เปิด "#เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน" เป็นแค่ประโยคปลอบใจ? ในมุมมองของเพจดัง
เพจ ตามติดชีวิตแม่บ้านแขก โพสต์เรื่องราวหลังมีแฮชแท็ก #เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน ขึ้นอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ โดยให้ความเห็นไว้ว่า
#เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน
แฮชแท็กนี้กลับมาในโลกออนไลน์อีกแล้วค่ะคุณ
ส่วนตัวคิดว่าวลีนี้เอาไว้เพื่อปลอบใจคนที่เข้าที่ที่ตัวเองต้องการไม่ได้มากกว่า
มันจะเหมือนกันได้ยังไง? เชื่อว่าที่ไหนในโลกก็ยังไม่เหมือนกันค่ะ
คุณภาพของผู้ที่เข้าไปเรียนลำดับแรก ทัศนคติ สังคม บทสนทนา ความทะเยอทะยาน ความใฝ่รู้ สิ่งที่แต่ละมหาลัยปลูกฝัง ความกล้า ความคิดแบบ critical thinking แนวคิด แนวทางของแต่ละมหาลัยก็แตกต่างกัน อาจารย์ที่สอนก็สำคัญ รวมถึงบทเรียน แนวทางการสอน การสอบด้วย
หลังจากนั้นคือการได้คอนเนคชั่นค่ะ คำว่าคอนเนคชั่นไม่ได้แบบคู่ค้า ธุรกิจธุรกรรมร่วมกันอย่างเดียวนะ แต่กลุ่มคนที่จะสังฆกรรมในชีวิตคุณ สนใจในสิ่งเดียวกัน คุยเรื่องเดียวกัน เข้าใจอะไรในมิติเดียวกัน
ทั้งหมดนี้คือคำตอบว่าเรียนที่ไหนไม่เหมือนกันค่ะ
ที่อังกฤษก็ไม่เหมือน ใช่ คุณได้มาตรฐานตามหลักของกระทรวงศึกษาธิการที่นั่น แต่คุณภาพโรงเรียน แนวทางโรงเรียน คุณภาพของแอเรียที่โรงเรียนนั้นตั้งอยู่ ลามไปถึงผู้ปกครองที่ส่งลูกมาเรียนสำคัญมากๆค่ะ
ไม่ว่าจะเอกชนหรือรัฐบาล จะเอาลูกเข้าเรียนก็ต้องคำนึงทุกสิ่งอย่างเหมือนกันค่ะ
ยกตัวอย่างเพื่อนอุ่น ลูกสาวคนโตใกล้เข้าไฮสคูลแล้ว และที่อังกฤษโรงเรียนรัฐบาล เค้าใช้ระบบบ้านใกล้เหมือนของเรา ทีนี้บ้านเพื่อนเป็นคาบเกี่ยวโรงเรียนหนึ่งที่อยู่ลงไปทางทิศใต้ ที่ชุมชนตรงนั้นไม่โอเค มีปัญหาเยอะมากทั้งยาเสพติด ลักขโมย คุณภาพผู้ปกครองไม่โอเคอย่างมาก เพื่อนก็สติแตกกลัวว่าสังคมของลูกจะไม่ดีไปด้วย ถึงแม้ว่าคุณครูหลายคนจะดี มีคุณภาพก็ตาม นางเลยยอมย้ายสำมะโนครัว เพื่อที่จะได้โรงเรียนที่ต้องการค่ะ
เช่นเดียวกันคนในรัฐบาลอังกฤษ จบกันมาแต่โรงเรียนเอกชนชั้นนำแบบท็อป 5 (Eton ผลิตนายกฯมาแล้ว 20 คน) แล้วต่อมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด/เคมบริดจ์/เอดินบะระทั้งนั้น คอนเนคชั่น สังคมของคนที่เราเรียนด้วย สำคัญมากๆค่ะ
และแน่นอนว่ามันยังเป็น norm อยู่ที่ชื่อมหาวิทยาลัยการันตีการรับเข้าทำงาน พูดง่ายๆว่ามหาวิทยาลัยที่อยู่ในตารางระดับอันดับต้นๆ เท้าคุณยื่นเข้าไปในงานดีๆแล้วเท้านึง เหลือแค่ทำเกรดให้ดีเท่านั้นเอง
แต่อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายที่ประเทศไทยไม่ได้ให้ความเท่าเทียม และการเปิดกว้างในสายอาชีพมากนัก เด็กแต่ละคนมีความถนัดต่างกัน วิชาการไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน ควรมีมหาวิทยาลัยหลากหลายสาขา มุ่งเน้นผลิตประชาชนที่มีคุณภาพในหลายอาชีพ แบบมหาวิทยาลัยอีสปอร์ต มหาวิทยาลัย/สถานศึกษาที่ผลิตช่าง ไม่ว่าจะช่างไม้ ช่างไฟฟ้า ช่างเหล็ก แบบที่เค้าได้ทำงานที่ชอบ และยังไม่ถูกตีตราแบบโอ้ย ไม่เรียนมหาลัยได้ไง ไม่มีใบปริญญาเท่ากับไม่มี หรือการที่เด็กคนนึงรักในสายอาชีพ แต่ไม่ได้มีตัวเลือกของสถานศึกษาสายอาชีพที่หลากหลายเลย
ทั้งหมดที่ร่ายมานี่คือเหตุผลให้พ่อแม่แทบจะทุกคน กัดฟันทำงานอย่างหนัก ส่งลูกเรียนโรงเรียนที่ดี บางคนยอมรับรถไกลขึ้น ยอมย้ายบ้าน เพื่อให้ลูกได้เรียนโรงเรียนที่ดี มรดกอย่างหนึ่งที่เราให้ลูกได้ค่ะคุณ คือการศึกษาที่ดีที่เหมาะกับเค้าค่ะ