ปศุสัตว์ไทย ฝ่าขวากหนาม ต้นทุนวัตถุดิบสูง น้ำมันแพง สร้างอาหารมั่นคง
มากกว่าครึ่งปีแล้ว ที่ภาคปศุสัตว์ไทยแบกรับภาระต้นทุนสูงมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ตุลาคมปี 2564 หลังแหล่งเพาะปลูกวัตถุดิบอาหารสัตว์แหล่งใหญ่ของโลกในสหรัฐได้รับผลกระทบจากสภาพแห้งแล้ง ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลืองลดลงมากและราคาปรับสูงขึ้น ประจวบกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่ไม่น้อยหน้าสหรัฐ หยุดส่งออกทั้งข้าวโพดและข้าวสาลี ตลอดจนน้ำมัน ทั้งยังกดดันให้ประเทศต่างๆ มากกว่า 50 ประเทศ ระงับการส่งออกอาหารและธัญพืช ยิ่งส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญกับภาคการผลิตอาหารทั่วโลก
ห่วงโซ่การผลิตภาคปศุสัตว์ไทยโดยเฉพาะ การเลี้ยงสุกร ไก่เนื้อ และไก่ไข่ ต้องพึ่งพาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นส่วนผสมหลักในอาหารสัตว์ในปริมาณสูง 50% และ 70% ตามลำดับ เกษตรกรจึงต้องแบกภาระเพิ่มขึ้นตามต้นทุนราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization : FAO) ประเมินว่าราคาสินค้าธัญพืชปรับขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ประมาณ 30% ขณะที่ราคาอาหารสูงขึ้น 21% ส่งผลกระทบต่อการผลิตทั่วโลก กระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและอาจนำไปสู่ “วิกฤตอาหารโลก”
สำหรับคนไทย เนื้อหมู เป็นเนื้อสัตว์ “ยืนหนึ่ง” ในการบริโภคประจำวันไม่แพ้ ไข่ไก่ ตามด้วยเนื้อไก่ แต่หมู ไม่หมูอย่างที่คิดหลังผลผลิตของเกษตรกรเสียหายไปมากกว่า 50% ของผลผลิตรวมทั้งประเทศ จากโรคระบาด ASF ในปีที่ผ่าน ทิ้งร่องรอยความขาดแคลนไว้จนถึงปัจจุบัน ราคาจึงไม่ต้องพูดถึง “กลไกตลาด” ทำงานอย่างเต็มพิกัดตามหลักการเศรษฐศาสตร์ “อุปสงค์-อุปทาน” ของมีน้อยราคาก็ต้องปรับขึ้น ถึงตอนนี้ผลผลิตหมูก็ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติปริมาณออกสู่ตลาดยังมีน้อย จากปัจจัยการผลิตหลายด้าน แต่ข่าวดีก็คือเกษตรกรทยอยนำหมูเข้าเลี้ยงใหม่ เน้นความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการป้องกันโรคระบาด เพื่อยกระดับการผลิตสุกรไทย สร้างหลักประกันอาหารมั่นคงปลอดภัยอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม สำหรับข่าวร้ายของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ออกโรงเตือนสมาชิก คือ การลักลอบนำเข้าหมูผิดกฎหมายจากต่างประเทศ เล็ดลอดนำเข้ามาสวมสิทธิ์ตีตราหมูไทยขายปะปนอยู่บนเขียงในตลาดสด ผ่านพิธีการทางศุลกากรโดยสำแดงเท็จเป็นอาหารทะเล หรือ อาหารสัตว์เลี้ยง ความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศ คือ คนไทยอาจได้สารเร่งเนื้อแดง ที่เป็นต้นเหตุของโรคมะเร็ง จากเนื้อหมูลักลอบนำเข้า และยังทำลายความมั่นใจของเกษตรกรไทยในการนำหมูเข้าเลี้ยงใหม่ จากราคาเนื้อสัตว์ที่จะขายได้ในอนาคต
ส่วนไข่ไก่ แม้ราคาปรับขึ้นเพียง 10 สตางค์ต่อฟอง ก็มีเสียงกร่นบ่นจากผู้บริโภค หากทราบข้อเท็จจริงของต้นทุนการผลิตที่นำหน้าราคาขายในปัจจุบันแล้ว ไม่นับว่าแพงเลย ที่สำคัญราคาไข่ไก่ปรับขึ้นไม่ถึง 2 สัปดาห์ ก็ปรับลงมา40-50 สตางค์ ซึ่งมากกว่าราคาที่ปรับขึ้นไป เพราะผลผลิตเกินความต้องการสะท้อนให้เห็นว่า “กลไกตลาด” ทำงานอย่างสมบูรณ์
ขณะที่ เนื้อไก่ ผลผลิตมีเพียงพอต่อความต้องการ แต่ต้องเผชิญกับต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนพลังงานที่ปรับสูงขึ้น ตลอด ราคาหน้าฟาร์มปรับขึ้นบ้างในระดับที่สมเหตุผลจาก 39 บาท เป็น 42 บาทต่อกิโลกร้ม ทั้งยังเป็นทางเลือกโปรตีนคุณภาพสูงทดแทนในช่วงที่ราคาเนื้อสัตว์อื่นมีราคาสูง
ภาคปศุสัตว์ไทยเดินทางมาถึงจุดนี้ โดยที่คนไทยยังมีเนื้อสัตว์บริโภคโดยไม่ขาดแคลนเหมือนประเทศอื่นๆ หากราคาจะต้องมีการปรับขึ้นตามต้นทุนบ้างก็ต้องเข้าใจภาคการผลิต ที่พยายามบริหารจัดการต้นทุนเต็มประสิทธิภาพสูงสุดอย่างสมดุล ไม่กระทบต่อผู้บริโภคและเกษตรกรเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งผู้บริโภคและผู้ผลิตต้องร่วมใจฝ่าขวากหนามครั้งนี้ไปด้วยกัน เพื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทย
โดย : แทนขวัญ มั่นธรรมะ