูมิ, พรหมภูมิ และโลกของเซียน ไม่มีแมลง หรือ ฝุ่นละออง จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้แส้ดังกล่าว การกระทำดังกล่าว จึงเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ ถึงความบริสุทธิ์และอำนาจ
ในประเทศไทย คนไทยเองก็ได้รับความเชื่อนี้มา โดยปรากฏอยู่ใน ๑ ในเครื่องราชูปโภคสูงสุดของพระมหากษัตริย์ไทย คือ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ซึ่งก็คือ จามรี (บ้างก็เรียกว่า “จามร” หมายถึง แส้ขนหางจามรี) เป็น ๑ ใน ๕ เครื่องราชูปโภค “วาลวีชนี” ทว่าต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนจากขนหางของจามรี เป็นขนหางช้างเผือกแทน