ผู้ชายนอกใจไม่ใช่เรื่องแปลก
ผู้ชายนอกใจไม่ใช่เรื่องแปลก
จากกรณีข่าวของ ธัญญ่า ธัญญาเรศ ดาราสาวชื่อดังที่มีประเด็นข่าวกับนักศึกษาสาวฝึกงานว่าเป็นชู้รักของสามีมากว่า 3 ปี ลุกลามไปสู่การขู่ฟ้องในคดีคุกคามเด็ก ประเด็นการนอกใจของสามี-ภรรยา มีให้พบเห็นบ่อยครั้งในสังคม กรณีของข่าวธัญญ่า ที่มีบทบาทเป็นแม่และเป็นภรรยา นำสู่การเป็นประเด็นร้อนในโซเชียลที่ผู้คนส่วนมากไม่เห็นด้วย และต่างตั้งคำถามถึงความเท่าเทียมทางเพศ ระหว่างเพศชายและเพศหญิง ซึ่งถ้าหากจะหาคำตอบกับความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้จริงๆ คงจะต้องทำความเข้าใจกับข้อมูลเหล่านี้เสียก่อน
ความเสมอภาคทางเพศหรือความเท่าเทียมระหว่างเพศเป็นเรื่องของมนุษย์ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะ ที่มีสิทธิในความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ความเสมอภาคของผู้ชาย ผู้หญิงและเพศอื่นๆ ในทุกด้าน ทั้งด้านสิทธิ หน้าที่ การมีส่วนร่วมทางการเมืองและเศรษฐกิจ ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ที่ระบุความหมายของการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศอย่างชัดเจน ครอบคลุมถึงบุคคลที่มีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด (มาตรา 3) และได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558
ด้วยความไม่เท่าเทียมทางเพศในบางด้าน ที่มีมาตั้งแต่อดีตที่ยังมีอยู่บ้างในปัจจุบัน ทำให้เกิดเป็นความขัดแย้ง นำมาสู่การรวมตัวออกมาเรียกร้อง อย่างเช่น การเรียกร้องสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งของผู้หญิงในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 17-19 จนนำสู่การเกิดเป็นแนวคิดสตรีนิยม ซึ่งแบ่งพัฒนาการออกเป็นสามช่วง คลื่นลูกที่หนึ่งเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 17-19 เกิดจากการเรียกร้องสิทธิความไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชาย รวมทั้งความเป็นอิสระของผู้หญิง ขบวนการเคลื่อนไหวของผู้หญิงที่สำคัญในช่วงนี้ คือ การเรียกร้องสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งของผู้หญิงในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา จนประสบความสำเร็จในช่วงต้นศตวรรษที่ 20
คลื่นลูกที่สอง เริ่มขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1960 จนถึงทศวรรษที่ 1990 ด้วยกระแสการต่อต้านที่รุนแรงขึ้นมาจากช่วงที่หนึ่งนำสู่การพัฒนาการเป็นคลื่นลูกที่สอง โดยก่อนหน้านี้นักเขียนหญิงชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ ซิโมน เดอ โบวัวร์ ได้ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง The Second Sex ในปี 1949 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อสตรีตลอดยุคสมัยต่าง ๆ และคนเราไม่ได้เป็นกุลสตรีมาโดยกำเนิด แต่ได้ถูกบ่มเพาะให้เป็นในภายหลัง ซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับเสียงชื่นชมจากผู้หญิงที่ถูกบีบคั้นจากความคาดหวังและค่านิยมของสังคมว่าผู้หญิงควรสงบปากสงบคำและวางตัวให้เรียบร้อย ซึ่งก็ได้มีกลุ่มที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เดอ โบวัวร์ และแนวคิดสตรีนิยมว่าความรุนแรงและความเกรี้ยวกราดไม่ใช่หน้าที่หรือพฤติกรรมของกุลสตรี ขบวนการในคลื่นลูกที่สองจึงมุ่งเน้นเรื่องการต่อสู้เพื่อยุติปัญหาการกีดกันและการกดขี่ทางเพศ
คลื่นลูกที่สาม เกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1980 จนถึงปัจจุบัน เกิดจากการที่ผู้หญิงรุ่นใหม่เห็นด้วยกับแนวคิดสตรีนิยมรุ่นเก่าน้อยลง เพราะสังคมที่เปลี่ยนไป และมีการตั้งคำถามถึงบทบาทตามเพศ (gender roles) การเรียกร้องที่สำคัญของสตรีนิยมคลื่นลูกที่ 3 คือ การมีบทบาทตามเพศที่ตายตัวมีส่วนสร้างความไม่เท่าเทียมในสังคมและเป็นการจำกัดทางเลือกและอิสรภาพในการแสดงความคิดเห็นของปัจเจกบุคคลในเรื่องเพศ คลื่นลูกที่ 3 จึงให้ความสำคัญของความหลากหลายในสังคม ทั้งมิติเพศสภาพ ชนชั้น เชื้อชาติ วัฒนธรรมที่หลากหลาย
กล่าวโดยสรุปก็คือ บทบาทของผู้หญิงที่ต้องเป็นแม่ เป็นภรรยา ล้วนแล้วแต่ถูกกำหนดมาจากวัฒนธรรมและสังคม ทุกช่วงชีวิตของผู้หญิงต่างถูกหล่อหลอมว่าการถูกเอาเปรียบในบางเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เช่น เรื่องที่ผู้ชายสามารถมีภรรยาได้หลายคน แต่หากผู้หญิงกระทำเช่นเดียวกันนั้นกลับกลายเป็นเรื่องที่ผิด หรือแม้กระทั่งการที่ผู้หญิงบางคนที่ทำงานนอกบ้านและกลับมาทำงานบ้านก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติในสังคม ซึ่งมีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่เต็มใจที่จะยอม และปฏิบัติแบบนี้ต่อไปตามประเพณีและวัฒนธรรม ในปัจจุบันเรื่องนี้ยังมีการถกเถียงกันอยู่มาก บางคนมองเป็นเรื่องปกติที่ยอมรับได้ บางคนมองเป็นเรื่องใหญ่ที่ยอมรับไม่ได้
อย่างไรก็ตามผู้หญิงทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชาย และไม่ควรมีใครต้องทุกข์เพราะการมีรัก รักที่ดีอาจไม่ใช่รักแรก หรือรักเดียว เราทุกคนสามารถเลือกทางเดินที่ดีให้กับตัวเองได้ อยู่ที่ว่าเราจะยอมรับให้ใครกระทำกับเราหรือไม่ จงรักอย่างมีสตินะคะ
อ้างอิงจาก: https://www.bbc.com/thai/international-53153218