ว่าด้วยกรรม 12 / หลวงปู่พุทธะอิสระ
ว่าด้วยกรรม 12 / หลวงปู่พุทธะอิสระ
//////
พึงเข้าใจเถิดว่า มนุษย์และสัตว์โลกล้วนเป็นไปตามกรรม
แต่จะเป็นไปตามกรรมแบบไหนเล่าที่พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า "กัมมุนา วัตตติ โลโก ... สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม"
.....
เชื่อกรรมตามวิถีพุทธ
เป็นไปตามกรรมอย่างไรจึงจะถือว่า เราเชื่อกรรมตามวิถีแห่งพุทธ
ไม่ใช่เชื่อกรรมตามลัทธินอกพระพุทธศาสนา ซึ่งเชื่อกรรมแบบชนิดปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม
คือไม่ขวนขวาย เพราะไหนๆ กูมีกรรมแล้วนี่ ชีวิตเราเป็นไปตามกรรม ก็ปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม ไม่ต้องอะไรเยอะ ไม่ต้องไปขวนขวาย เดือดร้อน ทุรนทุราย เพราะยังไงๆ ก็หนีกรรมไม่พ้น
ถ้าเชื่อแบบนี้ เขาเรียกว่า เชื่อตามลัทธินอกศาสนา พระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญ
แต่ถ้าเชื่อกรรมโดยการเรียนรู้ ศึกษา และทำความเข้าใจว่า ... สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม และกรรมจำแนกสัตว์ให้ดีชั่วเลวหยาบ
ถ้าเชื่อกรรมแบบนี้แล้วจะทำให้ชีวิตของมนุษย์ผู้ที่เชื่อในกฎของกรรมดีขึ้นได้อย่างไร
กรรม คือ อะไร? กรรมคือการกระทํา
แล้วใครเป็นผู้กระทำ? คือ ตัวเรา
ซึ่งก็สอดคล้องกับคำสอน "อัตตาหิ อัตโนนาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน"
แล้วเชื่อสิ่งที่ตนกระทำ
ทำอย่างไรต้องรับผลอย่างนั้น
ทำดีรับผลดี ทำชั่วต้องได้รับผลชั่ว
เท่ากับว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เชื่อตัวเองอย่างชาญฉลาด มีสติปัญญา นั่นเอง
.....
บทสรุปของการเชื่อกรรม และอัตตาหิ อัตโนนาโถ
เมื่อเอา 2 อย่างมาผนวกกัน จะทำให้เห็นว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนเลอะเทอะ เปรอะเปื้อน แต่ทรงสอนให้เชื่อตัวเองที่เต็มพร้อม เต็มเปี่ยมไปด้วยศักยภาพของความมีสติปัญญา
.....
วิถีแห่งพละ 4
ถ้าเชื่อในมนุษย์ว่าสามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างมีศักยภาพ มีความรู้ความสามารถ มีความเจริญรุ่งเรือง มั่งคั่ง มั่นคงได้ ก็จงเชื่อตนเองในวิถีแห่งพละ ๔
ที่มีปัญญา วิริยะ ซื่อตรง มีจาคะ
อยู่ร่วมกันด้วยความถ้อยทีถ้อยอาศัย
แบ่งปัน เกื้อกูลกัน มีน้ำใจ ให้อภัย ไม่เห็นแก่ตัว และมีปฏิสัมพันธ์อันดีกับคนรอบข้าง
แล้วชีวิตจะเป็นสุข ปลอดภัย ผ่อนคลายโปร่ง เบา สบาย และเจริญได้
เราจะมีชีวิตอยู่ในโลกใบนี้อย่างไม่ทุกข์มากไป ไม่ทรมานเยอะไป และมีพัฒนาการอันดีงาม คือ มีปัญญาเป็นตัวหลัก
......
พละ 5
ถ้าเชื่อในพละ 5 คือ เชื่อว่ามนุษย์ผู้นั้นจะสามารถหลุดพ้นจากการครอบงำของ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และรัก โลภ โกรธ หลงได้
นั่นคือมีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา คือ เชื่อในวิถีแห่งการพัฒนาตนเองให้หลุดพ้นจากอัตภาพแห่งความเป็นมนุษย์และโลกนี้ไปได้
นี่คือ การเชื่อกรรมแบบมีที่มาที่ไป มีเหตุมีผล
เชื่อแบบนี้แหละ พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า
กัมมุนา วัตตติโลโก สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม เชื่ออย่างมีหลักการ มีเหตุมีผล
.....
กรรมที่พระพุทธศาสนาสอนนั้นไม่ใช่สอนให้คนเชื่อ แล้วปล่อยชีวิตเป็นไปตามกรรม โดยไม่ขวนขวาย ไม่มุ่งมั่นพัฒนา เฉกเช่น ผู้ที่ยอมรับชะตากรรม โดยไม่คิดจะทำอะไร
ในพระพุทธศาสนาสอนให้ศึกษากรรมโดยแบ่งกรรมและการให้ผลของกรรมไว้ 12 ลักษณะ คือ
(1) ชนกกรรม
กรรมที่นำมาให้เกิดหรือกรรมที่ตกแต่งให้เกิด หาได้เกิดในชาติภพอย่างเดียวไม่ แม้ก่อกำเนิดให้เกิดกรรมทางกาย วาจา และใจ ทั้งในทางดีและชั่วได้ด้วย
กระบวนการทำงานแห่งกรรมจึงไม่ได้มีเฉพาะแค่ภพใดภพหนึ่ง ชาติใดชาติหนึ่ง แต่มีแม้กระทั่งที่มีอยู่ในขณะหนึ่งๆ เช่น วันนี้เราต้องการจะปฏิบัติธรรม เรามีจิตศรัทธาประกอบด้วยความเพียร สติ สมาธิ ปัญญา คือ ทุกอย่างมาจากเหตุปัจจัย
พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า
"เย ธมฺมา เหตุ ปัพฺพวา คือ ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ"
ไม่ใช่อยู่ดีๆจะมาปฏิบัติธรรม โดยไม่คิด ไม่วิเคราะห์ ไม่คำนวณ ไม่วางแผน ไม่มีอารมณ์ศรัทธาอยู่ก่อน ... มันเป็นไปไม่ได้
ชนกกรรม จึงหมายถึง กระบวนการที่ทำให้เราได้ทำกระบวนการนั้นๆสำเร็จประโยชน์
ต้องมีศรัทธา มีความเพียร มีขันติ มีความอดทน มีปัญญา มีสติ จึงจะถึงคำว่า มีการบำเพ็ญปฏิบัติธรรมได้
จึงสรุปได้ว่า การทำงานของชนกกรรมนั้นให้ผลแม้ขณะหนึ่งๆ ขณะจิตหนึ่งๆ ขณะอารมณ์หนึ่งๆ ... นี่ก็เป็นกระบวนการแห่งชนกกรรม
(2) อุปัตถัมภกกรรม
กรรมที่คอยสนับสนุน เลี้ยงดู รวมทั้งให้การอุปถัมภ์ทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว ให้ส่งผลอย่างสม่ำเสมอ
อุปัตถัมภกกรรม เหมือนกับพ่อแม่ที่เลี้ยงดูลูก เราจะปฏิบัติธรรมโดยมีศรัทธาอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องมีกระบวนการมาอุปถัมภ์ด้วย
คือต้องมี 'ความเพียร' เอาความเพียรเข้ามาอุปถัมภ์ความศรัทธาที่ตั้งมั่น/ตั้งใจไว้ให้มันสำเร็จประโยชน์
ต้องมีขันติในการปฏิบัติธรรม มีความอดทน
กระบวนการเหล่านั้นเรียกว่า อุปัตถัมภกกรรม ทำให้กิจกรรมที่เราตั้งความหวังว่าจะทำสำเร็จประโยชน์
ชนกกรรมก็ดี อุปัตถัมภกกรรมก็ดี มีแต่ฝ่ายกุศล และฝ่ายอกุศล
คนคิดจะไปปล้นเขา อยู่ดีๆ จะหยิบมีด หยิบปืนไปมั้ย? ต้องโลภก่อน ต้องโง่ก่อนด้วยนะ
เพราะ "โง่" เป็นปัจจัยหลักของคนทำกรรมชั่ว ส่วนปัจจัยหลักของคนทำความดี คือปัญญา หรือความฉลาด
คนทำความดีต้องมีปัญญา นั่นคือ ปัจจัยหลักในการทำความดี เพราะเห็นคุณ เห็นประโยชน์ในการกระทำความดีว่า ทำแล้วไม่มีโทษ ไม่มีผลส่งให้เกิดความทุกข์ทรมาน
เหล่านี้แหละ เรียกว่า อุปัตถัมภกกรรม
ฉะนั้น อุปัตถัมภกกรรมของกุศลกรรม คือ ความฉลาด ความเพียร มีศรัทธา ความเชื่อในสิ่งที่ทำ เหล่านี้คือ องค์ประกอบ
ถ้าเข้าใจพุทธธรรมก็จะเข้าใจว่า เอา "เหตุ" เป็นตัวตั้ง ธรรมใดเกิดแต่เหตุ ทุกอย่างเป็นกระบวนการของเหตุทั้งหมด แล้วค่อยมาสรุปผลตรงที่ "ผล" ออกมาอย่างไร
ดังนั้น อุปัตถัมภกกรรม ไม่ใช่อุปถัมภ์กรรมดีอย่างเดียว แม้แต่กรรมที่ตกแต่งให้เกิดแล้วทำชั่ว เรียกว่า อกุศล ก็จัดว่า เป็นอุปัตถัมภกกรรมเหมือนกัน และการอุปถัมภ์ให้กรรมนั้นสำเร็จประโยชน์ จึงจัดว่าเป็นอุปัตถัมภกกรรมทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว
(3) อุปปีฬกกรรม
กรรมที่บีบคั้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็ทำหน้าที่บีบคั้นจากชั่วให้เป็นดี และบีบคั้นจากดีกลายเป็นชั่ว รวมทั้งบีบคั้นให้ไม่ได้ ไม่ชั่ว เป็นกลางๆ ได้ด้วย
อะไรก็แล้วแต่ที่เป็นอุปสรรคขวางหนาม หรือที่ทำให้เราไม่ได้ดั่งหวัง เขาก็เรียกว่า อุปปีฬกกรรม ... กรรมที่บีบคั้นให้เปลี่ยนแปลงผลที่จะเกิดจากจุดมุ่งหมายที่กระทำ
จะเป็นอุปปีฬกกรรมได้ ต้องเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากสิ่งหนึ่งไปอีกสิ่งหนึ่ง จึงจะเรียกว่า อุปปีฬกกรรม
(4) อุปฆาตกกรรม
กรรมที่ทำหน้าที่กัดกร่อน ตัดรอนในทุกกรรม ไม่ว่าจะดีหรือเลว โดยไม่มีกาลเวลา แม้ที่สุดกำลังจะดี ก็ทำให้ตายได้ด้วย
ส่วนใหญ่ อุปฆาตกรรม เป็นกรรมหนัก มาเร็ว และแรง ทำให้ขาดสูญ หวังผลไม่ได้อีกต่อไป เขาจะใช้คำว่า อุปฆาตกรรม.. ทำให้เสื่อมและหลุดพ้น เช่น อยู่ดีๆ หลุดพ้นจากอำนาจที่เราดำรงอยู่ อย่างนี้มีอุปฆาตกรรม.. เป็นรัฐมนตรีอยู่ดีๆ แว็บเดียวไปติดคุกแล้ว.. เป็นพระอยู่ดีๆ แว็บเดียวไปติดคุกแล้ว อย่างนี้เรียกว่า อุปฆาตกรรม คือเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือไปทันที.. จากมีชีวิตที่สดสวย เหมือนบ้านเพิ่งปลูกใหม่ อยู่ดีๆ ไฟไหม้
อุปปีฬกกรรม เหมือนกับไฟช็อตในบ้านหลังใหม่ มองเห็นควันไฟ เราไปดับได้ทัน นี่เรียก อุปปีฬกกรรม ทำให้เสื่อม ตัดรอน ไม่ให้เจริญ
แต่อุปฆาตกรรม ทำให้ฉิบหายวายป่วง ทำให้บรรลัย หาย ขาดสูญไปเลย
ตั้งแต่ข้อ 1-4 เป็นกรรมที่ให้ผลตามหน้าที่
ไม่มีใครจะดลบันดาลให้เกิด
จำไว้นะในกรรม 4 หมวดนี้ ไม่มีใครเป็นผู้ดลบันดาลให้เกิด นอกจากตัวเราเอง
ฉะนั้น เมื่อตัวเราเองเป็นผู้ทำให้เกิดกรรมทั้ง 4 แล้ว ใครเป็นผู้รับกรรม?
ตัวเราเป็นผู้รับกรรม แล้วกรรมทั้ง 4 มีหน้าที่ที่จะส่งผลให้ผู้กระทำกรรมทั้ง 4 นั้น ไม่ใช่คนอื่นดลบันดาลให้ส่งผล
กรรมทั้ง 4 จึงจัดเป็นกรรมที่ให้ผลตามหน้าที่ ไม่มีใครมาดลบันดาล บังคับ ขู่เข็ญ ขอร้อง อ้อนวอน หรือทำให้ส่งผล
ตัวเราเองนั่นแหละ ถ้าทำมาก ทำเร็ว ทำบ่อย ทำถี่ ก็จะส่งผลเร็ว ส่งผลมาก ส่งผลถี่
ถ้าทำช้า ทำไม่บ่อย นานๆทำที แม้กรรมทั้ง 4 มีหน้าที่ต้องให้ผลก็ให้ผลตามกระบวนการกระทำ คือ ให้ผลช้า นานๆ ให้ที ไม่ได้ให้ผลถี่
ในกรรมทั้ง 4 ถ้าเราเลือกที่จะทำเฉพาะกรรมฝ่ายกุศล เรียกว่า ฉลาดแล้วทำกรรม แล้วทำบ่อยๆ ทำเรื่อยๆ ทำถี่ๆ ไม่ใช่นานๆ ทำที มันก็ให้ผลตามหน้าที่ของมัน
คือ จะให้ผลดี ให้คุณประโยชน์ ให้ผลเป็นสุข เป็นความสำเร็จ รุ่งเรือง เจริญ บ่อยๆ ถี่ๆ
เพราะฉะนั้น กรรมทั้ง 4 จึงจัดว่าเป็นกรรมที่ให้ผลตามหน้าที่
ถ้าอยากจะได้ "ผล" แห่งกรรมดีอันเป็นกุศลบ่อยๆ ส่งผลให้เกิดความรุ่งเรือง เจริญ มั่งคั่ง มั่นคง สุขภาพแข็งแรง อายุยืนยาว วาสนาดี บารมีมากมาย
ก็ต้องทำกรรมทั้ง 4 ถี่ๆ บ่อยๆ เร็วๆ ไม่ใช่นานๆ ทำที และต้องเป็นกรรมทั้ง 4 ที่อยู่ในกุศลกรรมเท่านั้น
......
หลักของกุศลกรรม
ต้นเหตุแห่งการทำกุศลกรรม คืออะไร? รากฐานเลย คือความฉลาด
คนฉลาด ทำกุศล
คนโง่ ทำอกุศล
กรรม 12 จึงต้องเรียนรู้ ศึกษาให้แจ่มชัด ไม่ใช่เชื่อกรรมแบบไม่มีคำอธิบาย แล้วปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามยถากรรม อันนั้นเรียกว่า เชื่อตามลัทธินอกศาสนา
*******
(5) ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม
กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน หมายรวมไปถึงปัจจุบันขณะด้วย ซึ่งก็มีทั้งกรรมดี กรรมเลว และวางเฉย
กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน
ประเภทที่ 1 คือ กรรมอะไรที่ทำแล้วเกิดผลกระทบต่อส่วนรวมโดยมาก และเป็นต้นแบบ/เยี่ยงอย่าง ที่ไม่ดีต่อส่วนรวมได้เยอะ ทำให้คน/สัตว์ ตกทุกข์ทรมานได้มาก กรรมชนิดนั้นจะให้ผลในปัจจุบัน เรียกว่า "อะยัมภะทันตา" ตามให้ผลแบบชนิดปัจจุบันทันด่วน ใกล้เคียงกับกรรมอันหนักที่เรียกว่า ครุกรรม นี่ประเภทที่ 1 ของกรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน
ประเภทที่ 2 คือ ทำในปัจจุบันแล้วให้ผลในนาทีนั้นเลย ไม่ต้องรอชาติหน้า
ดังนั้น กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน คือ ทำแล้ว
คนอื่นเดือดร้อนมาก สังคมเป็นทุกข์มาก
สิ่งแวดล้อมเสียหายมาก และเป็นต้นแบบที่ไม่ดีเลวร้ายต่อมนุษยชาติได้มากๆ จะเกิดการให้ผลในปัจจุบัน โดยไม่ต้องรอนาน
ประเภทสุดท้าย คือทำกรรมไว้เมื่อไหร่กูก็ไม่รู้ แต่อยู่ดีๆ บ้าน ไฟไหม้..ลูกโดนรถชนตาย..เราประสบอุบัติเหตุขาหัก/แขนหักทั้งที่ไม่เคยไปทำร้ายทำลายใครเลย แต่ส่งผล เรียกว่า "อดีตกรรม" ส่งผลให้รับผลในปัจจุบันกรรม
ประเภทสุดท้ายนี้เรียกว่า ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม.. รวมหมายถึง 'ทุกขณะ'ด้วย
ขอขยายความคำว่า "ทุกขณะ" ว่าเป็นกรรมที่เกี่ยวกับ 'ใจ' ที่ให้ผลในปัจจุบันดังนี้
ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม เป็นผลฝ่ายครุกรรม คือ เห็นด้วยตาจับต้อง/สัมผัสได้ด้วยมือ รู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสปสาทะทั้ง 5 ตา หู จมูก ลิ้น กาย
แต่กรรมที่ให้ผลในปัจจุบันนั้น บางทีไม่ได้เกิดกับ "กาย" แต่กลับไปเกิดกับ "ใจ" แทน
คืออยู่ดีๆใจเราก็ทุรนทุราย ร้อนรุ่ม ว้าวุ่นกลัดกลุ้ม ฟุ้งซ่าน หงุดหงิด รำคาญ ซึมเศร้าขึ้นมาเฉยๆ ... นี่ก็เป็นกรรมที่ให้ผลในปัจจุบันเช่นกัน
เพราะกรรมมี 3 อย่าง คือกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม
กรรมที่ให้ผลโดยที่กายเราไม่ได้รับรู้
วจีเราไม่ได้รับผลกระทบ
แต่ มโน คือใจรับรู้ได้ทันที คือ กรรมที่กระทำโดย "มโนกรรม" อันนี้เป็นไปโดยทุกขณะ เช่น
โลภ-อยากได้ของเขา
พยาบาท- ปองร้ายเขา
เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม เห็นกงจักรเป็นดอกบัว
ถ้ากระทำลงไปแล้ว ไม่ต้องรอชาติหน้าให้ผลหรอก เพราะมันให้ผลในปัจจุบันทันที
ฉะนั้นถ้าจะอธิบายว่า กรรมที่ให้ผลในปัจจุบันโดยตรง คือ มโนกรรม ก็ได้
เพราะมโนกรรม นี่คนอื่นทำให้เรามั้ย? เราต้องทำกับคนอื่นมั้ย? ไม่เลย
แค่เกลียด มันก็ให้ผลแล้ว
แค่โลภ-อยากได้ของเขา มันก็ให้ผลแล้ว ความโลภทำให้เราทุรนทุราย นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย
แค่มักมากในกามคุณ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส จิตเราก็ไม่สงบแล้ว กรรมให้ผลในปัจจุบันแล้ว
กรรมที่ให้ผลในปัจจุบันขณะได้ คือ กรรมที่เกิดจากมโนกรรม
(6) อุปปัชชเวทนียกรรม
กรรมที่ให้ผลในอนาคต หมายถึง นาทีหน้าและ ชั่วโมงต่อๆ ไปจนถึงวันต่อๆ ไป เดือนต่อไปและปีต่อๆ ไป
ถ้าให้ผลในชาติต่อๆไปจะเรียกว่า อปราปริยเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในภพภูมิต่อไป
เราจะเห็นว่า กรรมเหมือนคนวิ่งผลัด.. วิ่งมาแล้วมึงรับไม้ต่อ ไม่มีคำว่า วิ่งมาแล้วรับมึงทำไม้ตก.. ไม่มีนะ ส่วนมันจะเร็วจะแรง ก็อยู่กำลังของแต่ละคนที่วิ่งไม้
นั่นหมายถึง อยู่ที่กำลังของกรรมที่กระทำ จะส่งผลเร็ว ส่งผลแรงอย่างไรขึ้นอยู่กับกรรมของผู้กระทำนั้น ว่าทำโดยเจตนาอันแรงกล้า เบาบาง หรือแทบไม่ได้เจตนา
แต่อย่างน้อยไม้นั้นไม่เคยตกมือ แสดงว่า กรรมนั้นไม่เคยร่วงไปไหน ต้องถึงปลายทางในที่สุด และเราเป็นผู้ยืนอยู่ไม้สุดท้าย
อันที่จริง เราอยู่กับไม้คนแรก แล้วมาอยู่กับคนที่ 2 คนที่ 3 และสุดท้ายเราไปอยู่กับคนที่วิ่งไม้สุดท้าย
สรุปแล้ว เรารับไม้มาทุกช่วง
เพราะฉะนั้น อปราปริยเวทนียกรรม หรือกรรมให้ผลในภพภูมิต่อๆ ไป จึงไม่เข้ามาวุ่นวายอยู่กับอุปปัชชเวทนียกรรม หรือ กรรมที่ให้ผลในอนาคต คือ ทำวันนี้ พรุ่งนี้ให้ผล คือให้ผลใน "นาทีหน้า ชั่วโมงต่อไปจนถึงวันต่อๆไป เดือนต่อๆไป"
ทำชั่ววันนี้ เราอาจจะไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร ... โกงเขาไปก่อน โกหกเขาไปก่อน หลอกเขาไปก่อน เป็นกรรมชั่ว แต่มันยังไม่ให้ผลไง เลยยังไม่เป็นไร
แล้วเมื่อถึงวันมันให้ผล เขาเรียกว่า อุปปัชชเวทนียกรรม คือ ยืนยันกรรมนี้ว่า ไม่ว่าคุณจะทำแล้วได้ผล/ไม่ได้ผล ในเวลาปัจจุบันก็ตาม แต่สุดท้าย อนาคตคุณจะต้องเป็นผู้รับกรรมนั้นอยู่ดี
ข้อนี้เขาอธิบายความแบบนี้ แม้ปัจจุบัน คุณจะโกหก จะโกง จะขโมยเขา เขาไม่รู้คุณทำร้าย เขาจับคุณไม่ได้ เรารู้สึกไม่เป็นไร แต่จริงๆแล้ว ไม่ใช่! เราจะต้องใช้หนี้กรรมในอนาคตอยู่ดี
(7) อปราปริยเวทนียกรรม
กรรมที่ให้ผลในภพภูมิต่อๆไป ซึ่งถูกส่งผลต่อเนื่องมาจากอุปปัชชเวทนียกรรม จนปรากฏในภพภูมิต่อๆ ไป
กรรมชนิดใดบ้างที่ให้ผลในภพภูมิต่อๆ ไป
หนึ่ง : กรรมที่เกิดจากการ "ทุศีล"
ศีลย่อมทำให้สู่สุคติ
ศีลย่อมยังให้เกิดโภค ทรัพย์
ศีลย่อมยังให้สู่พระนิพพาน
ฉะนั้น ผู้ที่ทุศีล แม้นปัจจุบัน เราไม่รู้สึกเดือดร้อนกับมัน เหมือนกับคนยุคปัจจุบันนี้ ทุศีลกันเป็นว่าเล่น พูดโกหก ตอแหล หลอกลวง ปลิ้นปล้อน กะล่อน มดเท็จ หยาบ ถ่อย สถุล ด่าพ่อล่อแม่ออกสื่อเต็มไปหมด
ผิดศีลมั้ย? ผิดแน่นอน
ทุศีลไปบ่อยๆ ไปเรื่อยๆ มันหายไปมั้ย?
วันนี้ไม่เห็น แต่ชาติภพต่อไปจะเห็นผลแน่
ฉะนั้น ศีล คือ ตัวกำหนดผลแห่งกรรมที่ตัวเองทุศีลจะแสดงผลในอนาคต คือ ภพภูมิต่อๆ ไป
ทุศีลมากๆเช่นฆ่าสัตว์มากๆ เราไม่มีสิทธิ์เป็นมนุษย์ เพราะไม่ได้ไปสู่สุคติ เพราะภูมิมนุษย์เป็นสุคติ ถ้าไม่ไปสู่สุคติ ก็จะไปเจอแต่ทุคติ
สีเลนะ โภคะสัมปะทา
อยากร่ำรวยในภพภูมิหน้า ต้องรักษาศีล
ศีลต้องเป็นตัวนำในการที่จะส่งผลข้ามภพภูมิ เหมือนกับพ่วงแพ
ถ้าเราทำให้แพรั่ว ก็ไปไม่ถึงฝั่ง
ฉะนั้น กรรมที่กระทำ ส่งผลในภพภูมิหน้า คือ กรรมอะไร? คือการผิดศีล
แล้ว ศีล มีอะไรบ้าง?
ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดเท็จ ไม่เสพของมึนเมา
เมื่อใดที่เราทำอย่างหนึ่งอย่างใดใน 5 อย่าง ถือว่าเป็นการทุศีล/ผิดศีล
และยังแยกอีกว่า ผิดศีลข้อไหน จะส่งผลไปกี่ภพกี่ชาติ แต่ท่านสอนไว้ว่า ผิดศีลข้อสุดท้าย ส่งผลให้เกิดทุกภพทุกชาติ
ข้อสุดท้าย คืออะไร? เสพของมึนเมา มันทำให้ขาดสติ
ขาดสติ คือ โง่
พอโง่แล้ว ทำชั่วไหมล่ะ? มันก็ส่งผลให้ทุกภพทุกชาติเลย เราจะโง่ตลอดไปเลย เพราะเป็นคนเสพเครื่องดองของมึนเมา
พอขาดสติ ก็ทำชั่ว/ทำกรรมฝ่ายอกุศลไปแล้ว เข้าใจมั้ย?
เรียนกรรม 12 ไปเรื่อยๆเถิด เดี๋ยวบรรลุเอง
( อโหสิกรรม
กรรมที่ล้มเลิกการให้ผล หรือกรรมที่หยุดยั้งการให้ผล
เพราะอโหสิกรรมนี่แหละ จึงมีคำสอนในบทโศลก ว่า
"รู้จักเผื่อแผ่ อย่าเห็นแก่ตัว เสียสละ แบ่งปัน รู้จักให้ แม้ให้ที่สุด คือ ให้อภัย อภัยทาน อภัยธรรม"
การให้อภัยเป็นการให้ที่สุดยอด เพราะจะหยุดยั้งกรรมทั้งหลายได้
อนึ่ง กรณีของคำว่า อโหสิกรรม เป็นอโหสิกรรมของตัวเอง แต่ไม่ใช่อโหสิกรรมให้กับคนอื่น โดยที่ตัวเองรับกรรม
การให้อภัยคนอื่น ตัวเองจะไม่ต้องรับกรรมใดๆจากคนๆ นั้นทำกับเรา
แต่ถามว่า คนๆ นั้นต้องรับกรรมมั้ย? ก็ยังต้องรับอยู่
ฉะนั้น การอโหสิกรรม เป็นการหยุดยั้งกรรมที่จะเกิดกับตน แต่ไม่ใช่หยุดยั้งกรรมที่จะเกิดกับคนทำผิด เพราะคนทำผิดยังมีกรรมอยู่
แล้วใครจะเป็นผู้ชี้ถูกชี้ผิดได้?
คนๆ นั้นต้องเป็น 'บัณฑิต' จริงๆเท่านั้น จึงจะไม่ได้รับผลกรรมที่บัณฑิตนั้นกระทำต่อผู้ที่ควรจะรับกรรม
กรรมตั้งแต่ข้อ 5-8 นี้ผลัดกันให้ผลต่างเวลาไป
กรรมข้อ 1-4 ให้ผลตามหน้าที่ คือ พอหมดหน้าที่ กรรมนั้นก็หยุด แต่ในขณะที่ทำหน้าที่อยู่ กรรมอื่นมาแทรกไม่ได้
แต่กรรมข้อ 5-8 ผลัดกันให้ผล คือ ไม่แน่นอน ไม่ได้ให้ผลพร้อมๆกัน กรรมข้อ 5-8 จึงเป็นกรรมที่เหมือนกับถือไม้รอไว้แล้วพร้อมจะวิ่ง ... ในหนึ่งวัน อาจจะมีกรรมตั้งแต่ 5-6-7-8 วิ่งเข้าวิ่งออก สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนวุ่นวายไปหมด ... บัดเดี๋ยวอยากทำร้ายมัน บัดเดี๋ยวอโหสิกรรมมัน
*****
(9) ครุกรรม
กรรมอันหนัก ซึ่งมีทั้งฝ่ายกุศลและฝ่ายอกุศล เช่น พัฒนาตนจนได้เป็นพระอริยเจ้า หรือทำร้ายพระอรหันต์ เป็นต้น
ครุกรรม ในอดีต มี ๒ ท่าน ยกให้เป็นต้นแบบ
ครุกรรมฝ่ายกุศล คือ พระองคุลีมาล
ครุกรรมฝ่ายอกุศล คือ พระเทวทัต
กรณีพระองคุลีมาล ถามว่า เป็นครุกรรมอย่างไร? ฆ่าคนตายเป็นพันคน เป็นกรรมหนักมั้ย?.. หนัก
แต่ถามว่า ทำไมท่านจึงไม่รับกรรมนั้นอย่างเต็มที่ ... ไม่ใช่ไม่รับ แต่ไม่รับอย่างเต็มที่?
เพราะท่านมีครุกรรมอันเป็นยอดแห่งกรรมทั้งปวง คือ กุศลกรรม ทำให้จิตของตนพ้นจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง จึงเรียกว่า ครุกรรมฝ่ายกุศล
ฆ่าคนตายมาเป็นพัน หลับตาทีไร เห็นคนตายอยู่ตลอดเวลา จนไม่สามารถนั่งนิ่งอยู่ได้ ต้องไปขอเฝ้าพระพุทธเจ้า
พระองค์ทรงสอนวิธีกำหราบจิต เรียนรู้ ศึกษามาแล้วมาพัฒนาจิตจนกระทั่งเข้าสู่ครุกรรม คือ กรรมอันใหญ่ยิ่ง จิตหลุดพ้นจากเครื่องร้อยรัดจากการปรุงแต่งขันธ์ทั้ง 5 ดับสูญหมด เข้าสู่ครุกรรมฝ่ายกุศล
ส่วนพระเทวทัตเล่า ก็เข้าสู่ครุกรรม แต่เป็นครุกรรมฝ่ายอกุศล เพราะจิตเหิมเกริม อยากใหญ่ อยากมีลาภสักการะ มีอำนาจวาสนา อวดดี อวดเด่น ตัวกูของกูยิ่งใหญ่ สุดท้ายรับครุกรรมฝ่ายอกุศล คือ ธรณีต้องสูบลง
ฉะนั้น บุคคล 2 ท่านนี้ จึงเป็นต้นแบบของครุกรรมฝ่ายกุศล และฝ่ายอกุศล
(10) อาจิณณกรรม
กรรมที่ทำซ้ำๆ อย่างเดียวกันเป็นเวลานานๆ จนมีผลเทียบชั้นครุกรรมทีเดียว
สมัยนี้ คนที่ปฏิบัติธรรมจริงจังหายาก ดุจงมเข็มในมหาสมุทร
คนสมัยนี้ส่วนใหญ่ทำแต่เรื่องอะไรก็ไม่รู้ ทำชีวิตให้ตกต่ำ หมกหมุ่นอยู่กับความมอดไหม้ ไร้สาระ ทำกันเป็นอาจิณ
จนอดห่วงไม่ได้ว่า มนุษย์ยุคนี้พัฒนาทางจิตยาก แค่ชีวิตประจำวันก็ยากจะหลุดพ้น ถอนตัวเองออกจากอาจิณณกรรมทางโซเชียลมีเดียนี้ไม่ได้
คือ เลือกอาจิณณกรรมในฝ่ายกุศลไม่ได้ ก็ทำแต่อาจิณณกรรมในฝ่ายอกุศลอยู่ทางโซเชียลมีเดีย ทุกวี่ทุกวัน ยาวนาน ต่อเนื่อง ทุกเรื่องทุกราว
คนที่เป็นโรคเบาหวาน โรคไต โรคตับ ก็มาจากอาจิณณกรรม
เบาหวาน กินแต่ของหวานๆ กลายเป็นครุโรค ... ไขมันอุดตัน เพราะกินแต่ของมันๆ จนเป็นอาจิณ กลายเป็นโรค เป็นครุกรรม
เธอเห็นหลวงปู่มั้ย
ฉันพยายามจะทำชีวิตให้เป็นอาจิณกับความเพียร
"วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ ... หาความเพียร สร้างความเพียรให้กับตัวเอง และทำความเพียรให้ปรากฏอยู่ตลอด ทั้งวันทั้งคืนให้เกิดความเพียร"
นี่เรียกว่า อาจิณณกรรม
บางคน วันทั้งวันเอาแต่ด่าๆ เปิดเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ แล้วก็ ด่า ด่า ด่า ทำเป็นอาจิณ
สุดท้าย ผลที่จะรับ คนอื่นรับแทนเรามั้ย?
มึงรับเอง มึงทำร้ายตัวเอง ทรมานตัวเอง ทำให้ตัวเองต้องเสื่อมทราม ตกต่ำ ด้อยค่า
มนุษย์สมัยนี้คิดอะไร ฉันเริ่มไม่เข้าใจ ... ไม่เข้าใจชีวิตมนุษย์สมัยนี้ว่าเกิดมาได้ยังไง? งง
เพราะฉะนั้น อาจิณณกรรม ทุกคนทำมั้ย? (ทำ) แล้วจะเลิกได้มั้ย?
ถ้าทำเป็นอาชีพน่ะพอเข้าใจ
อาจิณณกรรมฝ่ายอาชีพ เขามีนะ เช่น ช่างทอง
ในสมัยก่อนครั้งพุทธกาล มีอาจิณณกรรมที่ส่งผล
ลูกชายนายช่างทองมาบวชกับพระสารีบุตร ซึ่งให้กรรมฐานกี่ข้อๆ ลูกชายนายช่างทองเรียนไม่ได้ ไม่รู้
แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นพระสัพพัญญู หมายถึง ผู้รู้อดีต อนาคต ปัจจุบัน ...
ทรงรู้ว่า ลูกชายนายช่างทอง ทำทองเป็นอาจิณมา 500 ชาติ จะชอบของสวยๆ งามๆ อารมณ์สุนทรี ละเอียดอ่อน ละเมียดละไม จะให้กรรมฐานหยาบๆ ทำไม่ได้ เพราะไม่คุ้นชินกับอาจิณณกรรมที่ตนสะสมมา 500 ชาติ
พระองค์ก็ทรงเนรมิตดอกบัวทองคำให้ลูกชายนายช่างทองพิจารณา จนทำให้ดอกบัวทองคำกลายเป็นดอกบัวเหี่ยว ค่อยหล่นทีละกลีบๆ จนแตกสลาย
อาจิณณกรรมที่เคยจับจ้องแต่สีทองคำ เห็นสีทองคำหมองหม่นไปเรื่อยๆ จิตก็เปลี่ยนไปตามสีที่หมองหม่น เพราะอาจิณณกรรมนั้นเป็นนิมิต/เครื่องหมายของจิตนั้นมา 500 ชาติแล้ว พอเปลี่ยนไปก็รู้สึกได้ว่ามันเปลี่ยน
โอ้หนอ ขนาดทองคำยังเปลี่ยนสีได้ เราไม่เคยเห็นความเปลี่ยนแปลงขนาดนี้ ตามดูต่อไปเรื่อยๆ จนมันหลุดร่วง ย่อยสลายเป็นผุยผง
จิตหลุดพ้นจากขันธ์ทั้งปวง การยึดติดในขันธ์ทั้งปวงหายไป
นั่นคือ อาจิณณกรรมส่งผล เป็นอาจิณณกรรมฝ่ายอาชีพ
ฉะนั้น คนทุกคนมีอาจิณณกรรมมั้ย?
พระอรหันต์ทุกรูปที่มีมาแล้วในอดีต และจะมีต่อไปในปัจจุบัน ก็มีอาจิณณกรรม และเป็นอาจิณณกรรมในฝ่ายกุศล จึงได้เป็นอรหันต์ได้ ไม่ใช่อาจิณณกรรมในฝ่ายอกุศล
พระโมคคัลลานะก็มีอาจิณณกรรม ถามว่า เพราะอะไร?
ในอดีต ตัวเองชอบสะสม เรียนรู้ ศึกษาสรรพวิทยา วิชาการ ฤทธิ์เดช เวทมนตร์ มงคลต่างๆ จนสั่งสมอุปนิสัยกลายเป็นคนรักที่จะแสดงฤทธิ์ แสดงเดช อย่างนี้เป็นต้น
ฉันมาเทียบกับมนุษย์ยุคปัจจุบัน ฉันก็ไม่รู้อาจิณณกรรมแบบนี้ ชาติหน้ามันจะออกมาเป็นอะไร?
ไม่ต้องไปดูชาติสุดท้าย เอาชาติหน้าแล้วกัน ก็มองไม่ออก เดี๋ยวมันก็เป็นเดรัจฉานเป็นเทวดา เป็นมนุษย์ เดี๋ยวก็เป็นยักษ์เป็นมาร เป็นเปรต เป็นอสุรกาย
แต่ที่เป็นมากที่สุดคือ สัตว์เดรัจฉานกับสัตว์นรก ... แล้วจะไปแสวงหาความเจริญได้อย่างไร เพราะอาจิณณกรรมมันทำแบบนั้น
ฉะนั้น อย่าไปดูแคลนอาจิณณกรรมนะ เป็นสิ่งสำคัญที่สั่งสมนิสัย เขาเรียกว่า "อนุสัย" มีผลจนถึงอนุสัยเชียวนะ
อนุสัย คือ สิ่งที่ฝังอยู่ในกมลสันดาน จะลบล้างมันได้ต่อเมื่อหลุดพ้นเท่านั้นแหละ
หลุดพ้น คือ เป็นพระอรหันต์เท่านั้น
พระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี ยังล้างอนุสัยไม่ได้ ต้องเป็นอรหันต์เท่านั้น
ฉะนั้น สิ่งที่จะสามารถลบล้างอาจิณณกรรมได้ เวลากินอาหาร บางคนสารพัดชอบ แต่บางคนชอบของมันอย่างนั้นๆ ต้องหวานนะ ต้องเผ็ดนะ
นั่นคือ การสร้างอาจิณณกรรม
ฉะนั้น ต้องกินให้หลากหลาย
ชีวิตต้องมีหลากหลาย ทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่เป็นฝ่ายอกุศลไม่ได้ ต้องเทียบด้วยว่า อาจิณณกรรมที่เราทำเป็นฝ่ายกุศลหรืออกุศล ต้องวิเคราะห์ให้ได้
ถ้าเป็นฝ่ายกุศล ทำไปเถอะ ทำไปเป็นประจำ
พอมีคำว่า อาจิณณกรรม ตัวชนกกรรม อุปัตถัมภกกรรม อุปปีฬกกรรม อุปฆาตกรรม ก็ได้ทำหน้าที่ แต่เป็นการทำหน้าที่ในฝ่ายส่วนกุศล ทุกกระบวนการจะทำหน้าที่เพราะอาจิณณกรรมเราทำนำ เป็นกรรมที่นำหน้ากรรมอื่นๆทั้งปวงได้
(11) อาสันนกรรม
กรรมที่เฉียดฉิว หรือ กรรมจวนเจียน หรือที่เรียกว่า เกือบไปแล้ว เช่น พฤติกรรมที่เสี่ยงตาย หรือ ลุ้นเลขหวยแล้วเฉียดฉิวใกล้ถูก แต่สุดท้ายมันก็ไกลเกินฝัน
วิธีหยุดอาสันนกรรมได้อย่างดีที่สุด คือ สติ และปัญญา
สติและปัญญาเท่านั้นที่จะหยุดอาสันนกรรมได้
"เผื่อว่า อาจจะ ใช่มั้ง จวนเจียน" จะไม่เกิดขึ้น มันจะตรงเป๊ะๆ ตลอดเวลา
ฉะนั้นจงเจริญสติ รุ่งเรืองปัญญาให้อย่างต่อเนื่อง ยาวนานเถิด
พระพุทธเจ้าทรงสอน วิธีหยุดอาสันนกรรม คือ สติ ปัญญา และความไม่มัวเมา ประมาท
พวกนี้เป็นกรรมที่เขาเรียกว่า ลมเพลมพัด มาตามลม เราไปทำไว้ตั้งแต่ชาติไหน ไม่รู้ล่ะ ครั้งไหน ด้วยวิธีอะไร เราไม่รู้ล่ะ
เพราะคำว่า ไม่รู้ล่ะ นี่แหละก็เลยเฉียดฉิว จวนเจียน เผื่อว่า อาจจะ ใช่มั้ง จะตายแหล่ไม่ตายแหล่ และก็ไม่รู้ล่ะว่า ทำไมเราถึงตาย
และพวกตายด้วยอาสันนกรรมนี่นะ ที่ไปคือ สัมภเวสี และอสุรกาย ... เปรตนี่ไม่ค่อยได้เจอ
ส่วนใหญ่จะเป็นสัมภเวสี อสุรกาย ผู้หาเรือนอยู่ หาที่อยู่ไม่ได้ และผู้ที่หวาดกลัวและไม่รู้ว่าตัวเองตาย เพราะเหตุผลว่า เกิดมาจากเหตุแห่งความไม่รู้ล่ะ
ฉะนั้นวิธีแก้ คือ ต้องมีสติ มีปัญญา และไม่ประมาท จึงจะหยุดยั้งอาสันนกรรมได้
(12) กตัตตากรรม
กรรมที่กระทำโดยมิได้ตั้งใจ หรือทำด้วยเจตนาอันอ่อน กตัตตากรรมนี้จะให้ผลต่อเมื่อไม่มีกรรมใดให้ผลแล้วจึงจะได้รับผลของกรรมนี้
ถ้าจำเป็นจะต้องได้รับผล นั่นหมายถึงว่า ไม่มีกรรมอื่นให้ผลแล้ว กตัตตากรรมเป็นกรรมอันเบามาก เหมือนกับปุยนุ่นที่ลอยมาในอากาศ มันมาโดยที่ไม่มีเป้าหมาย มันฟุ้งไปในอากาศ
ถ้าเราไม่มีกรรมอื่นปกครองอยู่ กรรมอื่นๆไม่มี เราก็ต้องรับผลอันนั้น
แต่ถ้ายังมีกรรมอื่น ไม่ว่าเป็นชนกกรรม อุปัตถัมภกกรรม อุปปีฬกกรรม อุปฆาตกรรม หรือ ปัจจุบันกรรม อดีตกรรม อนาคตกรรม กำลังให้ผลอยู่ ... กตัตตากรรมจะไม่เข้าใกล้
ต่อเมื่อเราว่างจากกรรมอื่นทั้งหมดแล้ว กตัตตากรรมจะมาทันที แต่จะให้ผลอ่อนๆ เช่น ทำให้เราเปลี้ย ป่วย ซึม ไม่สบาย ชีวิไม่ผ่อนคลาย บางทีบางครั้งมีการเปลี่ยนแปลง ก็ไม่มีโทษอันหนัก เป็นไปโดยค่อยเป็นค่อยไป ไปเรื่อยๆ
บางคนให้ผลในบั้นปลายชีวิต คือ ป่วยตาย แห้งตายไปเอง อย่างนี้เป็นต้น ไม่ทำให้รู้สึกว่า กรรมนี้กำลังจะให้ผล.. กรรมนี้กำลังทรมาน แต่ค่อยเป็นค่อยไป ท่านกล่าวไว้ เหมือนกับไฟสุมขอน มันไม่ลุกโชน แต่ไฟพวกนี้กลัวฝน
ฉะนั้น ขณะที่มีฝน กรรมนี้จะไม่เข้าใกล้ นั่นหมายถึงว่า ถ้ามีกรรมอื่นเข้ามาอยู่ ต้องชดใช้กรรมอื่นอยู่ กรรมนี้รอผลไปก่อน แต่ไม่ได้หาย
เพราะฉะนั้น กตัตตากรรม เป็นกรรมสุดท้ายของมนุษย์และสัตว์ทั้งปวงที่จะต้องชดใช้
พอชดใช้แล้ว ถามว่าจบมั้ย?
ต้องดูว่า เราไปทำกรรมอื่นเพิ่มมั้ย
นั่นหมายถึงว่า ที่บรรทุกรถสิบล้อมาทั้งหมด มึงใช้หนี้เขาหมดแล้ว เหลืออยู่ฝุ่นละอองบนรถสิบล้อ ต้องทำความสะอาด นั่นแหละเขาเรียก กตัตตากรรม ปัดกวาดเช็ดถูให้เรียบร้อย
แต่ถ้าเอาอะไรมายัดใส่ไว้อีก อย่างนี้ต้องมาบริหารจัดการกันอีก
******
เราจะหยุดกรรมทั้ง 12 ได้อย่างไร?
คำตอบคือ เราต้องฉลาด มีสติ มีปัญญา และไม่ประมาท
เพราะคนฉลาดจะทำกุศลกรรม
ถ้าคนโง่จะหลงไปทำอกุศลกรรม
กรรมตั้งแต่ข้อ 9 ถึงข้อ 12 จะให้ผลไปตามความหนัก ความรุนแรงที่ได้กระทำ
เมื่อศึกษาในกรรม 12 จนแตกฉานแล้ว เราจะเห็นเองว่า
กระบวนการแห่งกรรมหาได้ทำให้เราไม่ขวนขวาย หรือปล่อยชีวิตให้มันเป็นไปตามยถากรรม
แล้วถ้าเราจะขวนขวาย ควรขวนขวายแบบไหน?
เราควรเรียนรู้ ศึกษากรรมแต่ละชนิดให้แจ่มชัด และเลือกสรรที่จะทำแต่กรรมในฝ่ายกุศลอย่างมีสติปัญญา ไม่มัวเมา ประมาท
นี่แหละจึงจะถือว่า เราได้ขวนขวายแล้วต่อการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับกระบวนการให้ผลแห่งกรรม ซึ่งเราเลือกที่จะทำแต่กุศลกรรม
คำว่า ขวนขวาย หมายถึง ต้องขวนขวายที่จะทำแต่ฝ่ายกุศลกรรมเท่านั้น ไม่ใช่ทำแต่อกุศลกรรม หรือปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามยถากรรม
เราควรจดเอาไว้/บันทึกเอาไว้ด้วย เพราะจะเป็นข้อมูลในการศึกษาชีวิตในปัจจุบันของเรา
เพราะชีวิตปัจจุบันทำกรรมมั้ย? ทำกันทุกคนแหละ หลวงปู่ก็ทำ แต่จะเป็นกรรมดี/กรรมชั่ว
อยู่ที่โง่กับฉลาด
อยู่ที่เรามีสติปัญญา ประมาทมั้ย
ถ้ามีสติปัญญา แต่ยังมัวเมา ประมาท ก็อาจจะพลาดไปทำกรรมชั่วได้อีกเหมือนกัน
ย้ำนะ แม้มีสติปัญญา แต่มัวเมา ประมาท ก็อาจจะพลาดไปทำชั่วได้เหมือนกัน
ถ้ามีสติปัญญา และไม่มัวเมา ประมาท ก็จะทำแต่กุศลกรรม
ฉะนั้น เราหนีกรรมไม่พ้น
อ่านธรรมะบ่อยๆทุกวัน อ่านแล้วตีความ ศึกษา วิเคราะห์
โดยเฉพาะอาจิณณกรรม ชัดเจน ชัดแจ้ง เพราะเป็นกรรมในปัจจุบันที่เราจับต้อง หยิบฉวยได้
ชีวิตประจำวันทุกวัน เอา "กุศล" เป็นตัวตั้ง มีอาจิณณกรรมอยู่ตรงกลาง
นี่คือการบริหารจัดการชีวิต โดยเลือกสรรกระทำกรรมที่เป็นคุณประโยชน์ที่ดีที่สุด ก็จักได้รับผลในทางดีงามเอง
ชีวิตเราต้องเป็นไปตามอำนาจของกรรม ไม่ใช่ตามยถากรรม
พอเป็นไปตามอำนาจของกรรม เราก็เอากรรมนั้นมาบริหาร มาจัดการ จัดระเบียบ จัดระบบให้เข้ากับกฏแห่งกรรม
ถ้า(กู)โง่ ก็จะไปทำกรรมอกุศล
ถ้า(กู)ฉลาด กูก็จะไปทำกรรมกุศล
นี่คือ กระบวนการบริหารการจัดการ
การรู้จักบริหารจัดการกรรมอย่างดียิ่ง คือคุณสมบัติของความเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบ
แม้ไม่บรรลุธรรมก็ไม่ตกนรก
แม้ยังไม่ตายก็ไม่เผชิญต่อความทุกข์เดือดร้อน
ทุกข์มี 3 ชนิด คือ ทุกข์ประจำ ทุกข์จร ทุกข์อาจิณ
ทุกข์จร ไม่เกิด
ทุกข์ประจำ มีแน่นอน
เพราะร่างกายจะต้องทุพพลภาพ เปลี่ยนแปลง มันปวด เมื่อย เจ็บ เป็นธรรมชาติ กรรมอะไรก็หยุดมันไม่ได้ เพราะการได้มาซึ่งอัตภาพร่างกายนี้ก็เป็นชนกกรรมอย่างหนึ่ง
ที่ยังมีชีวิตอยู่นี่ คือผลแห่งชนกกรรมอย่างหนึ่ง
อุปัตถัมภกกรรม ที่ทำทุกวัน ย่อมอุปถัมภ์ให้ร่างกายเราให้เป็นแบบนี้ ... แก่อย่างแข็งแรง หรือแก่อย่างขี้โรค
แล้วถ้ายิ่งไปเร่งเร้า อุปปีฬกกรรมให้แสดงผลเร็วขึ้น คือ การเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ หรือไม่ก็ค่อยๆ เป็นไปทีละน้อยๆ โดยเราไม่รู้ตัว
แล้วอุปฆาตกรรมก็มาตัดรอนให้เราเสื่อมลงอย่างชนิดหัวทิ่มหัวตำ หรือตายคาที่ หรือตัดรอนให้เรารุ่งเรือง เจริญแบบชนิดอยู่ดีๆก็ถูกหวยโดยไม่ต้องซื้อหวย ก็จัดเป็นอุปฆาตกรรมเหมือนกัน
ขึ้นอยู่กับว่า ชนกกรรม อุปัตถัมภกกรรม อุปปีฬกกรรมเราทำมาอย่างไร และขึ้นอยู่กับกระบวนการกรรม 12
แม้ที่สุดอาจิณณกรรม กรรมที่ทำอยู่ทุกวัน มันก็ย้อนไปเป็นวงกลม
กระบวนการกรรม 12 จึงเป็นวัฏจักร ไม่ใช่เส้นตรง เป็นวงกลม งูกินหาง
1-2-3-4-5-6-7-8-9-10-11-12 ...1-2-3 วนกันอยู่อย่างนี้
รหัสนัยแห่งกรรม 12 นี้ ถ้าศึกษาให้ดี เราจะต้องดัดทำให้วงกลมนี้ กลายเป็น "เส้นตรง"ได้ โดยอาศัยสติ ปัญญา และความไม่มัวเมา ประมาทของเรา
แต่หากปล่อยชีวิตให้มันเป็นไปตามยถากรรม ตามความเชื่อเรื่องกรรมของลัทธินอกพุทธศาสนา มันจะเหมือนกับมนุษย์หรือสัตว์ที่ตกลงน้ำแล้วไม่ขวนขวายแหวกว่ายเข้าฝั่ง รอให้น้ำพัดพาเข้าฝั่งเอง สุดท้ายก็หมดแรงจมน้ำตายในที่สุด
ปัจจุบันนี้ มนุษย์สมัยนี้เหมือนอย่างนี้ มนุษย์ยุคปัจจุบันเป็นแบบนี้ คือเชื่อกรรมแบบลัทธินอกศาสนาพุทธ
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ธรรมของพระองค์เป็นเครื่องทวนกระแส แต่เราก็ไม่เข้าใจคำว่า "ทวนกระแส" คือ อะไร?
คือ ต้องขวนขวาย
แล้วพระองค์ทรงสอนต่อว่า "วิริเยน ทุกขมัจเจติ บุคคลล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร"
... คนจำนวนมากก็ไม่ใส่ใจอีก
แล้ว ทุกข์ เกิดจากอะไร? เกิดจากกรรม 12
เราก็ไม่ใส่ใจอีก ไม่คิดจะบริหารจัดการ ไม่คิดจะพัฒนา แก้ไข ฝืน.. ปล่อยไปให้มันพาเราหมุนวนอยู่อย่างนี้ เป็นร้อยๆรอบ พันๆรอบแล้ว เราปล่อยชีวิตเราไปเป็นแบบนี้
ความจริงแค่เข้าใจ กรรม 12 อย่างแจ่มแจ้ง ชัดเจน แล้วเราจัดวางกรรมทั้ง12 อย่างเป็นผู้รู้ ผู้เข้าใจ ผู้ขวนขวาย พัฒนาแล้วได้
เราก็พ้นแล้วซึ่งนรกภูมิ
ทุคติภพไม่มากล้ำกรายเราแล้ว แม้นในชาตินี้และชาติต่อๆ ไป
นี่คือ รางวัลของผู้บริหารจัดการกรรม 12
ถามว่า ชีวิตเราในปัจจุบันเป็นผู้เชื่อลัทธิพุทธศาสนา หรือว่านอกลัทธิพุทธศาสนาในเรื่องกรรม?
บอกตรง ๆว่า คนปัจจุบันนี้ แม้แต่นักบวชก็เชื่อกรรมนอกลัทธิพุทธศาสนา ไม่อย่างนั้นจะเกิดกรณี 2 พส.หรือ ใช่มั้ย?
เพราะไม่ได้เชื่อกรรมแบบชนิดที่เข้าใจกรรม โดยจะเลือกทำแต่เฉพาะกุศลกรรม และละเว้นไม่กระทำต่ออกุศลกรรม
แต่ตราบใดที่เว้นอกุศลกรรมไม่ได้ เราคือผู้ที่เชื่อกรรมตามลัทธินอกศาสนาพุทธ
ขอย้ำว่า
เมื่อใดที่เรายังหยุดยั้งกรรมในฝ่ายอกุศลกรรมไม่ได้ เมื่อนั้นเราคือบุคคลที่เชื่อกรรมตามคำสอนลัทธินอกศาสนาพุทธ ... เพราะไม่ขวนขวาย ไม่พัฒนา ปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม เหมือนคนตกน้ำ ไม่ขวนขวายที่จะว่ายทวนกระแสหาฝั่งเข้า
ทุกวันนี้ เราไม่ต่างอะไรกับมนุษย์และสัตว์ที่อยู่ในทะเลแห่งทุกข์ เราก็ไปของมันเรื่อย
ควรจะต้องเตือนให้รู้ ให้เข้าใจ ให้รู้จัก เตือนให้ขวนขวาย
ควรจะแจ้ง แถลง บอก ชี้แจง
ควรจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ให้สัตว์ทั้งหลายได้เข้าใจว่า ตัวเองกำลังว่ายอยู่ในวังวนแห่งทะเลในความทุกข์ระทม ในการให้ผลกดดันแห่งกรรมทั้ง 12
******
จงรักษาจิตไม่ให้กระทำกรรม
การเชื่อกรรมในทางผิดๆ มันจะทำให้ผู้เชื่อกลายเป็นคนไร้สาระ ไร้ประโยชน์ ไร้เหตุ ไร้ผล เป็นโมฆบุรุษ โมฆสตรี หาประโยชน์มิได้
ทุกเรื่องที่คิดเป็นกรรม
ทุกคำที่พูดเป็นกรรม
ทุกสิ่งที่ทำ ที่เขียน ที่โพสต์ไป ... ก็เป็นกรรมทั้งนั้น
หนีไม่พ้น ... เรื่องที่เราทำ...คำที่เราพูด..สูตรที่เราคิด ย่อมจัดอยู่ในกรรม 12
กระจายไปอยู่ใน 12 ห้อง ที่เรียกว่า "คลังเก็บกรรม 12"
ถึงเวลาก็จะจัดไป ผลงานของกรรมออกมาให้เราแต่ละคนรับเอาผลไป
เพราะฉะนั้น ห้องกรรมทั้ง 12 ของแต่ละคน
ถ้าจัดเป็นฝ่ายอกุศล วิหารหลังนี้ใส่กรรมทั้ง 12 ยังเล็กไป ใส่ไม่หมด ล้นออกประตู หน้าต่าง
แต่ห้องกรรมฝ่ายกุศล ขวดใบนี้ยังไม่เต็ม ยังพร่องอยู่เลย
แล้วหลับตาคิดดู เราจะหาความสุขมาจากไหนในเมื่อกรรมดีมีแค่นี้ แต่กรรมชั่วทั้งห้อง
จะเอาความสุขมาจากไหน?
จะวิงวอนเทพเจ้าองค์ใดให้บันดาล?
ต้นทุนมึงมาแค่นี้... เห็นมั้ย?
เพราะโทษแห่งความไม่รู้ ไม่เข้าใจ โง่ มัวเมา ประมาท แล้วไม่ขวนขวาย ไม่เข้าใจวิถีแห่งกรรม
กูน่ะ อยากกลับไปอยู่บ้านกูจริงจริ๊ง บ้านกูที่มีแต่แสงสว่างเรืองรอง มองใครก็มีใบหน้าสดใส มีกุศลกรรมอำไพ มีจิตใจโปร่ง เบา ใส สบาย
ลงมาอยู่บ้านหลังนี้แล้ว โอ๊ย ทึบ มืดตึ๊บ มองที่ไหนก็มึนตึ๊บ ไม่เห็นแสง อับเฉา ต๊าย ตายๆๆ ...
******
เมื่อกี้เราพูดแต่เรื่องกุศลกรรมกับอกุศลกรรม แต่มาปิดท้ายตรงคำว่า เฉยๆ
ข้อนี้น่าจะวิสัชนาให้แจ่มชัด
กรรม "เฉยๆ" มี ๒ อย่าง
เฉยๆ เพราะสันหลังยาว
เฉยๆ เพราะรู้ชัดตามความเป็นจริง แล้วไม่สร้างเวรกรรมต่อ ไม่สืบต่อกรรมนั้นๆ และไม่ทำกรรมนั้นๆ จึงเรียกว่า เฉยๆ
กรรมชนิดนี้ เรียกว่า 'อัพยากตกรรม' คือ กรรมที่วางเฉยด้วยสาเหตุแห่งการรู้ชัดตามความเป็นจริง
แต่ถ้า เฉย เพราะสันหลังยาว ไม่ขวนขวาย โง่เขลา รู้ไม่เท่าทัน
ถ้าเฉยแบบนี้เป็นคุณหรือเป็นโทษ? (เป็นโทษ)
เฉย เพราะสันหลังยาว แบบรู้ไม่เท่าทัน โง่เขลา มีมากกว่าเฉยเพราะรู้เท่าทันตามความเป็นจริงมั้ย? (มากกว่า)
ฉะนั้น ในกรรมทั้ง ๓ บริบท คือ กุศล อกุศล และเฉยๆ
ถ้าสามารถ เฉย เพราะรู้ชัดตามความเป็นจริงได้ เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เราจับวงล้อแห่งกรรมมายืดออก และเป็นเส้นตรง เราก็ไปอยู่ปลายข้างใดข้างหนึ่ง
ถ้าใช้สติ ปัญญา และไม่มัวเมาประมาท ก็เฉยแบบชนิดรู้ชัดตามความเป็นจริง ก็จะยืดวงล้อกลมๆ แห่งกรรม 12 ออกไปสองฝั่ง แล้วเราไปอยู่ปลายข้างใดข้างหนึ่ง
โดยเฉพาะ มโนกรรม ชั่วขณะจิตหนึ่งก็เป็นกรรมแล้ว
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ถ้าไม่อยากทำกรรม จง"รักษาจิต" ... ถ้าไม่อยากให้จิตเป็นมโนกรรม จง"รักษาจิต"
"รักษาจิต" จึงไม่เป็นกุศลกรรม และไม่เป็นอกุศลกรรม แต่เป็นกระบวนการทำงานของสติ ปัญญา สมาธิ ยังไม่ได้ลงมือทำกรรม
เป็นกระบวนการบริหารจัดการของคำว่า คุณธรรมแห่งสติ ปัญญา สมาธิ และคุณธรรมแห่งความไม่มัวเมาประมาท
คือกำลังบริหารจัดการจิตไม่ให้ไปฝืนกระทำกรรมในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
หลวงปู่พุทธะอิสระ
https://www.facebook.com/photo/?fbid=4937381012965667&set=a.380997495270731