โป๊ะแตก!! พระนอนโบราณ ที่โคราช ไม่ได้อายุ 3 พันปี แต่อายุ 1.3 พันปี
"พระนอนโบราณ ที่โคราช ไม่ได้อายุ 3 พันปี แต่อายุ 1.3 พันปี"
วันก่อน เห็นคนแชร์รูปข่าว "โคราช ทำความสะอาด-ฟื้นฟู อายุ 3000 ปี หลังเคยประสบอุทกภัยน้ำท่วม" พร้อมเสียงฮือฮาปนขำขัน ว่าจะเป็นไปได้ยังไง ที่พระพุทธรูป ปางไสยาสน์ องค์นี้ จะมีอายุถึง 3,000 ปี ทั้งที่ศาสนาพุทธเพิ่งจะมีมาเพียง 2,565 ปีเท่านั้น !?
เรื่องนี้มีคำตอบแล้วครับ โดยทางเฟซบุ๊กของ "สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา กรมศิลปากร" โพสต์ข้อความชี้แจงถึงเรื่องดังกล่าว (ดูรายละเอียดและลิงค์ด้านล่าง)
สรุปได้ว่า พระนอนองค์ดังกล่าวนั้น คือ พระนอนเมืองเสมา วัดธรรมจักรเสมาราม ต.เสมา อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ซึ่งนับว่าเป็นพระนอนที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย แต่มีอายุ 1,300 ปี ไม่ใช่ 3,000 ปี !
พระนอนเมืองเสมา สร้างขึ้นในวัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 - 16 โดยสันนิษฐานว่าพระนอนองค์นี้ถูกสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 หรือประมาณ 1,300 ปีมาเเล้วนั่นเอง .. จบข่าว 😀
------
(ข้อมูลจากเพจ สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา https://www.facebook.com/100064645904227/posts/344929871005207/?app=fbl)
"พระนอนเมืองเสมา อายุเท่าไหร่ ?"
.
กำลังเป็นกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ ทั้ง Facebook เเละ Twitter หลังจากที่มี Facebook fanpage หนึ่ง นำเสนอว่า พระนอนเมืองเสมา มีอายุถึง 3,000 ปี ซึ่งในเวลาต่อมา Facebook fanpage ดังกล่าว ได้ดำเนินการแก้ไขแล้ว เเต่หลายวันมานี้ พระนอนเมืองเสมา ยังคงเป็นกระเเสและถูกพูดถึงอยู่เรื่อย ๆ จึงเป็นโอกาสดีที่จะพาทุกท่านไปรู้จัก พระนอนเมืองเสมา ว่าแท้จริงแล้ว อายุ 3,000 ปี หรือ 1,300 ปี กันเเน่ค่ะ
.
สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ขอเรียนให้ทุกท่านทราบว่า พระนอนเมืองเสมา ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ นอกเมืองโบราณเสมา สร้างขึ้นในวัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-16 และจากการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบศิลปกรรม เเละวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดีที่พบจากการขุดค้น จึงสันนิษฐานว่า พระนอนองค์นี้ ถูกสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 หรือประมาณ 1,300 ปีมาเเล้ว จึงนับได้ว่า พระนอน หรือพระพุทธรูปปางไสยาสน์ เมืองเสมา เป็นพระนอนที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย นั้นเองค่ะ
.
จากการดำเนินงานโบราณคดีใน ปี พ.ศ.2533-2534 โดยหน่วยศิลปากรที่ 6 นครราชสีมา (ขณะนั้น) ทำให้ได้หลักฐานสำคัญหลายประการเกี่ยวกับองค์พระนอน ดังนี้
.
1 พบหลักฐานส่วนอาคารที่เป็นโครงสร้างรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยอิฐ ขนาดกว้าง 6.50 เมตร ยาว 26 เมตร เพื่อประดิษฐานพระนอน ได้พบหลักฐานโบราณวัตถุประเภทต่าง ๆ ประกอบไปด้วย เศษภาชนะดินเผาแบบทวารวดี เศษภาชนะดินเผาแบบเขมร พระพุทธรูปสำริด ประติมากรรมสำริดรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร โบราณวัตถุประเภทหิน ได้แก่ ธรรมจักรและกวางหมอบ
.
2 บริเวณองค์พระนอน พบหลักฐานว่า องค์พระนอน (พระพุทธรูปไสยาสน์) ประกอบด้วยหินทรายสีแดงอยู่ในลักษณะเดิมเกือบทุกส่วน ยกเว้นส่วนพระเศียรและส่วนพระบาท ซึ่งถูกขุดหาโบราณวัตถุกันมาก ทำให้ชั้นดินบริเวณดังกล่าวสับสนและมีเศษอิฐปนอยู่ในชั้นดินมาก รวมทั้งมีหินทรายที่แตกออกมาจากชิ้นส่วนขนาดใหญ่ เป็นต้นว่า ส่วนพระศอ ส่วนพระพาหาและส่วนของพระกรที่รองรับพระเศียรมากองอยู่ด้านหน้าพระพักตร์และมีชิ้นส่วนของพระเศียรอีกหลายชิ้นปนอยู่ในชั้นดินด้วย นอกจากนี้ได้พบส่วนพระบาทอีกชิ้นหนึ่งในชั้นดิน วางนอนต่อกับส่วนชายจีวร ซึ่งสลักด้วยหินทรายเป็นแผ่นตั้งขึ้นด้านหน้าสลักตามรูปแบบการครองผ้า ส่วนด้านในสลักเป็นร่องสองร่อง เป็นเดือยสำหรับสวมพระบาทเข้าไป ส่วนด้านหลังขององค์พระนอนนั้นบางช่วงได้ก่อสร้างง่าย ๆ โดยใช้หินเป็นแกนแล้วก่ออิฐปิดเป็นแผ่นหลัง ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนตรงส่วนพระอังศาล่าง ยังคงมีแนวอิฐก่อโค้งรับกับพระศออยู่ พร้อมกับใช้ปูนขาวฉาบผิวอีกชั้นหนึ่ง นอกจากนี้ยังพบที่ส่วนพระโสนีอีกด้วย รูปแบบของพระนอนหรือพระพุทะไสยาสน์นี้ ได้รับอิทธิพลของศิลปแบบทวารวดี ที่มีอิทธิพลของศิลปะแบบพื้นเมือง คงสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา ใกล้เคียงกับชุมชนสมัยทวารวดีภายในเมืองโบราณเสมานั้นเอง
.
เมื่อทุกท่านชมพระนอนเมืองเสมา ซึ่งตั้งอยู่ภายในวัดธรรมจักรเสมาราม เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากร และวัดธรรมจักรเสมาราม โดยจัดเเสดงโบราณวัตถุ ตลอดจนบอกเล่าพัฒนาการทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์เมืองโบราณเสมา ให้ทุกท่านได้ชมพร้อมกับการเรียนรู้กันอีกด้วย และก่อนเดินทางกลับก็ขอเชิญชวนให้ทุกท่านเเวะชมเมืองโบราณเสมา ซึ่งมีโบราณสถานภายในเมืองกว่า 9 แห่ง เพื่อให้การเดินทางมาในครั้งนี้ จะได้รู้จักโบราณสถาน โบราณวัตถุ เเละซึมซับความรู้ เกี่ยวกับเมืองโบราณเสมา เเละพระนอนเมืองเสมาให้มากยิ่งขึ้น ค่ะ
.
สามารถติดต่อสอบถามข้อมูล และการเดินทางเข้าสู่แหล่ง ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 044-471-518 หรือ DM มาที่ Facebook fanpage สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ได้เลยค่ะ
.
.
อ้างอิงจาก: https://www.facebook.com/OhISeebyAjarnJess/photos/a.281457299003997/1370855153397534/
อ้างอิงข้อมูล
ทนงศักดิ์ หาญวงษ์. (2534). "พระนอน วัดธรรมจักรเสมาราม" ศิลปากร 34, 6: 60-70
หน่วยศิลปากรที่ 6. (2534). รายงานการบูรณะพระนอนวัดธรรมจักรเสมาราม อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา. เอกสารอัดสำเนา. นครราชสีมา: หน่วยศิลปากรที่ 6 กองโบราณคดี.
.
เรียบเรียงนำเสนอโดย
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา