แมงมัน คืออะไรทำไมหาทานยาก !!
แมงมันคืออะไร
จากการค้นคว้าของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า แมงมัน คือมดชนิดหนึ่งที่รู้จักของชาวบ้านในถิ่นภาคเหนือและในบางจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีชื่อเรียกว่า “แมงมัน” เป็นแมงที่นิยมบริโภคในท้องถิ่น สามารถกินได้ทั้งระยะหนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย และนำมาประกอบอาหารได้หลายแบบ
นอกจากนี้แมงมันยังสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน เพราะพวกมันมีรสชาติแสนอร่อยและหากินได้ยาก ในรอบหนึ่งปีจะมีตัวเต็มวัยในระยะสืบพันธุ์เพศผู้และเพศเมียออกมาจับคู่เพื่อผสมพันธุ์ภายนอกรังในช่วงต้นฤดูฝนหลังฝนตกใหญ่ครั้งแรกประมาณ 1-2 วัน แมงมันในแต่ละแห่งจะเริ่มออกช่วงประมาณเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน
วงจรชีวิตของแมงมัน
ว่ากันว่าแมงมันจัดเป็นแมลงสังคมชนิดหนึ่งประกอบไปด้วย นางพญาตัวเต็มวัยวรรณะสืบพันธุ์ และมดงาน โดยธรรมชาติของแมลงสังคมนั้นจะมีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน แต่ยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับหน้าที่ต่าง ๆ ของแมงมันในแต่ละวรรณะ นอกจากนี้ยังพบว่าแมงมันนั้นมีการใช้หนวดปล่อยสารฟีโรโมน เพื่อส่งกลิ่นสัญญาณบางอย่าง เช่น การชุมนุม การหาอาหาร การเตือนภัย รวมทั้งการเกี้ยวพาราสีกัน และตัวเต็มวัย ซึ่งจากรายงานต่าง ๆ นั้นยังไม่ได้มีการศึกษาอย่างละเอียดเกี่ยวกับวงจรชีวิตของแมงมัน
ตัวเต็มวัยเพศเมีย
ตัวเต็มวัยเพศเมีย มีลําตัวสีน้ำตาลเข้ม ขนาดลําตัวกว้าง 0.64 เซนติเมตร ยาว 1.89 เซนติเมตร มีตาประกอบขนาดใหญ่ มีตาเดี่ยว 3 ตามีหนวดแบบข้อศอกจํานวน 10 ปล้อง มีความยาวของหนวด 0.35 เซนติเมตร มีปีก 2 คู่ ปีกคู่หน้ากว้าง 0.56 เซนติเมตร ยาว 2 เซนติเมตร ปีกคู่หลังกว้าง 0.35 เซนติเมตร ยาว 1.41 เซนติเมตร
ตัวเต็มวัยเพศผู้
ส่วนตัวเต็มวัยเพศผู้ มีลําตัวสีเหลืองน้ำตาลขนาดลําตัวกว้าง 0.41 เซนติเมตร ยาว 1.25เซนติเมตร มีตาประกอบขนาดใหญ่ มีตาเดี่ยว 3 ตา มีหนวดแบบเส้นด้ายจํานวน 13 ปล้อง มีความยาวของหนวด 0.60 เซนติเมตร มีปีก 2 คู่ปีกคู่หน้ากว้าง 0.44 เซนติเมตรยาว 1.38 เซนติเมตร ปีกคู่ หลังกว้าง 0.22 เซนติเมตรยาว 0.95 เซนติเมตร
แมงมันมีถิ่นที่อยู่ยังไง
ว่ากันว่าแมลงมันมีถิ่นแพร่กระจายอยู่ในแถบจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่และพบบางจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเช่น นครราชสีมา รังของแมงมันนั้นจะอาศัยอยู่ในดินได้เกือบทุกสภาพของดิน ที่ตั้งของรังแมลงมันนั้นต้องเป็นดินดอนน้ำท่วมไม่ถึง ส่วนใหญ่จะพบในบริเวณที่มีสภาพเป็นป่าโปร่งมีแสงแดดส่องถึง ส่วนพืชพรรณบริเวณนั้นมีความหลากหลาย รังของแมงมันจะอยู่ใต้ดินที่ความลึกจากผิวดิน 11 – 151 เซนติเมตรแล้วแต่ขนาดของรังและจํานวนประชากรของมดงาน รังของแมลงมันจะมีอยู่ 2 แบบ
โพ้งเผาะ โดยแบบแรกจะเป็นรังขนาดเล็กหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าโพ้งเผาะมีลักษณะเป็นทรงกลมรีขนาดตั้งแต่ 4 x 6 เซนติเมตร จนถึง 8 x 10 เซนติเมตร
โพ้งใหญ่ จะมีขนาดที่ใหญ่กว่าหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าโพ้งใหญ่ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 10 x 12 เซนติเมตรจนถึง 20 x 25 เซนติเมตร
รังของแมงมันทั้ง 2 แบบนั้นจะมีลักษณะเป็นทรงกลมรีและมีการแบ่งเป็นชั้นซ้อนกัน โดยมีระยะห่างของชั้นประมาณ 1.5 – 1.8 เซนติเมตร มีจํานวนของชั้นตั้งแต่ 7 – 27 ชั้น โดยแต่ละชั้นจะเป็นแผ่นบางๆ ผิวเรียบ มีความหนาประมาณ 1.5 – 2 มิลิเมตร แต่ละชั้นจะมีรูขนาดเล็กพอให้มดงานผ่านได้หลายรู ชั้นของรังนั้นจะมีเสาเชื่อม 3 – 8 เสาแล้วแต่ขนาดของรัง และในแต่ละชั้นของแมลงมันนั้นจะมีไข่หนอนและมดงานจํานวนมากที่ทําหน้าที่เลี้ยงดูตัวอ่อนเหล่านั้น