ทำไมเรียกคนพูดจาหยาบคายว่าคนสามหาว?
เวลาเราดูหนังจีนโบราณที่มีบทพากย์ไทย เช่นเปาบุ้นจิ้น (บอกอายุเลย 555) เวลาตัวละครมีเรื่องทะเลาะกัน เรามักจะได้ยินตัวละครหนึ่งพูดว่าเจ้านี่มันวาจาสามหาวจริง ๆ วาจาสามหาวคืออะไร ใช้ยังไง แล้วทำไมถึงต้องเป็นสาวหาว สี่หาว ห้าหาวไม่ได้เหรอ วันนี้มีคำตอบค่ะ
คำว่า สามหาว ตามพจนานุกรมและตามที่หลายคนเข้าใจ จะหมายถึงลักษณะของคนที่ว่าพูดจาหยาบคาย มีความก้าวร้าว ยโส โอหัง ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง นอกจากนี้คำว่าสามหาว ยังเป็นคำสุภาพของผักตบชวาอีกด้วยซึ่งเรียกว่า ผักสามหาว
อีกหนึ่งที่มาที่คนส่วนใหญ่เคยได้ยิน คำว่าสามหาวมาจากกิริยาของหนุมาน ซึ่งเป็นทหารเอกพระรามในเรื่องรามเกียรติ์ หนุมานถูกสร้างจากอาวุธของพระอิศวร จึงมีฤทธิ์มาก ซุกซนและชอบอวดฤิทธิ์เดช และยังมีกุณฑล (ต่างหู) ขนเพชร เขี้ยวแก้ว (อยู่กลางเพดานปาก) หาวเป็นดาวเป็นเดือนได้ และด้วยนิสัยที่ชอบอวด ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าการหาวของหนุมาน คือการอวดฤิทธิ์เดช และอาจจะเป็นที่มาของคำว่าสามหาว แล้วทำไมต้องหาวสามครั้ง
ความจริงแล้วหนุมานไม่ได้หาวสามครั้งนะคะ เพราะในบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์สมัยรัชกาลที่ 1 พบว่าหนุมานหาวทั้งหมด 5 ครั้ง (อย่างนี้ต้องเรียกห้าหาวสิ) โดยที่ทั้งห้าครั้งไม่มีครั้งไหนที่หนุมานแสดงท่าทีก้าวร้าวหรือกิริยาหยาบคาย การหาวนี้จึงไม่น่าจะใช้ที่มาของคำว่าสามหาว
แต่เมื่อศึกษารามเกียรติ์ตอนหนุมานถวายแหวนพระนารทฤาษี พบว่านี่อาจจะเป็นที่มาของกิริยาสามหาวก็ได้ เรื่องราวมีอยู่ว่า ขณะที่เจ้าหนุมานเหาะไปกรุงลงกาเพื่อสืบข่าวนางสีดาให้พระรามอยู่นั้น ด้วยความที่ไม่คุ้นทาง เหาะไปเหาะมา ดันแลนดิ้งผิดที่คิดว่าถึงกรุงลงกาแล้ว แต่ความจริงที่ๆ หนุมานแลนดิ้งคือเขาโสฬส ตรงอาศรมพระนารถฤาษี ไหนๆ ก็ลงผิดที่แล้ว หนุมานก็ได้จำแลงกายเป็นลิงตัวน้อยเข้าไปขอท่านฤาษี เพื่อค้างแรมมันซะที่นี่เลย ฤาษีก็ใจดีให้ลิงน้อยค้างแรม
แต่ด้วยความซนและชอบอวดฤทธิ์เดช ไม่รู้จักขอบเขตและที่ต่ำสูงของหนุมาน จึงได้ขยายตัวให้ใหญ่คับอาศรม และทำท่าหาวแบบว่าโอ๊ย!! ง่วงนอนหนักมากเพื่อเยาะเย้ยท่านฤาษี ฤาษีก็เสกอาศรมให้ใหญ่ขึ้นตามเพื่อให้เจ้าลิงพออยู่ได้สะดวก แต่หนุมานก็ยังไม่หยุด กลับขยายร่างใหญ่ขึ้นอีก (น่าตีจริง ๆ) ฤาษีก็เสกอาศรมให้ใหญ่ขึ้นตามอีก
หนุมานทำแบบนี้หลายครั้ง (ไม่รู้ว่ากี่รอบ) จนสุดท้ายท่านฤาษีรู้สึกเหลืออดกับหนุมาน จึงเข้าอาโปกสิณ (การเจริญสมถกรรมฐานโดยตั้งใจเพ่งดูน้ำเป็นอารมณ์) บันดาลให้ฝนตกหนักจนหนุมานเปียกหนาวตัวสั่นงก ๆ และสำนึกผิดในที่สุด กิริยาเช่นนี้นักวิชาการด้านวรรณกรรมมองว่า อาจจะเป็นที่มาของคำว่าสามหาว
นอกจากนี้ ยังมีข้อสันนิษฐานที่น่าจะเป็นมาของคำว่าสามหาวอีกแหล่ง อักขราภิธานศัพท์หรือพจนานุกรมของหมอบลัดเลย์ ระบุว่าคำว่าสามหาวเพี้ยนมาจากคือคำว่าสัมหาว ซึ่งเป็นคำประสมระหว่างคำว่า สัมหรือสำ ซึ่งความหมายว่าร่วมเพศกัน และคำว่า หาว ซึ่งแปลว่าที่แจ้ง โดยรวมก็แปลไปในทางการกระทำอันน่าอับอายในที่โล่งแจ้ง ซึ่งสมัยก่อนถือว่าเป็นเรื่องน่าอาย น่าสัปะดน จึงนำมาใช้กับกิริยาท่าทางที่ดูหยาบคายก้าวราวได้เช่นกัน
https://siamrath.co.th/n/57004
https://www.kruwan-d.info/student/st01/06.html
https://teen.mthai.com/education/165815.html