ถึงเวลาที่ “เงินเดือน” ควรเป็นเรื่องเปิดเผยได้แล้วหรือยัง
“ห้ามบอกเงินเดือนใครนะ” เป็นเหมือนวัฒนธรรมองค์กรอย่างหนึ่งที่ HR มักจะบอกพนักงานทุกคนว่า
ห้ามมีการพูดคุย หรือ ถามเรื่องเงินเดือนกัน บางที่จริงจังหนักถึงกับมีการลงโทษหากมีการถามเงินเดือนกันด้วยซ้ำ
แต่วัฒนธรรมนี้อาจจะกำลังเปลี่ยนไปในปี 2022 นี้ เมื่อล่าสุด New York City ประกาศกฎหมายบังคับให้นายจ้างทุกคนต้องระบุหรือแจ้งเงินเดือนเมื่อรับพนักงานใหม่ ประกอบกับแนวความคิดที่ต้องการสร้างความเท่าเทียมกันทั้งด้าน เพศ หรือ เชื้อชาติ ทำให้พนักงานออกมาเรียกร้องให้เกิดความเท่าเทียมกันด้าน “เงินเดือน” หรือ “ค่าจ้าง” ด้วย
เบื้องหลังความจริงที่องค์กรไม่ค่อยอยากจะให้แต่ละคนได้รับรู้ถึงเงินเดือนของกันและกันก็เพราะกลัวว่าจะเกิดการเปรียบเทียบและอิจฉากัน อย่างไรก็ตาม Diane Domeyer กรรมการผู้จัดการของบริษัท Robert Half บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการได้ออกมาให้ข้อมูลกับ LinkedIn ว่า การเปิดเผยเรื่องเงินเดือนภายในองค์กรจะช่วยรักษาพนักงานคนเก่าๆ ไว้และทำให้บริษัทรอดพ้นจาก The Great Resignation ได้ เพราะเป็นการประกาศให้พนักงานได้รู้ถึงความพยายามในการสร้างความเท่าเทียมภายในองค์กร
ทำไมต้องแสดงความโปร่งใสด้านเงินเดือน
พนักงาน “อาจจะ” มีความสุขมากขึ้น ที่เราใช้คำว่า “อาจจะ” เพราะยังไม่มีการทำการสำรวจในเชิงลึก แต่จากข้อมูลขององค์กรที่ประกาศทั่วกันว่าใครได้เงินเดือนเท่าไหร่ ผลปรากฏว่าพนักงานทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีความพึงพอใจมากขึ้น
บริษัทสามารถลดช่องว่างของเงินเดือนพนักงานได้ดีขึ้น หลายการสำรวจพบว่า ถ้าพนักงานรู้สึกว่าตัวเองได้รับเงินเดือนที่ “ยุติธรรม” มากพอ พวกเขาก็รู้สึกพอใจ โดยคำว่า “ยุติธรรม” ไม่ได้แปลว่าจะต้องจ่ายเท่ากันเป๊ะๆ แต่หมายถึง เหมาะสมกับตำแหน่ง ประสบการณ์ และค่าครองชีพ
บริษัทสามารถควบคุมการพูดต่อได้ เพราะการปิดเรื่องเงินเดือนเป็นความลับ บางครั้งอาจสร้าง “ข่าวลือ” ที่ทำให้เกิดความไม่พอใจหรือการเมืองภายในได้ง่าย เช่น “ฉันได้ยินมาว่า นาย เอ ได้เงินเดือนมากกว่า นาย บี แต่นาย บี ทำงานดีกว่าเห็นๆ” แต่ความจริงแล้ว นาย เอ กับ นาย บี ได้เงินเดือนพอๆ กัน ก็อาจสร้างความเข้าใจผิดภายในหมู่พนักงานได้ อย่าลืมว่า ความลับไม่มีในโลก และการพูดต่อทำให้เรื่องผิดเพี้ยนได้ง่าย
แต่ถ้าคุณอ่านมาถึงตรงนี้ แล้วคิดจะป่าวประกาศเงินเดือนให้ทุกคนในบริษัทรู้ในทันทีเลยก็ไม่ใช่เรื่องดีนัก เพราะบริษัทเองจะต้องมีมาตรการรองรับที่ชัดเจน เช่น อะไรคือมาตรวัดที่ชัดเจนในการให้เงินเดือน หรือ ขึ้นเงินเดือนใครสักคน หรือ ทำไมบางคนถึงได้รับเงินเดือนสูงกว่าคนอื่นๆ ไม่เช่นนั้น คนที่ได้เงินเดือนน้อยกว่าอาจจะพยายามเรียกร้องขอขึ้นเงินเดือน โดยไม่ได้ดูประสิทธิภาพในการทำงานของตัวเอง หรือแย่ไปกว่านั้น
คนที่รู้สึกว่าตัวเองได้เงินเดือนน้อยกว่าคนอื่น อาจจะรู้สึกด้อยค่า จนทำงานแบบเช้าชามเย็นชามก็เป็นได้
ดังนั้น การเปิดเผยเรื่องเงินเดือนในบริษัทมาถึงจุดเปลี่ยนแล้ว และกำลังเป็นเทรนด์ที่หลายๆ บริษัทเริ่มปรับใช้เพื่อสร้างความรู้สึกเท่าเทียมกันภายในหมู่พนักงาน ซึ่งความเท่าเทียมนี้จะเข้าไปแทนที่ความรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับการจ่ายเงินที่เพียงพอต่อความสามารถที่แท้จริงเสียที