ค้างคาวชื่อ ‘คุณกิตติ’ ชื่อเหมือนใครบางคน...เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเล็กและเบาที่สุดในโลก (ใกล้สูญพันธุ์)
ค้างคาวชื่อ ‘คุณกิตติ’ ชื่อเหมือนใครบางคน... เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเล็กและเบาที่สุดในโลก (ใกล้สูญพันธุ์)
เมื่อคืนนี้ฝนตกอย่างหนักรู้สึกว่าอารมณ์มันไม่ค่อยจะดีเลยเพราะตื่นมามีแต่ข่าวน้ำท่วมไปหมด ว่างก็เลยให้มาหาบทความที่จะเอามาทำเปิดไปเปิดมาก็มาเจอค้างคาวที่ชื่อแปลกๆชื่อคล้ายๆคน"ค้างคาวคุณกิตติ"
แปลกไหมล่ะครับทำไมชื่อค้างคาวคุณกิตติหรือว่าคนชื่อ คุณกิตติ ไปเจอค้างคาว ตัวนี้ เป็นคนแรกก็ไม่รู้นะครับเรามาลองอ่านรายละเอียดกันดูดีกว่า
ค้างคาวคุณกิตติ, ค้างคาวกิตติ หรือ ค้างคาวหน้าหมู (อังกฤษ: Kitti's hog-nosed bat, Bumblebee bat) เป็นค้างคาวที่จัดอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และเป็นค้างคาวเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในวงศ์ Craseonycteridae และสกุล Craseonycteris พบได้ทางตะวันตกของประเทศไทย และทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศพม่า อาศัยอยู่ตามถ้ำหินปูนริมแม่น้ำ
ข้อมูลเบื้องต้น ค้างคาวคุณกิตติ ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ปัจจุบัน, สถานะการอนุรักษ์ ...
👉🏿ค้างคาวคุณกิตติ, ค้างคาวกิตติ หรือ ค้างคาวหน้าหมู (Kitti’s hog-nosed bat) ลำตัวยาวประมาณ 29-33 มม. หนักประมาณ 2 กรัม มันมีขนาดเล็กและเบาจนบางทีก็ถูกเรียกว่า “bumblebee bat (ค้างคาวผึ้ง)”
ค้างคาวคุณกิตติเป็นค้างคาวและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก มีสีน้ำตาลปนแดงเรื่อๆ หรือสีเทา มีจมูกคล้ายจมูกหมู มีอุปนิสัยชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เฉลี่ยแล้วกลุ่มละ 100 ตัวต่อถ้ำ ออกหากินเป็นช่วงสั้นๆในตอนเย็นและเช้ามืด หากินไม่ไกลจากถ้ำที่พักอาศัย กินแมลงเป็นอาหาร ตกลูกปีละหนึ่งตัว
สภาวะของค้างคาวคุณกิตติในประเทศพม่าไม่เป็นที่แน่ชัด และประชากรที่พบในประเทศไทยก็พบว่าจำกัดอยู่ในเพียงจังหวัดเดียว ทำให้ค้างคาวคุณกิตติอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ สาเหตุหลักเกิดจากการคุกคามจากมนุษย์ และการลดลงของถิ่นที่อยู่อาศัย
กายวิภาค
ค้างคาวคุณกิตติลำตัวยาวประมาณ 29-33 มม. หนักประมาณ 2 กรัม จึงเป็นที่มาของชื่อ "bumblebee bat (ค้างคาวผึ้ง)" ค้างคาวคุณกิตติเป็นค้างคาวที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลกและเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เล็กที่สุดในโลกด้วยเช่นกัน โดยมีคู่แข่งคือหนูผี โดยเฉพาะในหนูผีจิ๋ว (Suncus etruscus) ซึ่งมีน้ำหนัก 1.2-2.7 กรัม แต่มีความยาว 36-53 มม.จากหัวถึงหาง
ค้างคาวคุณกิตติมีจมูกใหญ่เป็นพิเศษ คล้ายจมูกหมู มีรูจมูกตั้งตรง แคบ มีหูใหญ่เมื่อเทียบกับส่วนหัว ขณะที่ตามีขนาดเล็ก โดยมากถูกปกคลุมด้วยขนอ่อน มีฟันเหมือนกับค้างคาวกินแมลงทั่วไป มีสูตรขากรรไกรบนเป็น 1:1:1:3 และขากรรไกรล่างเป็น 2:1:2:3 มีฟันตัดขนาดใหญ่ด้านบน
ค้างคาวมีสีน้ำตาลแดงหรือสีเทาในส่วนหลัง ด้านท้องสีจะอ่อนกว่า ปีกมีขนาดใหญ่ มีสีเข้มกว่า ปลายยาวเพื่อช่วยค้างคาวในการบินร่อน ปีกกว้างประมาณ 160 มม. ค้างคาวคุณกิตติไม่มีหางถึงแม้จะมีกระดูกสันหางถึง 2 ชิ้น มีแผ่นหนังขนาดใหญ่เชื่อมระหว่างขาหลัง (uropatagium) ซึ่งอาจมีไว้ช่วยในการบินจับแมลง ถึงแม้ว่าจะไม่มีกระดูกหางหรือเดือยที่ช่วยควบคุมการบิน
การกระจายพันธุ์
ค้างคาวคุณกิตติพบในถ้ำหินปูนริมแม่น้ำในป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณ ในประเทศไทยพบค้างคาวคุณกิตติจำกัดอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดกาญจนบุรี ในแถบลุ่มน้ำของแม่น้ำแควน้อย ในอุทยานแห่งชาติไทรโยคพบการกระจายตัวของค้างคาวมากที่สุด จากการสำรวจถ้ำในเขตจังหวัดกาญจนบุรี พบค้างคาวกิตติจำนวน 35 ถ้ำ ซึ่งส่วนใหญ่กระจายอยู่ในเขตอำเภอไทรโยคมากถึง 23 ถ้ำ ที่เหลือพบในเขตอำเภอทองผาภูมิ ท่าม่วง และอำเภอเมือง ขณะที่ประชากรค้างค้าวนอกเหนือจากในอุทยานแล้วอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการถูกคุกคาม
ในปี พ.ศ. 2544 มีการพบค้างคาวคุณกิตติในประเทศพม่า ใน 9 แห่งด้วยกัน ในแถบเทือกเขาหินปูนบริเวณแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำอัตทะรัน (Ataran), และแม่น้ำคเยง (Gyaing) ของรัฐกะเหรี่ยงและรัฐมอญ ค้างคาวที่พบในประเทศไทยและประเทศพม่ามีรูปร่างลักษณะภายนอกเหมือนกันแต่พบความแตกต่างกันในเรื่องของการใช้คลื่นเสียงในการนำทางหรือกำหนดทิศทาง ซึ่งเรายังไม่รู้สาเหตุว่าทำไมประชากรของทั้งสองประเทศจึงมีการวิวัฒนาการแยกจากกันไป
พฤติกรรม
ค้างคาวคุณกิตติอาศัยในถ้ำตามผาหินปูนไกลจากปากถ้ำ มีประมาณ 10-15 ตัวในแต่ละถ้ำย่อย เฉลี่ยกลุ่มหนึ่งมีประมาณ 100 ตัว สูงสุด 500 ตัว เกาะนอนตามผนังสูงหรือเพดานถ้ำ แยกจากตัวอื่นๆ พบว่ามีการอพยพย้ายถ้ำระหว่างฤดูกาลด้วยเช่นกัน
ค้างคาวคุณกิตติมีช่วงหากินสั้นๆประมาณ 30 นาทีในตอนค่ำและ 20 นาทีในรุ่งเช้า ทำให้ง่ายต่อการโดนรบกวนจากฝนหรืออากาศเย็น ค้างคาวจะออกหาอาหารในบริเวณไร่มันสำปะหลังและนุ่น หรือบริเวณเรือนยอดกอไผ่และต้นสักในระยะไม่เกิน 1 กิโลเมตรจากถ้ำที่อาศัย ในกระเพาะของตัวอย่างค้างคาวตัวอย่างที่จับได้ประกอบไปด้วยแมงมุมและแมลงผสมกับสิ่งที่คาดว่าเป็นใบไม้ คาดว่าเป็นเหยื่อที่จับได้ระหว่างทำการบิน อาหารหลักของค้างคาวนั้นประกอบไปด้วยแมลงวัน (วงศ์ Chloropidae วงศ์ Agromyzidae และ วงศ์ Anthomyiidae), แตนและแมลงในอันดับโซคอพเทอรา (psocoptera)
ในฤดูแล้งของทุกปี (ประมาณเดือนเมษายน) ค้างคาวจะตกลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกจะอาศัยเกาะอกแม่จนกระทั่งสามารถหากินได้ด้วยตัวเอง ในช่วงหากินแม่ค้างคาวจะทิ้งลูกเกาะไว้ในถ้ำ
อนุกรมวิธานและประวัติการค้นพบ
ค้างคาวคุณกิตติเป็นค้างคาวเพียงชนิดเดียวในวงศ์ Craseonycteridae ซึ่งอยู่ในวงศ์ใหญ่ Rhinolophoidea จากผลทดสอบทางโมเลกุล บนพื้นฐานนี้ ค้างคาวคุณกิตติจึงเป็นญาติใกล้ชิดกับค้างคาววงศ์ Hipposideridae และ Rhinopomatidae
👉🏿ค้าวคาวกิตติค้นพบครั้งแรกปี พ.ศ. 2516 โดยกิตติ ทองลงยา นักสัตววิทยาของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย บริเวณถ้ำไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างทำการเก็บตัวอย่างค้างคาวในโครงการการสำรวจสัตว์ย้ายแหล่งทางพยาธิวิทยา กิตติพบค้างคาวที่มีขนาดเล็กมากซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อน จึงได้ส่งตัวอย่างค้างคาวให้กับจอห์น เอ็ดวาร์ด ฮิลล์ (John Edward Hill) แห่งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ ประเทศอังกฤษ เพื่อตรวจพิสูจน์และพบว่าค้างคาวชนิดนี้มีลักษณะหลายอย่างเป็นแบบฉบับของตนเอง สามารถที่จะตั้งเป็นสกุลและวงศ์ใหม่ได้ หลังจากกิตติเสียชีวิตในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 ฮิลล์ได้จำแนกและตีพิมพ์ถึงค้างคาวชนิดนี้ และตั้งชื่อว่า Craseonycteris thonglongyai เพื่อเป็นเกียรติแก่กิตติ ทองลงยา ผู้ค้นพบค้างคาวชนิดนี้เป็นคนแรก
สถานะการอนุรักษ์
จากการพิจารณาในปี พ.ศ. 2551 ค้างคาวคุณกิตติจัดอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์โดยสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) จากการลดลงของประชากร ในประเทศไทย ค้างคาวคุณกิตติจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ปัจจุบัน จากฐานข้อมูลชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามในประเทศไทยค้างคาวคุณกิตติอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CR)
หลังจากมีการค้นพบในช่วงปี พ.ศ. 2513 ถิ่นอาศัยของค้างคาวโดนรบกวนจากนักท่องเที่ยวและนักสะสมรวมถึงผู้ที่นำค้างคาวไปขายเป็นของที่ระลึก อย่างไรก็ตาม การคุกคามเหล่านี้ยังไม่มีผลกระทบมากนักเพราะค้างคาวส่วนมากอยู่ในพื้นที่เข้าถึงยาก มีเพียงแค่สองสามถ้ำเท่านั้นที่โดนรบกวน การคุกคามนั้นยังรวมถึงการยึดถ้ำเป็นที่ปฏิบัติธรรมของพระอีกด้วย
ปัจจุบันผลกระทบที่ส่งผลมากและระยะยาวที่สุดต่อประชากรค้างคาวในประเทศไทยคือการเผาป่าในทุกๆปี โดยเฉพาะในช่วงผสมพันธุ์ของค้างคาว ส่วนท่อลำเลียงจากประเทศพม่ามาประเทศไทยนั้นไม่ส่งผลคุกคามต่อค้างคาว แต่อย่างไรก็ตามการคุกคามต่อประชากรค้างคาวในประเทศพม่านั้นก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดนัก
ในปี พ.ศ. 2550 ค้างคาวคุณกิตติเป็นหนึ่งในสิบโครงการของสปีชีส์ที่ถูกคุกคามอย่างรุนแรง โดยโครงการสัตว์ที่มีวิวัฒนาการโดดเด่นและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ทั่วโลก (EDGE)
การเผยแพร่ในสื่ออื่น
สัญลักษณ์ทีมฟุตบอลเมืองกาญจน์
ตราของอุทยานแห่งชาติไทรโยคมีรูปค้างคาวคุณกิตติเป็นสัญลักษณ์
สโมสรฟุตบอล เมืองกาญจน์ เอฟซี สโมสรประจำจังหวัดกาญจนบุรี มีโลโก้ประจำสโมสรที่เป็นรูปค้างคาวคุณกิตติ
ก็อย่างว่าล่ะครับก่อนจะบทความผมก็มีคลิปมาให้ชมว่าตัวค้างคาวที่ชื่อว่าคุณกิตตินี้เป็นอย่างไร ถ้าคุณจะลองไป search หาดูใน YouTube อีกก็ได้นะครับ
อ้างอิงจาก: วิกิพีเดีย และ YouTube