"ลูกเขยตายแม่ยายทำศพ" เป็นชื่อไม้ล้มลุก
ลูกเขยตายแม่ยายทำศพ วลีคำนี้เราคงคิดว่า เรื่องของผัวๆ เมียๆ ครอบครัว ลูกเขย แม่ยาย อะไรเทือกนี้
แต่จริงๆ มันเป็นชื่อไม้ล้มลุกชนิดหนึ่ง มีสรรพคุณเป็นยา ทั้งยารักษาโรคและยาเสพติด นอกจากนี้ ยังเป็นวัชพืชที่ทนสารกำจัดวัชพืช แต่สวยงาม จึงมักใช้ประดับถนนหนทาง
ลูกเขยตายแม่ยายทำศพยังมีชื่ออื่น ๆ อีก เช่น "ลูกเขยตายแม่ยายชักปรก", "หญ้ายาง", ตำรายาโบราณเรียก "พิษนาคราช", ชาวเหนือเรียก "หญ้าน้ำหมึก", ไทใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียก "หญ้าหลังอึ่ง", และชาวสงขลาเรียก "ใบต่างดอก"
ชาวลาวเรียก "ดอกบานบา"
ชื่อสามัญในภาษาอังกฤษของลูกเขยตายแม่ยายทำศพ คือ fireplant, Mexican fireplant, painted euphorbia, desert poinsettia, wild poinsettia, fire on the mountain, paint leaf หรือ kaliko plant
ลักษณะ
ลูกเขยตายแม่ยายทำศพเป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นตั้งตรง อาจสูงได้ตั้งแต่หนึ่งเมตรถึงหกเมตรและมียางสีขาวขุ่นทั้งลำ ยางนั้นเป็นพิษ ทำให้ผิวหนังอักเสบ (dermatitis) และก่อแอนาฟิแล็กซิส (anaphylaxis) ได้
ใบนั้นเดี่ยว เป็นรูปรี หรือรูปแถบดังใบหอก กว้างราวหนึ่งถึงห้าเซนติเมตร ยาวได้ตั้งแต่ห้าถึงยี่สิบเซนติเมตร และเรียงเวียน ด้านบนสีเขียว และด้านล่างสีเขียวอ่อน ผิวใบมีขน และก้านใบก็มีขน
ขณะที่ดอกออกแต่ในฤดูฝน เป็นช่อที่แต่ละยอด โดยแยกเพศแต่ก็รวมกันอยู่ในช่อหนึ่ง ๆ นั้น ดอกเมียมีสัณฐานกลม ส่วนดอกผู้อยู่เคียงดอกเมียและมีเกสรสีเหลือง ดอกแต่ละช่อมีใบกระจุกรองรับ
ผลของลูกเขยตายแม่ยายทำศพมีลักษณะกลม เมื่อแห้งจะแตกกลางเป็นพูสามพู
การแพร่พันธุ์
ลูกเขยตายแม่ยายทำศพเป็นพืชประจำถิ่นในประเทศเม็กซิโก แต่อาจแพร่มาจากดินแดนแถวรัฐแคลิฟอร์เนียไปจนถึงทางตะวันออกของรัฐเท็กซัสหรือถึงอเมริกากลาง และแพร่เป็นอันมากในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศอินเดียและประเทศไทย ซึ่งน่าจะแพร่มานมนานถึงขนาดที่ปรากฏอยู่ในตำรายาไทยโบราณด้วย
ลูกเขยตายแม่ยายทำศพขึ้นได้ตามดินสวนทั่วไป และรุกรานพืชอื่นโดยจะดำรงอยู่เพียงหนึ่งปี