คนไทยมีอายุเฉลี่ย 40 แล้ว
คนไทยมีอายุเฉลี่ย หรืออายุมัธยฐาน 40 ปีแล้ว อายุเฉลี่ยหรืออายุมัธยฐาน หมายถึง อายุค่ากลางเมื่อนำเอาอายุคนไทยแต่ละคนมารวมกัน หารด้วยจำนวนประชากรในขณะนั้น การที่คนไทยมีอายุขึ้นหลักสี่ เกิดเนื่องจาก สังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ มีคนแก่เยอะ จากเทคโนโลยีการแพทย์ที่เจริญขึ้น ขณะที่จำนวนเด็กก็ลดน้อยลง จากอัตราการเกิดลดลง ภาพแบบนี้ เวลาเราเดินไปไหน จะเห็นคนแก่มากขึ้น อายุมากขึ้น 80-90 ปีอาจเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนแก่สมัยนี้ แต่การที่จำนวนคนแก่เพิ่มมากขึ้น คนแก่จะเข้าสู่วัยเกษียณ ไม่ได้ทำงาน ไม่มีรายได้ ขณะที่คนวัยหนุ่มสาวที่เข้าสู่วัยแรงงานก็จะลดลงเรื่อยๆ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ที่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรมนุษย์ ผมเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ แรงงานคนที่ขาดแคลนจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ ดังที่เราได้เห็นแล้วในร้านอาหารหลายร้านที่นำเอาหุ่นยนต์มาใช้ในการเสิร์ฟแทนคนมากขึ้นเรื่อยๆ
ในภาคการผลิต ตามโรงงานขนาดใหญ่ก็เช่นเดียวกันกับภาคบริการ โรงงานสมัยนี้ นิยมใช้หุ่นยนต์เครื่องจักรในการผลิต และการบรรจุ ทำให้โรงงานใช้แรงงานคนน้อยลงเรื่อยๆ ในอนาคตภาพของการอยู่ร่วมของคนกับหุ่นยนต์จึงเป็นภาพที่เป็นไปได้อย่างไม่ต้องสงสัย เราอาจเห็นหุ่นยนต์ตามท้องถนนมากขึ้นเรื่อยๆ เข้ามาแทนในหลายอาชีพ ทั้งในการขนส่งสินค้า การให้บริการตามร้านอาหาร รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยหุ่นยนต์เต็มท้องถนน โปรแกรมอัตโนมัติที่ให้บริการในการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ สาขาธนาคารขนาดเล็กที่ไม่มีพนักงานให้บริการอยู่เลย ภาพพวกนี้จะกลายเป็นภาพปกติในสังคมเราในไม่ช้า
หันมาดูภาพสังคมของการที่คนไทยมีอายุมาก การแต่งงานก็ช้าลง เราได้เห็นคนอยู่เป็นโสดคนเดียวมากขึ้นมาก หากอยู่ตามเมืองใหญ่ในกรุงเทพก็อยู่ตามคอนโด คนจะมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันลดลง ความต้องการที่อยู่อาศัยก็ลดลงตามไปด้วย สังคมเดี่ยวที่อยู่ด้วยตัวคนเดียวจะเกิดความเหงาในการใช้ชีวิต หากอยู่ในสังคมชนบท จำนวนคนแก่จะเพิ่มมากขึ้นแต่ไม่ค่อยมีลูกหลานดูแล มีโรคประจำตัวมาก แรงงานสูงอายุไม่ได้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในเมืองใหญ่ สภาพแวดล้อมแบบนี้ คนจะมีแนวโน้มของการเป็นโรคซึมเศร้าได้ง่ายมาก ผมเชื่อว่า โรคนี้จะเป็นโรคที่คนทั้งโลกจะต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้