เหตุผลและข้อห้าม...ความเชื่อเรื่องต้องธรณีสาร
🙎ช่วงนี้ไม่ค่อยมีเวลาหาบทความอะไรมาทำเพิ่มเติม แต่ก็ไปดูในblogเก่าๆที่ทำไว้ มีบทความหลายๆบทความน่าสนใจ เปิดมาเจอบทความนี้ ความเชื่อเรื่องต้องธรณีสาร ซึ่งทำเอาไว้เมื่อปี2016
เห็นว่ามันน่าสนใจเพราะเก็บรวบรวมมาจากหลายที่ ก็เลยมานำเสนอครับสนใจก็ลองอ่านดูนะครับ.....ซึ่งเหตุที่คนโบราณท่านห้ามประพฤติ ห้ามพบกับเหตุการณ์เหล่านั้นก็ด้วยว่าทุกข้อห้ามนั้นคนโบราณท่านแฝงเหตุผลไว้ครับ
เหตุผลข้อห้าม...ความเชื่อเรื่องต้องธรณีสาร
👉🏾ความเชื่อเรื่องต้องธรณีสาร ◕
ความเชื่อเรื่องธรณีสาร (สิ่งที่ถือว่าเป็นเสนียดจัญไร = ความหมายจากพจนานุกรม แปลไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร) ปรากฏในบทโองการธรณีสารใหญ่ซึ่งใช้โอมอ่านคาถาเวลาทำน้ำมนต์เพื่อใช้ประพรมแก้สิ่งที่ไม่ดีให้กลับเป็นสิ่งดี ซึ่งธรณีสารนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดี
👉🏾ห้ามประพฤติ ห้ามกระทำ หรือเป็นเหตุการณ์ไม่ดีควรหลีกเลี่ยง ซึ่ถ้าใครประพฤติไม่ดี หรือประสบเหตุการณ์ไม่ดี เราจะเรียกคนเหล่านั้นว่า "ต้องธรณีสาร"
ซึ่งเหตุที่คนโบราณท่านห้ามประพฤติ ห้ามพบกับเหตุการณ์เหล่านั้นก็ด้วยว่าทุกข้อห้ามนั้นคนโบราณท่านแฝงเหตุผลไว้ ซึ่งท่านจะไม่บอกเราตรง ๆ เพราะกลัวเราหาเหตุผลมาเถียงแล้วฝีนทำสิ่งเหล่านั้น ท่านจึงมักจะอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติที่พิสูจน์ไม่ได้ เพื่อให้ลูกหลานกลัวด้วยเป็นสิ่งเหนือเหตุผล นี่คือภูมิปัญญาของคนโบราณที่แฝงอยู่ในคติธรณีสาร ซึ่งสิ่งที่คนโบราณท่านห้ามเรื่องธรณีสารมีดังนี้
👉🏿☼ เสาเรือนยอดสลัก หักใต้กระได
เรือนไทยแต่โบราณใช้วิธีการบากไม้ทำเดือยและยึดด้วยสลักไม้เนื้อแข็ง ยอดของเสาเรือนก็มีเดือยไม้สวมรรับกับขื่อ เรียกว่า "หัวเทียน" บันไดบ้านก็ยึดด้วยสลักเช่นกัน ถ้าสลักยึดที่ตามจุดต่าง ๆ ของเรือนหักลง คนโบราณจะถือว่าเป็นสิ่งไม่ดี ซึ่งมองในแง่เหตุผลก็สมควรอยู่ เพราะเท่ากับเรือนทั้งหลังขาดความมั่นคงเสียแล้ว ถ้าลมพัดพายุมาดีร้ายอาจพังถล่มลงทั้งหลังได้
👉🏿☼ วัวไถนามากลางตลาด
ชื่อก็บอกแล้วว่า วัวไถนา ซึ่งมันต้องอยู่ในนาเท่านั้น การปล่อยให้วัวมาเดินตามตลาดจึงเป็นสิ่งที่ไม่น่ากระทำ เพราะวัวอาจเดินเรื่อยเปื่อยไปเหยียบข้าวของให้เสียหายหรือเฉี่ยวชนคนให้บาดเจ็บได้ คนโบราณท่านขู่เรื่องนี้ว่าเป็นการต้องธรณีสารเพื่อจะให้ลูกหลานดูแลวัวควายให้ดี อย่าปล่อยวัวปล่อยควายให้เดินเพ่นพ่านทำความเดือดร้อนแก่คนอื่นนั่นเอง
👉🏿☼ เสาเรือนไสกบ
เสาเรือนในสมัยโบราณทำจากไม้ทั้งต้น การจะเอากบไลให้เสาเรียบเป็นเหลี่ยมเรียบตรงทั้งเสา จึงเป็นเรื่องยากลำบากและเสียเวลามาก เสาเรือนที่ไสกบจึงมักจะทำกันแค่เสาศาลาวัดและเสาตำหนักเจ้านายเท่านั้น คนโบราณท่านจึงห้ามไสกบที่เสาเรือนเพราะเป็นการทำเทียมเจ้าและทำเทียมวัดนั่นเอง
👉🏿☼ เอาต้นต่อต้น เอาปลายต่อปลาย
การต่อไม้โดยเฉพาะเสาเรือนท่านจะใช้วิะีต่อไม้โดยใช้ปลายไม้ต้นแรกต่อกับโคนต้นไม้ต้นที่สอง เพราะลักษณของเสาที่เกลาจากต้นไม้นั้น โคนจะใหญ่กว่าส่วนปลาย ถ้าต่อเสาเรือนแล้วเอาปลายไม้ต่อปลายไม้ เสาต้นนั้นจะกลายเป็นเสาเรือนคอดตรงกลาง แต่ถ้าเสาเรือนเอาโคนไม้ต่อโคนไม้ เสาต้นนั้นก็จะกลายเป็นเสาเรือนป่องกลาง ซึ่งไม่ดีทั้งสองแบบ ถ้าจะถากจะเหลาก็เสียเวลามาก ท่านจึงใช้วิธีเอาโคนต่อปลายเพราะจะได้เสารูปร่างโคนใหญ่ปลายเล็กเหมือนเสาเรือนทั่วไป
👉🏿☼ บาตรแตกสาแหรกขาด
บาตรเป็นภาชนะใส่ของสำหรับพระสงฆ์ ส่วนสาแหรกเป็นภาชนะใส่ของของชาวบ้านเพื่อใช้หาบคอนไปที่ต่าง ๆ ได้ ถ้าสองสิ่งนี้ชำรุดเสียแล้วก็ไม่ควรใช้ เพราะอาจเกิดอันตรายได้ และสองสิ่งที่เป็นของที่ต้องขนย้าย บาตรพระต้องใช้เดินบิณฑบาต สาแหรกก็ต้องหาบเดินทาง ถ้าชำรุดระหว่างทางก็ยิ่งอับอายขายหน้าชาวบ้านยิ่งนัก ท่านจึงห้ามใช้ด้วยเหตุนี้
👉🏿☼ ตะลุ่มทาชาด กินช้อนหอยมุก
ตะลุ่มคือภาชนะไม้ที่ใช้ใส่ชามอาหาร ถ้าเป็นภาชนะใส่ชามอาหารแบบชาวบ้านจะทำง่าย ๆ ด้วยไม้ต่อเรียกว่า กระบะ แต่ถ้าเป็นตะลุ่มจะทำทรวดทรงให้งามกว่ากระบะด้วยการทำเป็นแปดเหลี่ยมบ้าง ย่อมุมไม้สิบสองบ้าง และมักประดับประดาทาสีแดงด้วยชาด บางอันก็จะประดับด้วยกระจกมุกให้งดงาม เพื่อใ้ช้ใส่อาหารถวายพระและทำเป็นสำรับของขุนนางเจ้านาย ช้อนที่ทำจากหอยมุกก็เช่นกัน ถ้าชาวบ้านจะใช้ช้อนทำจากกระเบื้องหรือกะลา ส่วนช้อนหอยมุกเป็นของเจ้านายเท่านั้น โบราณท่านจึงห้ามใช้ของเหล่านี้ เพราะเป็นการทำเทียมเจ้านายและพระสงฆ์นั่นเอง
👉🏿☼ ร่วมอาสน์ท้าวพระยา
นี่ก็เป็นความเชื่อเรื่องการทำตนเทียมเจ้านายขุนนาง คือที่นั่งของชนชั้นสูงอย่าได้ไปนั่งเข้าจะเป็นสิ่งที่ไ่ดี เป็นการต้องธรณีสาร เพราะคนไทยเราแต่โบราณเป็นสังคมที่มีการแบ่งชนชั้น ถึงแม้จะไม่ตายตัวเหมือนระบบวรรณะของชาวอินเดีย แต่ก็มีการให้เกียรติแก่ชนชั้นสูง คนแต่ก่อนท่านจึงไม่ยอมทำตนเทียมชนชั้นสูงเด็ดขาด
👉🏿☼ ถอดงาช้างเถื่อน
การฆ่าช้างป่าเพื่อเอางา เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความกล้าหาญและมีกำลังผู้คนมาก ๆ เพราะสมัยก่อนพรานป่ามีเพียงหอกแหลนหลาวธนูและหน้าไม้ ซึ่งอาวุธเหล่านี้ไม่สามารถทำให้ช้างตายโดยเร็วเหมือนปืน พอดีพอร้ายช้างที่กำลังบาดเจ็บอาจหันมาทำร้ายเราจนตายได้ โบราณท่านจึงห้าม
☼ เลื่อนผีตายโหง ไม้สักต่อโลง โยงเข้าป่าช้า
สามเรื่องนี้เป็นกิจกรรมต่อเนื่องก็ว่าได้ เป็นเรื่องของสัปเหร่อที่ต้องดำเนินการ คนแต่ก่อนท่านจึงห้ามคนทั่วไปเข้าไปยุ่ง เพราะผีตายโหงนั้นคือคนที่ตายด้วยอุบัติเหตุ สภาพของศพจึงน่ากลัวกว่าคนที่แก่ตายเจ็บตาย ท่านห้ามเพราะกลัวเราไปเห็นภาพน่าสยดสยองนั่นเอง
👉🏿☼ ชายกระเบนเช็ดหน้า
ชายกระเบนเป็นส่วนที่เหน็บกับก้น ซึ่งเราต้องนั่งทับอยู่ตลอดเวลา ผ้าชายกระเบนจึงมีโอกาสสัมผัสกับฝุ่นและความสกปรกมากว่าผ้าส่วนอื่น การเอาชายกระเบนมาเช็ดหน้าจึงเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ เพราะเท่ากับเราเอาผ้าสกปรกมาเช็ดหน้านั่นเอง
👉🏿☼ ก้างปลาจิ้มฟัน
ก้างปลานั้นถึงจะแหลมแต่มีความเปราะ ถ้าเราเอามาจิ้มฟันแคะเศษอาหารในปาก ดีไม่ดีก้างปลาอาจหักคาซอกฟันหรือตำให้เหงือกเป็นแผลได้ โบราณท่านจึงห้าม
👉🏿☼ กระไดสี่ขั้น
ที่โบราณท่านห้ามเพราะความลำบากของช่างไม้นั่นเอง การทำขั้นบันไดเป็นเลขคู่นั้นทำยากกว่าทำขั้นเป็นเลขคี่ เพราะถ้าจะทำบันไดสี่ขั้นเราต้องเอาความยาวของแนวบันไดมาหารด้วยห้า ซึ่งมักจะเหลือเศษความยาว ถ้าช่างวัดแบ่งไม่ดี ขั้นบันไดอาจไม่เท่ากันได้ แต่ถ้าเราทำบันไดหกขั้น เราก็เอาหกหารความยาวของแนวบันได เลขหกซึ่งเป็นเลขคู่จะทำให้หารลงตัวได้ง่าย ไม่เหลือเศษ การวดการแบ่งขั้นบันไดจึงง่าย โบราณท่านจึงห้ามเพราะเป็นห่วงช่างทำขั้นบันไดนั่นเอง
👉🏿☼ ปลูกเรือนร่วมวัด ไม้กวาดปัดหลังคา
วิถีชีวิตของชาวบ้านกับพระสงฆ์นั้นต่างกันมาก การปลูกบ้านใกล้ชิดวัดขนาดที่เราอยู่บนเรือนสามารถเอาไม้กวาดบ้านเราเอื้อมไปกวาดหลังคาวัดได้นั้นจึงเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง เอาเรื่องง่าย ๆ อย่างเช่นการรับประทานอาหาร พระท่านฉันสองมื้อเว้นมื้อเย็น แต่ชาวบ้านเรา ๆ รับประทานอาหารสามมื้อ
พอตกเย็นเราหุงข้าวผัดพริกหอมฉุย คิดหรือว่ากลิ่นจะไม่ลอยลมเข้าวัด พระท่านได้กลิ่นก็คงหิวเหมือนกัน แต่ท่านก็ต้องทนเพราะท่านเป็นพระ นี่แค่เรื่องนี้ก็บาปแล้วที่ไปยั่วกิเลสพระ นี่แค่เรื่องเดียวไหนจะเรื่องการอยู่ การมีคู่ครอง การทำมาหากิน ประกอบอาชีพ เราก็สามารถสร้างความเดือดร้อนให้พระได้ คนโบราณท่านจึงให้ปลูกเรือนห่างวัดก็ด้วยเหตุนี้นี่เอง
👉🏿☼ เสาเรือนฟ้าผ่า
เสาเรือนที่เคยโดนฟ้าผ่า อาจมีร่องรอยชำรุด ซึ่งไม่มั่นคงแข็งแรกพอที่จะนำมาใช้ปลูกเรือนครั้งใหม่ ท่านจึงถือว่าเป็นของต้องธรณีสารไม่ควรนำกลับมาใช้
👉🏿☼ หลังคาไฟไหม้
สิ่งนี้ก็เช่นเดียวกับเสาเรือนฟ้าผ่าเช่นกัน ถึงจะดับไฟได้ยังเหลือไม้โครงหลังคาบางส่วน เราก็ไม่ควรนำมาใช้ใหม่เช่นกัน เพราะอาจมีบางส่วนชำรุดที่เรามองไม่เห็น เมื่อเอาไปใช้จึงรู้ว่าชำรุด โบราณท่านจึงห้าม
👉🏿☼ ใช้แม่กระได ใช้กระดานบานประตู
คนโบราณท่านมักอ้างว่าที่บานประตูมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองเรือนอยู่จะเอามาทำแม่กระไดให้คนเหยียบย่ำเป็นสิ่งไม่สมควร แต่ความจริงในหลักเหตุผลานั้น แม่กระไดต้องใช้ไม้ที่มีความหนาและมั่นคงแข็งแรง แต่บานประตูเป็นไม้ที่มีความบาง ถ้าจะเอามาทำแม่กระไดจึงไม่มัน่คงแข็งแรง ใช้ไปไม่นานก็จะพังได้
👉🏿☼ เลี้ยงนกประสมคู่ หนูน้อยมีไข่
นกที่ขังกรงไว้เพื่อให้มีลูกมีหลาน ถ้าเป็นลูกนกอายุไม่เท่าไรก็สามารถออกไข่ได้แล้ว โบราณท่านไม่ให้เลี้ยง เพราะนั่นคือนกที่จะกลายพันธุ์แล้ว ลูกหลานที่ออกมาก็จะไม่แข็งแรงและอายุสั้นลงตามไปเรื่อย ๆ ท่านจึงถือเป็นของต้องธรณีสาร
👉🏿☼ เสาเรือนไฟไหม้ ปักไม้เสาเจาะ
ข้อห้ามนี้ก็เช่นเดียวกับที่ห้ามเรื่องเสาเรือนฟ้าผ่า เพราะเสาเรือนที่เคยโดนไฟไหม้มันคือเสาที่ไม่แข็งแรงนั่นเอง จะเจาะจะปักอย่างไรก็หาความแข็งแรงไม่ได้
😬เป็นอย่างไรบ้างครับเมื่ออ่านจบมาถึงตอนสุดท้ายความเชื่อต่างๆเขามีเหตุผลนะครับคนโบราณมีเหตุและผลในการนำเสนอคำสอนหรือข้อห้ามต่างๆที่แยบยลและน่าสนใจ บางคนคงไม่เชื่อ แต่บางคนก็เชื่อแล้วแต่นะครับสิทธิในการแสดงความคิดและความเห็นของแต่ละคน....แต่ถ้าเราไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่เป็นดีที่สุดครับ
อ้างอิงจาก: wikipedia และ YouTube