เปิดค่าเทอมเภสัชแต่ละมหาลัย ปี 6 แล้วเสียค่าเทอมกันเท่าไหร่
เภสัชศาสตร์ ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานเป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งว่าด้วยกระบวนการต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องยาบำบัด บรรเทา หรือป้องกันโรค โดยศึกษาตั้งแต่วัตถุดิบที่จะนำมาผลิตยา การปรุงยา การเก็บรักษา ตลอดจนกระบวนการกระจายยา โดยศึกษาตั้งแต่แหล่งของยา โครงสร้างทางเคมีของยา การผลิตเป็นรูปแบบยาเตรียมต่างๆ การควบคุมคุณภาพและการประกันคุณภาพยาและเภสัชภัณฑ์ การวิจัยและการพัฒนายาและเภสัชภัณฑ์ ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา เภสัชจลนศาสตร์ เภสัชพลศาสตร์ การใช้ยาทางคลินิกในโรคของระบบต่างๆ อาการไม่พึงประสงค์ของยา การติดตามผลของยา การประเมินการใช้ยา ไปจนถึงการบริหารจัดการเรื่องยาและกฎหมายเกี่ยวกับยา ทั้งนี้ยังครอบคลุมไปถึงเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สารเสพติด สารพิษ และวัตถุหรือสารออกฤทธิ์ประเภทต่างๆ
เภสัชศาสตร์ เป็นอีกหนึ่งคณะที่น้องๆ สายวิทย์ ให้ความสนใจกันเยอะมาก ไม่แพ้คณะแพทย์เลย
ซึ่งคำถามอันดับต้นๆ ที่น้องๆ สงสัยกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เรียนอะไรบ้าง? เรียนกี่ปี? มีเทคนิคการเตรียมตัวสอบอย่างไร? จบมาทำงานอะไรได้บ้าง? เงินเดือนดีไหม? รวมถึงคำถามอื่นๆอีกเยอะแยะเลย
งั้นเรามาเริ่มทำความรู้จักกับคณะเภสัชศาสตร์กันเลยดีกว่าครับ
View this post on Instagram
เปิดค่าเทอมเภสัชแต่ละมหาลัย ปี 6 แล้วเสียค่าเทอมกันเท่าไหร่
ม.ขอนแก่น 18000 ภาคพิเศษ35000 อินเตอร์ 50000
จุฬาฯ 21000
ม.อุบลฯ 29500
ม.มหิดล 17000
ม.หัวเฉียว 133000
ม.รังสิต 156000
ม.ศิลปกร เหมาจ่ายภาคปกติ 20000-25000 พิเศษ 72000
คณะเภสัชศาสตร์ เรียนเกี่ยวกับอะไร?
เภสัชจะเรียนเกี่ยวกับยาทั้งหมดเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างยา ยาแต่ละชนิดมีข้อห้ามใช้อย่างไร มีผลข้างเคียงอย่างไร ถ้ายาเข้ามาในร่างกายแล้วยาจะตอบสนองอย่างไร และมีผลอย่างไรต่อร่างกายครับ
มีกี่สาขา มีอะไรบ้าง แตกต่างกันอย่างไร?
สาขา บริบาลทางเภสัชกรรม จะเน้นเรียนด้านการให้คำแนะนำผู้ป่วย ยาแต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างไร รวมถึงการเลือกใช้ยาให้ถูกต้องและเหมาะสมกับผู้ป่วย
สาขา อุตสาหการ จะเน้นเรียนเรื่องการค้นคว้าวิจัยยา และการผลิตยาเป็นหลักมากกว่าครับ
เภสัชศาสตร์ เรียนกี่ปี เรียนอะไรบ้าง?
คณะนี้จะเรียนทั้งหมด 6 ปี โดยจะเรียนแตกต่างกันตามชั้นปีแบบนี้ครับ
ปี 1 : เรียนวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานเป็นหลัก เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ซึ่งเนื้อหาที่เรียนก็จะค่อนข้างเจาะลึกกว่าตอนมัธยมปลายเลยครับ
ปี 2 : เริ่มเข้าเนื้อหาเกี่ยวกับยา ใบสั่งยา ว่าแต่ละคำหมายถึงอะไร บอกรายละเอียดอะไรบ้าง และมีการเรียนเกี่ยวกับการคำนวณทางเภสัชศาสตร์มากขึ้น เช่น การคำนวณโดสของยาแต่ละชนิด
ปี 3 : อย่างเราเรียนสายบริบาล ก็จะเน้นเรียนเกี่ยวกับผู้ป่วยเป็นหลัก ว่าเราต้องคุยกับผู้ป่วยอย่างไร เราจะเลือกใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยอย่างไร แต่อีกสาขาหนึ่ง ก็จะเรียนเจาะจงเกี่ยวกับการตรวจสอบคุณภาพของยา เน้นไปที่การผลิตยามากกว่านั่นเอง
ปี 4 : เรียนเนื้อหาเกี่ยวกับยาที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น ในด้านรูปแบบของยาต่างๆ เช่น ยาฉีด ยาเม็ด เพื่อที่เราจะได้เลือกยาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย
ปี 5 : เริ่มเข้าสู่การฝึกงานตามร้านยา คลินิก และมีการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงที่ลึกมากขึ้นกว่าเดิม
ปี 6 : หลังจากที่เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับยาต่างๆมาตลอดตั้งแต่ปี 1-5 ในชั้นปีที่ 6 เภสัชจะมีการฝึกงานตลอดทั้งปี โดยจะเริ่มมีการฝึกตามโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อที่เราจะได้เข้าใจในวิชาชีพนี้มากยิ่งขึ้น ถือเป็นการได้เริ่มทดลองเป็นเภสัชกรอย่างเต็มตัว
**แต่เราขอเสริมเพิ่มเติมอีกนิดว่า คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เราเรียนอยู่ จะมีการเริ่มฝึกงานตั้งแต่ช่วงปี 4 เป็นต้นไปเลยนะครับ โดยปีที่ 4-5 จะมีการฝึกงานเฉพาะช่วงปิดเทอมเท่านั้น และในการเรียนปี 6 จะเน้นการฝึกงานตลอดทั้งปีการศึกษาเลยครับ
เรียนคณะเภสัช ต้องเก่ง ต้อนเน้นวิชาอะไรเป็นพิเศษไหม?
ส่วนตัวเราคิดว่า ต้องเน้นที่วิชาเคมีเยอะที่สุดเลยครับ เพราะเราจะต้องเรียนโครงสร้างของยา ปฏิกิริยาของยาต่างๆ
ซึ่งเนื้อหาที่เรียนก็ลึกว่าตอนม.ปลายมากๆเลย ส่วนวิชาชีวะ เราก็จะเรียนด้านของอวัยวะภายในร่างกาย เพราะเราจำเป็นจะต้องรู้ว่า ถ้ายาเข้าไปในส่วนนี้ของร่างกายจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และวิชาฟิสิกส์ ก็อาจจะมีใช้บ้างเล็กน้อยเท่านั้น
ส่วนวิชาภาษาอังกฤษ ถือว่าเจอค่อนข้างเยอะมากๆในการเรียน เพราะเนื้อหาและสไลด์ที่เรียนเป็นภาษาอังกฤษเกือบทั้งหมดเลยครับ
เรียนไม่เก่ง เรียนเภสัชได้ไหม?
บอกเลยว่าเรียนได้ครับ เพราะเราเองก็เรียนไม่เก่งเหมือนกัน >_< ที่จริงคณะนี้ยากสำหรับเรามากเลยครับ แต่เมื่อถึงเวลาที่เราได้เข้ามาเรียนจริงๆ มาเจอสภาพแวดล้อมจริง เราก็จะมีแรงผลักดันตัวเองมากขึ้นในการเอาตัวรอดให้ได้ ถึงจะยากแค่ไหนแต่ถ้าพยายาม เราก็ทำได้แน่นอนครับ
เภสัชศาสตร์ เรียนจบไปทำงานอะไรได้บ้าง ? โอกาสตกงานเยอะไหม?
ถ้าเป็นสาขา ‘บริบาลทางเภสัชกรรม’ ก็จะเน้นที่การทำงานในโรงพยาบาล ร้านขายยา สถานบริการสุขภาพเป็นหลัก แต่ถ้าเป็น ‘อุตสาหการ’ ก็จะเน้นที่การทำงานในโรงงาน การผลิต การควบคุมคุณภาพ บริษัทยา ดูแลดีเทลยา เป็นหลักครับ
ซึ่งเราจะไม่ได้มีหน้าที่แค่จัดยาเท่านั้นนะครับ อย่างเราที่ทำงานในโรงพยาบาล เราจะต้องคอยเช็คว่า ใบสั่งยาถูกต้องหรือไม่ ยาที่จัดมานั้นถูกต้องครบถ้วนไหม รวมถึงการสั่งซื้อยา การจัดเก็บยาให้เหมาะสม นี่ก็ถือเป็นหน้าที่ที่เราต้องเป็นคนดูแลทั้งหมดเลยครับ
ส่วนคำถามที่ว่า โอกาสตกงานเยอะไหม สำหรับเรา เราคิดว่าไม่ตกงานแน่นอนครับ เพราะเภสัชศาสตร์ไม่ใช่แค่การจัดยาเท่านั้น ยังคงมีอีกหลากหลายสายงานที่เภสัชก็สามารถทำได้เช่นกันนะครับ
ฝึกงานเภสัชกันอย่างไร?
การฝึกงานของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทางคณะจะมีการรวบรวมสถานที่ที่เปิดรับเด็กฝึกงานมาให้ว่า มีที่ไหนบ้าง แต่ละที่ต้องการจำนวนเท่าไหร่ หลังจากนั้นนิสิตก็จะมาเลือกกันเองในรุ่นต่อว่า ใครอยากไปที่ไหน ใครสะดวกที่ไหน แต่ถ้าสถานที่ไหนมีคนสนใจเกินจำนวนที่เขาตั้งไว้ ก็จะมีการสุ่มว่าใครจะได้ไปครับ
ตอนนี้เราก็ได้ฝึกงานอยู่ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข ช่วงแรกที่เราได้ไปฝึก ก็จะเริ่มจากการแปะฉลากยาว่าผู้ป่วยคนนี้ ได้ยาอะไรมา ครบถ้วนหรือไม่ ยาถูกต้องตามหน้าฉลากที่แปะไว้หรือเปล่า แต่ช่วงนี้ก็เริ่มได้ทดลองจ่ายยากับผู้ป่วยจริงๆบ้างแล้วครับ
ซึ่งศูนย์บริการสาธาณสุขก็จะเน้นลงพื้นที่ชุมชน อยู่กับผู้ป่วยเดิมมากกว่า แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลก็จะได้เจอผู้ป่วยที่หลากหลายเคสมากยิ่งขึ้น มีการขึ้นวอร์ดเพิ่มเข้ามาด้วย ซึ่งการขึ้นวอร์ดก็จะได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาลึกขึ้นกว่าเดิมอีกด้วยครับ
เริ่มต้น ค้นหาตัวเองเจอได้ยังไง?
เริ่มจากตอน ม.4 เราได้ไปลองเรียนพิเศษวิชาเคมีครับ แล้วเรารู้สึกว่าเรียนแล้วเข้าใจ อยากเรียนไปเรื่อยๆ ทำให้เรารู้เลยว่า เราเริ่มชอบวิชาเคมีขึ้นมาแล้วจริงๆ หลังจากนั้น เราก็เลยไปค้นหาข้อมูลว่า ถ้าเราชอบวิชาเคมีจะสามารถไปต่อสายอะไรได้บ้าง เราก็ได้ไปเจอกับคณะเภสัชศาสตร์ครับ แต่ตอนนั้นเรายังไม่ได้ปักธงคณะนี้ไปเลยนะครับ แค่เล็งๆไว้ก่อน
ระหว่างทางเราก็เริ่มสนใจคณะในสายสุขภาพควบคู่ไปด้วย จนมาถึงตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย เราก็ได้ลองยื่นครับแนนดูครับ ครับแนนเราถึงและเราติด เราก็เลยเลือกเรียนคณะเภสัชศาสตร์ไปเลยครับ เพราะเป็นคณะที่อยู่ในลิสต์เราตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
เทคนิคการเตรียมตัวเข้าคณะเภสัชศาสตร์ ?
ส่วนตัวคือ เราจะเน้นไปที่การเรียนพิเศษเป็นหลักครับ ตัวเราทยอยเรียนมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ม.4 เลย
ค่อยๆ เก็บเนื้อหาแต่ละบท แต่ไม่ได้อัดกันจนเกินไปนะครับ พอเรากลับมาบ้านเราก็จะทบทวนในสิ่งที่เราพึ่งเรียนมาแบบวันต่อวันเลยครับ และเราจะต้องทดลองทำแบบฝึกหัดที่เขาให้มาด้วย ถือเป็นการทบทวนความรู้ ความเข้าใจไปในตัวครับ
แต่ถ้าช่วงไหนที่เรารู้สึกเครียด เราก็จะพักเลยทันที และลองหาอะไรที่ตัวเองชอบทำดูครับ เช่น นอนเล่น ดูซีรีย์ ดูการ์ตูน เมื่อพักจนรู้สึกดีขึ้นแล้วก็ค่อยกลับมาอ่านใหม่อีกครั้ง ดีกว่าการที่เราฝืนทำต่อแล้วมันเครียดกว่าเดิม อ่านยังไงก็จะไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าหัวอยู่ดีนะครับ
การสอบเข้าคณะเภสัชศาสตร์ เป็นอย่างไร?
ตอนปีของเรา มีการเปิดรับสมัครตั้งแต่รอบ Portfolio , Quota และ Admission ตามปกติเลยครับ
เราสมัครเข้ารอบที่ 3 Admission ของ กสพท. ด้วยการใช้ครับแนน 9 วิชาสามัญ วิชาเฉพาะแพทย์ และโอเน็ต (O – NET) ครับ ซึ่งทุกรูปแบบการสอบเราจะต้องผ่านเกณฑ์ครับแนนที่เขากำหนดไว้ด้วยนะครับ
พี่เอิธขอเสริมนิดนึงนะครับ ว่าน้องๆ ตั้งแต่รุ่น #dek65 เป็นต้นไป กสพท. จะไม่มีการนำครับแนนโอเน็ตมาคิดเป็นเกณฑ์คัดเลือกในการสอบแล้วนะครับ เขาจะใช้เพียงแค่ครับแนน 9 วิชาสามัญ 70% และ วิชาเฉพาะแพทย์ 30% เท่านั้นครับ
มีอะไรอยากฝากถึงน้องๆที่กำลังสนใจคณะนี้บ้าง?
สำหรับน้องๆคนไหนที่กำลังสนใจคณะเภสัชศาสตร์อยู่นะครับ เราก็อยากฝากให้น้องๆ ตั้งใจอ่านหนังสือ เตรียมตัวสอบให้เต็มที่นะ อย่าลืมที่จะแบ่งเวลาในการย้อนทำข้อสอบเก่าทบทวนด้วย เพราะการทำข้อสอบเก่าจะช่วยให้เราได้ทวนและเข้าใจในเนื้อหาได้จริงๆ และเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้เราไม่ลนเวลาลงสนามจริงด้วย แต่อย่าไปเครียดมากนะครับ เราต้องแบ่งเวลาให้ตัวเองได้พักผ่อนบ้าง สุดท้ายนี้พี่ก็ขอให้น้องๆที่มีความฝัน ได้สอบติดตามที่หวังเอาไว้เลยนะครับ พี่เป็นกำลังใจให้ทุกคนเลยครับ สู้ๆ ^_^