เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอาชีพแพทย์ในเกาหลี
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอาชีพแพทย์ในเกาหลี
ภาพลักษณ์ของแพทย์ในเกาหลีเป็นไปในเชิงบวกมากๆ เหมือนกับที่ไทยที่คนเกาหลีจะรู้กันดีว่าการที่จะเป็นแพทย์ต้องเรียนหนักและมีความรู้เยอะมากๆและเป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดค่ะ
ข้อมูลตาม Healthcare Policy Korean Medical ที่เผยแพร่โดยสมาคมการแพทย์แห่งเกาหลี อาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่ได้รับความมั่นใจ 90.7% ในการประเมินความน่าเชื่อถือของอาชีพค่ะ
ด้วยเหตุผลนี้สถานะทางสังคมของแพทย์ในเกาหลีจึงสูงมาก นอกจากนี้เงินเดือนที่สูงทำให้เป็นหนึ่งในอาชีพที่เป็นเป้าหมายของนักเรียนและผู้ปกครองเกาหลีค่ะ
เส้นทางการเป็นแพทย์ในเกาหลี
การสอบเข้าคณะแพทย์
แน่นอนว่าขั้นแรกของการเป็นแพทย์คือการสอบเข้าคณะแพทย์ค่ะ การเข้าคณะแพทย์เป็นเรื่องยากมากๆ เพราะต้องเรียนหนักมากเป็นเวลา 3 ปีในโรงเรียนและต้องได้คะแนนดีในการสอบเข้าวิทยาลัยของเกาหลี (CSAT) โดยปกตินักเรียนที่ได้ที่ 1 ในโรงเรียนและหรือนักเรียนจำนวน 1% ของการสอบซูนึงเท่านั้นที่สามารถเข้าคณะแพทย์ได้ค่ะ
แก๊งค์หมอ 5 คนจากเรื่อง Hospital Playlist จบการศึกษาจาก Seoul National University ซึ่งในความจริงมีเด็กเพียง 0.01% เท่านั้นที่สามารถเข้าเรียนได้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องยากมากๆค่ะ
ชีวิตของนักศึกษาแพทย์ 6 ปี
การเรียนแพทย์ที่เกาหลีใช้เวลา 6 ปีเหมือนกับไทย โดย 2 ปีแรกเป็นการเตรียมความพร้อมเรียกว่า "예과" (เยกวา)
เป็นช่วงที่ต้องเรียนรู้วิชาพื้นฐาน เช่น ชีววิทยา, เคมี และสรีรวิทยาก่อนเรียนแพทย์เต็มรูปแบบ คะแนนในช่วงเวลานี้ไม่นับรวมในการสำเร็จการศึกษาจากคณะแพทย์ ดังนั้นนักศึกษาแพทย์จำนวนมากจึงมักจะเรียนแบบสบายๆในช่วง 2 ปีแรกค่ะ
หลังจากนั้นก็จะเริ่มการเรียนแพทย์อย่างจริงจัง โดยเริ่มต้นชีวิตในแผนกการแพทย์เรียกว่า "พนกวา" (본과) แต่ละมหาวิทยาลัยมีหลักสูตรแตกต่างกันเล็กน้อย แต่นักศึกษาต้องทำแบบทดสอบทุกๆ สองสัปดาห์ และเนื้อหาของข้อสอบก็ยากเกินกว่าที่จะจิตนาการได้เลยค่ะ
การเรียน"พนกวา"(본과) จะเริ่มตั้งแต่ปี 3 ซึ่งจะต้องเริ่มเข้าโรงพยาบาลจริงๆ เหมือนกับจาง ยุนบกกับจาง ฮงโดในเรื่อง Hospital Playlist ที่เพิ่งเริ่มเข้าโรงพยาบาลค่ะ
เพราะการเป็นแพทย์เป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคน คณะแพทย์จึงมีมาตรฐานที่เข้มงวดกว่าคณะอื่นๆ หากได้ F แม้แต่วิชาเดียวหรือถ้าเกรดเฉลี่ยของทุกวิชาต่ำกว่ามาตรฐานก็อาจจะถูกเชิญออก ทำให้ชีวิตการเป็นนักศึกษาแพทย์แทบไม่มีเวลาผ่อนคลายเลยค่ะ
การสอบใบประกอบวิชาชีพ
เมื่อจบชั้นปีที่ 2 และชั้นปีที่ 4 นักศึกษาต้องสอบเพื่อวัดระบบแห่งชาติ (เหมือนการสอบ ศรว.) ซึ่งเป็นการสอบเพื่อรับใบประกอบวิชาชีพ เป็นการสอบเพื่อวัดระดับว่าความสามารถขั้นพื้นฐานว่าเหมาะสมในการแพทย์หรือไม่?
เมื่อสอบผ่านก็จะได้รับใบประกอบวิชาชีพ และหลังจากนั้นก็จะเริ่มชีวิตการเรียนเฉพาะทางต่อไปค่ะ
ชีวิตการเป็นอินเทิร์น 1 ปี (แพทย์ฝึกหัก)
ขั้นแรกก่อนที่จะเป็นแพทย์เต็มตัวต้องผ่านการทำงานเป็นแพทย์ฝึกหัดที่โรงพยาบาลทั่วไปของมหาวิทยาลัยเป็นเวลา 1 ปี เหมือนตอนที่ 3 ของ Hospital Playlist ซีซั่น 1 มีฉากฝึกงานของคิม จุนวาน เข้ารับการผ่าตัดทรวงอกในฐานะผู้ช่วยศัลยกรรม และตัดสินใจเลือกเรียนด้านศัลยกรรมทรวงอก ดังนั้นในช่วงระยะเวลาฝึกงานจะต้องตัดสินใจว่าอยากเรียนเฉพาะด้านด้านไหนค่ะ
ชีวิตเรสซิเด้นท์ 4 ปี
หากตัดสินใจได้แล้วว่าจะเรียนเฉพาะทางด้านไหน จะต้องสอบวิชาเฉพาะ หลังจากนั้นต้องใช้คะแนนสอบนี้เพื่อใช้ประเมินผลการเรียน, คะแนนสอบวัดผลระดับชาติและคะแนนการฝึกงาน จากนั้นจะนำผลคะแนนทั้งหมดไปประเมินว่าจะสามารถเรียนเฉพาะทางได้หรือไม่ เหมือนกับหมอจาง กยออุล, โด แจฮัก, จู มินฮา , ฮอ ซอนมินในเรื่อง Hospital Playlist ค่ะ
การสอบเฉพาะทาง
เมื่อเป็นเรสซิเด้นท์ปี 4 จะต้องสอบเฉพาะทาง หลังจากสอบผ่านก็จะได้เป็นแพทย์เฉพาะทางแล้วค่ะ ซึ่งถือเป็นจุดที่แพทย์เกาหลีต้องเลือก 2 เส้นทางค่ะ
อย่างแรกคือ เลือกเป็นแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชนหรือเปิดคลินิกเป็นของตัวเอง ทางที่ 2 คือเหมือนแก๊งค์คุณหมอทั้ง 5 คนที่เลือกอยู่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและได้รับเงินเดือนเป็นอัตราจ้างค่ะ
เหมือนกับอิกจุน ที่อยากเป็นอาจาร์ยแพทย์ของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย จะต้องผ่านการเป็นเฟลโล่อีก 2 ปีค่ะ
รวมๆแล้วการเป็นแพทย์เหมือนในเรื่อง Hospital Playlist ต้องใช้เวลาเรียนมหาวิทยาลัย 6 ปี, อินเทิร์น 1 ปี, เรสซิเด้นท์ 4 ปี, เฟลโล่ 2 ปี, รวมทั้งหมด 13 ปีเพื่อที่จะเรียนแพทย์ค่ะ
เงินเดือนของแพทย์เกาหลี
สงสัยหรือเปล่าว่าแพทย์เกาหลีได้เงินเดือนเท่าไหร่?
ระหว่างการเป็นอินเทิร์นและเรสซิเด้นท์จะได้เงินเดือนประมาณ 3.50 - 4 ล้านวอน (100,000 - 120,000 บาท) ซึ่งเทียบเท่ากับเงินเดือนเริ่มต้นของพนักงานใหม่ที่เข้าทำงานในบริษัทขนาดใหญ่ แต่ชั่วโมงทำงานต่างกันมากค่ะ
หลังเรียนจบแล้วได้เงินเดือนเท่าไหร่ ?
จากการสำรวจสถานะสุขภาพและการแพทย์แห่งชาติโดยกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการที่เผยแพร่ในปี 2018 ค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนของแพทย์ที่ทำงานในสถาบันการแพทย์ทั่วประเทศอยู่ที่ 13 ล้านวอนหรือประมาณ 156 ล้านวอนต่อปี (ประมาณ 4.5 ล้านบาท) เมื่อพิจารณารายได้เฉลี่ยต่อเดือนของพนักงานออฟฟิศโดยเฉลี่ยที่ประกาศโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านวอน ก็ถือว่าเงินเดือนแพทย์มากกว่าเงินเดือนทั่วไปประมาณ 4 เท่าค่ะ
ชั่วโมงการทำงานของแพทย์เกาหลี
ชั่วโมงการทำงานของแพทย์ฝึกหัดและเรสซิเด้นท์ก่อนที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญนั้นยาวนานมาก เนื่องจากในฐานะแพทย์ฝึกหัดพวกเขาต้องรักษาผู้ป่วยที่รับผิดชอบ, ฝึกอบรมและเรียนไปด้วย เป็นสภาพแวดล้อมการทำงานที่แย่ที่สุดในระบบการแพทย์ของเกาหลีค่ะ
ตามกฎหมายแรงงานของเกาหลี ชั่วโมงการทำงานสูงสุดต่อสัปดาห์ คือ 52 ชั่วโมง แต่สำหรับแพทย์ฝึกหัดและเรสซิเด้นท์ต้องทำงาน 88 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เมื่อต้นปี 2019 มีกรณีการเสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินไปหลังจากทำงาน 36 ชั่วโมงโดยไม่หยุดพักค่ะ
หลังจากที่เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว อะไรๆก็ดีขึ้นมาก ชั่วโมงการทำงานคงที่คือ 8 ชั่วโมงต่อวันหรือ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จากผลการสำรวจของสมาคมแพทย์โรงพยาบาลเกาหลี แพทย์ทำงานโดยเฉลี่ย 47 ชั่วโมงหรือมากกว่าต่อสัปดาห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศัลยแพทย์ในโรงพยาบาลทั่วไปทำงานโดยเฉลี่ย 71 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ค่ะ
เพราะนอกจากงานที่ทำในช่วงเวลาทำงานปกติแล้ว จะมีเคสฉุกเฉินไม่หยุดหย่อน ดังนั้นแพทย์ตัวจริงจึงบอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่แก๊งค์หมอ 5 คนที่ทำงานในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยจะมีเวลาในการเล่นดนตรีเหมือนในซีรีส์ค่ะ
cr. 청년의사
ในเกาหลีมีจำนวนคนไข้ 1,000 คนต่อแพทย์ 2.3 คน ซึ่งตัวเลขนี้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ประมาณ 1.2 คนตามที่กำหนดเอาไว้ที่ 3.5 คน และต่ำที่สุดในบรรดา 36 ประเทศสมาชิก ตามที่อธิบายไว้ข้างต้น แพทย์มักจะต้องทำงานหนักเกินไป
ส่วนใหญ่แพทย์มักจะทานอาหารในโรงอาหารสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ แทบจะไม่มีเวลาในการสั่งอาหารพิเศษเลยค่ะ
นอกจากนั้น รามยอน, ขนมปัง, ขนมขบเคี้ยว ก็กลายเป็นอาหารสำหรับแพทย์ที่ยุ่งมากๆ โดยเฉพาะอินเทิร์นและเรสซิเด้นท์ที่ต้องทำงานหนักสุดๆค่ะ
cr. 중앙일보
ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังต้องอดหลับอดนอน หรือได้นอนแค่ช่วงเวลาสั้นๆเท่านั้น นั้นเพราะพวกเขาได้รับเงินเดือนที่สูงมากๆดังนั้นจึงต้องทำงานหนักมากเช่นกัน ถือเป็นงานที่ยากมากๆเลยว่ามั้ยคะ?