เมื่อ like, share, follow มันกินได้
โซเชียลเน็ตเวิร์กทั้งหลายถ้าติดตลาดแล้วก็เป็นเสือนอนกิน นอกจากเอาข้อมูลของเราไปขาย เอาปฏิสัมพันธ์ของเราไปสร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจ แถมไม่ต้องสร้างสรรค์ Content (เนื้อหา) เรียกคนแต่อย่างใด แค่เจียดส่วนหนึ่งของรายได้แบ่งให้ก็มีคนมากมายพร้อมจะทำแทนแล้ว ซึ่งมันก็ถือเป็นความสำเร็จของธุรกิจแพลตฟอร์ม (Platform) ทั่วไปอาศัยความไม่รู้ของคน
แม้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มต่าง ๆ มีอยู่พอสมควร ที่เด่น ๆ ก็เช่นเพิ่มโอกาส เพิ่มช่องทาง และอำนวยความสะดวก แต่หลายครั้งก็เต็มไปด้วยการโกง การเอาเปรียบ การอาศัยความไม่รู้ของผู้คนสร้างผลประโยชน์ ที่เห็นกันง่ายและชัดเจนคือ แพลตฟอร์มขายสินค้า เช่น ลงรูปไม่ตรงปก สินค้าไม่มีคุณภาพ ของปลอม กระทั่งหลอกลวงกันดื้อ ๆ เรื่องเหล่านี้มุมหนึ่งก็ไม่ใช่สิ่งที่ป้องกันยาก แต่ส่วนหนึ่งก็มีคนที่ไม่รู้จริง ๆ อยู่มากเช่นกัน
ผลประโยชน์บนโซเชียลเน็ตเวิร์ก ก็มีทั้งมุมที่รู้แต่เต็มใจ และมุมที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยคาดคิด เบื้องต้นที่ส่วนใหญ่รู้ก็คือ การที่เราเคยลงข้อมูลส่วนตัวใด ๆ ไว้ ย่อมกลายเป็นฐานข้อมูลทางการตลาด เช่น เพศ อายุ สถานะ อาชีพ เป็นต้น รวมกันแล้วเหล่านี้มีมูลค่าประมาณหนึ่ง หรือ การที่เราเข้าไปอยู่ในกลุ่มใด กดติดตาม (liked, follow) ใคร ก็จะเป็นอีกข้อมูลหนึ่งที่นำไปวิเคราะห์ความสนใจของเราได้ เช่น กีฬา ดนตรี ศิลปะ และอีกหลายกิจกรรมที่เราทำ จะถูกวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปขาย หรือนำเสนอต่อลูกค้าของแพลตฟอร์ม
ดังที่กล่าวในตอนแรกเมื่อแพลตฟอร์มมีรายได้ และเจียดมาแบ่งให้คนที่สร้าง Content ทำให้ ยอด like ยอด share ที่สมัยก่อนใครบางคนอาจบอกว่าจะอยากได้ไปทำไม มันกินไม่ได้ ทว่าทุกวันนี้มันกินได้ เป็นรายได้ที่มากเสียด้วย ให้กับคนที่สร้างเนื้อหาหรือ Content ที่มีผู้ติดตาม (Follower) เยอะ ๆ
เมื่อเนื้อหาเปลี่ยนมาเป็นเงิน Content is king!
แต่การที่ใคร ๆ ก็สร้าง Content ได้นี่เอง ประกอบกับยุคแห่งการขับเคลื่อนด้วยกระแส ไม่ว่าจะทางดี ทางลบ เหมือนคำใน กลยุทธ์การตลาดที่เขาบอกว่าอะไรก็ได้แค่ “แปลก, ใหม่, ใหญ่, ดัง” ก็พอ จึงจะเรียกความสนใจได้ ต่างจากการสร้างคุณภาพ ที่กว่าจะพิสูจน์ปากต่อปากมันยากและนาน
Content ก็คล้ายกัน เพจ/บัญชี (Page/Account) ที่สร้างเนื้อหาคุณภาพกว่าจะสร้างชื่อก็ต้องทำอยู่นานจะกว่าจะยอมรับกัน แถมบางเรื่องก็จำเพาะวงการไม่ตอบโจทย์ในวงกว้างจึงยิ่งยากเข้าไปใหญ่ ส่วนใหญ่กลุ่มนี้ที่อยู่ได้มักเริ่มจากทำด้วยใจ และมีเป้าหมายที่ดีจึงทำได้เรื่อย ๆ หากใครทำแล้วหวังจะมีรายได้ไปด้วยแต่ต้น มักล้มเลิกไปในเวลาไม่นาน เพราะมันจะช้านานเกินไป ผิดกับกลุ่มที่หวังรายได้เพียงอย่างเดียวและอาศัยความไม่รู้ หรือรู้แต่ไม่สนใจของคนทั่วไป ก็จะมุ่งสร้าง Content อะไรก็ได้ ให้คนสนใจพอ…
ตามน้ำ – ตามกระแส
เริ่มจากพฤติกรรมผู้คนโลกโซเชียลส่วนใหญ่ที่มักขับเคลื่อนด้วยกระแส ดังนั้นวิธีการที่ง่ายที่สุดของการสร้างเนื้อหาก็คือการเกาะกระแส หรือสมัยนี้เรียกว่า โหนกระแส เขาพูดถึงเรื่องอะไรกันฉันพูดถึงบ้าง เขาวิจารณ์อะไรกันฉันวิจารณ์บ้าง ที่เดิมที่ลักษณะแบบนี้อดีตมักเป็นเรื่อง/เป็นวิธีของคนทำข่าว ที่มันแย่คือ ขนาดสื่อและนักข่าวที่ควรมีคำว่า จรรยาบรรณ ยังถูกวิพากษ์บ่อย ๆ แต่กับโลกออนไลน์ที่ใครก็เหมือนเป็นนักข่าวได้ มันจึงมีอะไรที่ยิ่งกว่าไร้จรรยาบรรณให้เห็นอยู่เสมอ
อีกทั้งน่าจะได้เห็นว่าทุกวันนี้ยิ่งกว่าตามกระแสคือสร้างกระแส ในวันที่บุคคลสาธารณะ (Public figure) ถูกสร้างขึ้นได้หลายรูปแบบ นักเลง, นักป่วน, ดาวโป๊, พระมีคาแรคเตอร์ กระทั่งคนที่เป็นข่าวเสื่อมเสีย แต่กลับกลายมีฐานผู้ติดตาม แฟนคลับ ได้ ดังนั้นความนิยมบนโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก จึงดูจะไม่แยแสกับอะไรนัก คุณธรรม จริยธรรมเป็นเรื่องที่ไม่ต้องพูดถึง เพราะแค่ตรรกะความเป็นจริง ข้อเท็จจริงก็มองข้ามกันได้ง่าย ดังนั้น เมื่อมีกระแสใด การบิดเบือนให้น่าสนใจ, การวิจารณ์แรง ๆ, การจิกเกาะต่อเนื่อง จึงเป็นการสร้าง Content ที่มีมูลค่า เพราะเหล่านี้นำมาได้ซึ่งเงินส่วนแบ่งรายได้ ให้คนสร้างเนื้อหาโดยไม่ผิดกฎหมาย…
ปัญหาคือ บางทีเราก็ดันไปให้ค่าและสนับสนุน เนื้อหา (Content) แบบนั้นเพียงเพราะมันอยู่ในกระแสที่เราสนใจ และไม่ได้คิดตรองเลยว่า ที่เขาเขียนแบบนี้ ที่เขาพยายามสร้างเรื่องนั้น มันแค่เพื่อให้ได้เงิน อาศัยแรงสนับสนุนจากเราหรือคนที่ไม่ทันคิด หรือแค่กลัวคุยกับเขาไม่รู้เรื่องเท่านั้นเอง…
ขโมย
เมื่อ Content มันสร้างผลประโยชน์ได้ วิธีที่ฉวยโอกาสอีกแบบที่ง่ายที่สุดก็คือ ขโมยมา อาจมองก็ได้ว่าใน 1 Content หรือ โพสต์เดียวมันไม่ได้มีมูลค่าขนาดนั้น ซึ่งก็จริง แต่คนเหล่านี้ก็จะใช้วิธี เอาจากที่นั่นไปที จากที่นี่ไปที เปรียบแล้วก็คล้ายแผ่นผี mp3 สมัยก่อนที่ร้านขายรวยจริงจัง แต่ศิลปินและค่ายเพลงช่วงนั้นตกต่ำลงไปจริง ๆ ซึ่งมันไม่ได้ยุติธรรมเลย
ส่วนตัวแล้วไม่ค่อยโดนขโมย Content เท่าใดนัก แม้จะไม่ได้บอกกล่าวแต่หลายแห่งนำไปใช้ก็ให้เครดิตกลับมาถือว่าทำถูกต้อง แต่ก็มีบ้างอย่างคำคม “ต้นไม้งาม ไม่ได้มีเฉพาะสีเขียว ความสำเร็จของเรา ก็ใช่ว่าต้องเป็นสิ่งเดียวกับคนอื่น” หรือ “ก้าวสั้น ๆ ที่ถูกต้อง ไปเร็วกว่า ก้าวยาว ๆ ที่ผิดทาง” ที่ถูกแชร์มากกว่าเพจนี้เสียอีก ซึ่งดังที่กล่าวว่า สำหรับเว็บหรือเพจ Sirichaiwatt แล้วการนำไปแล้วลงเครดิตให้ แม้ไม่ได้บอกกล่าวตรง ๆ ถือว่าทำได้ แต่ก็ต้องเข้าใจว่าเว็บไซต์อื่น หรือเพจอื่น ๆ หลายแห่งเขาก็ไม่ได้ยินดีที่จะให้นำไปเผยแพร่ ไม่ว่าจะให้เครดิตหรือไม่ก็ตาม ซึ่งมองกันแบบยุติธรรมกรณีนี้ก็ถือว่าขโมยเช่นกัน
ที่แย่ที่สุดย่อมเป็นการที่เอาของคนอื่นไปแล้วยังลงท้ายเป็นเครดิตของตนเอง แบบนี้ก็มีมาก ส่วนหนึ่งโซเชียล เน็ตเวิร์ก หรือเว็บไซต์บางแห่ง ต้นเหตุอาจไม่ได้จงใจเสียทีเดียวแค่ความมักง่ายไปหน่อย แต่จงใจเลยก็มีสังเกตไม่ยากคือ Content หนึ่งอาจจะเข้าตาเรา แต่เมื่อดูรวม ๆ แล้วจะพบว่าสะเปะสะปะ ก็เพราะเนื้อหาไม่ได้เกิดจากการคิดเอง หรือออกมาคนเดียวหรือทีมเดียวกันนั่นเอง
เลียนแบบ
การที่โลกออนไลน์มันกว้างใหญ่ไพศาล แต่หากขโมยมามันก็พอหาต้นตอได้ จึงมีอีกรูปแบบคือแค่เลียนแบบเอา หรือดัดแปลงเอา เท่านี้ก็อาจมี Content ดึงดูดความสนใจแบบใส่เครดิตตัวเองได้อีกด้วย เหมือนเพจไลฟ์โค้ชบางแห่ง แปลคำคมจากภาษาอังกฤษมาอีกที จะเป็นไรไปก็ในเมื่อต้นฉบับเขียนภาษาอังกฤษ เขาก็ย่อมถือว่าไม่ผิด ไม่ได้ขโมย ซึ่งไม่ใช่แค่คำคม
แต่การต่อยอดความคิด การดัดแปลง หรือการเลียนแบบมันก็หมิ่นเหม่ จะว่าผิดถูกกันชัดเจนก็ยาก เพียงแต่ว่าเมื่อมันเลียนแบบกันจนเลอะเทอะ คนที่คิดสร้างสรรค์ก็เสียคุณค่าไป เสียเอกลักษณ์ไป เพราะมันกลายเป็นว่าใคร ๆ ก็ทำ หรือถ้าเป็นการเลียนแบบบนกระแสทางลบ แล้วเรากลับให้ความสนใจ ก็จะเป็นกลายส่งเสริมให้สังคมบิดเบี้ยวไปกันใหญ่ เช่น แต่งตัวโป๊ขายอาหาร ที่จะบอกว่าผิดก็ไม่ได้ แต่ก็คงไม่ใช่กระแสที่ดีหรือจำเป็น
การที่คนหิวแสงยังอยู่ได้ ก็เพราะมีคนให้แสงเขาอยู่นั่นเอง
ที่กล่าวมาย่อมมีที่บางครั้งคนทำ Content ไม่ได้ตั้งใจไม่ดี บางครั้งผู้ใช้ที่ไม่รู้จริง ๆ ก็มาก ไม่ได้มองเป็นเรื่องแย่ที่จะแชร์บางอย่าง หรือไม่ได้คิดว่ามันเป็นการส่งเสริมบางสิ่งที่ไม่ดีอยู่ แต่หากตระหนักสักนิด แม้จะชอบเสพอะไรที่เป็นกระแส หลายครั้งไม่จำเป็นต้องมือไวกด like ให้เขาก็ได้ อย่าแชร์อะไรโดยไม่จำเป็นหรือไม่มั่นใจ เลิกติดตาม (Unfollow) เลิกชอบ (Unlike) เลิกสนับสนุนสิ่งที่เราไม่ได้สนใจจริง ๆ ไปบ้าง เพราะทุกสิ่งที่เราทำบนโซเชียลวันนี้มันมีมูลค่า แม้ไม่ใช่ทางการเงินที่อาจเห็นชัด แต่อย่างน้อยก็มีผลต่อสังคมออนไลน์ที่ดีขึ้น เพราะสังคมคือการประสมกันของผู้คนสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ จึงสำคัญ ถ้าสื่อ ถ้าเพจ ถ้าเว็บไซต์ดี ๆ มีอยู่มากมาย ก็น่าจะส่งผลให้สังคมดีขึ้น ดังที่หากกล่าวกันตามศัพท์ยุคนี้ การที่คนหิวแสงยังอยู่ได้ ก็เพราะมีคนให้แสงเขาอยู่นั่นเอง…
อ้างอิงจาก: SIRICHAIWATT