ฝากครรภ์ครั้งแรกตรวจอะไรบ้าง
ในการฝากครรภ์ครั้งแรก คุณหมอจะยืนยันการตั้งครรภ์ของคุณแม่ และกำหนดวันคลอดมาให้ ถ้าทำอัลตราซาวด์ คุณแม่ก็จะได้เห็นลูกตัวน้อย ๆ ขยับไปมาอยู่ในท้อง และถ้าคุณแม่มีอายุมากกว่า 35 ปี คุณหมออาจแนะนำให้รับการตรวจคัดกรองสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
ทั้งนี้ ตามมาตรฐานกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในการฝากครรภ์คุณแม่จะได้รับการบริการ ฝากครรภ์คุณภาพ 10 อย่างดังนี้
- ก่อน 12 สัปดาห์: ได้รับการฝากครรภ์ครั้งแรกก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ซึ่งจะมีนัดหมายมาฝากครรภ์ต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ครั้ง ตามอายุครรภ์ดังนี้
ครั้งที่ 1 : อายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์
ครั้งที่ 2 : อายุครรภ์ 18 สัปดาห์
ครั้งที่ 3 : อายุครรภ์ 26 สัปดาห์
ครั้งที่ 4 : อายุครรภ์ 32 สัปดาห์
ครั้งที่ 5 : อายุครรภ์ 38 สัปดาห์
- คัดกรองความเสี่ยง: ได้รับการคัดกรองความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ คุณแม่ที่มีความเสี่ยงจะได้รับการส่งต่อแพทย์ดูแลโดยเฉพาะ
- ตรวจโรคถ่ายทอดทางพันธุกรรม: ตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันเมื่อมีข้อบ่งชี้โรคถ่ายทอดทางพันธุกรรม ได้แก่ โรคธาลัสซีเมีย ดาวน์ซินโดรม ภาวะพร่องไทรอยด์แต่กำเนิด คัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- ตรวจร่างกายเบื้องต้น: ได้แก่ ตรวจอนามัยในช่องปาก ตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจอัลตร้าซาวด์ ตรวจครรภ์ ประเมินอายุครรภ์ ซึ่งคุณแม่จะได้เห็นพัฒนาการของทารกในครรภ์
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยสมัครใจ: Hct, CBC, VDRL, Albumin/Sugar, HBsAg, ธาลัสซีเมีย,
เอดส์ และแจ้งผลเลือดแก่หญิงตั้งครรภ์/สามี พร้อมทั้งให้การปรึกษาเกี่ยวกับผลการตรวจเลือด
- การตรวจปัสสาวะ: โดยใช้ Multiple dipstick Test เพื่อคัดกรองภาวะ Asymptomatic
Bacteriuria (ASB) ซึ่งเป็นภาวะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงตรวจภายในเพื่อตรวจความผิดปกติและการติดเชื้อในช่องคลอด (เป็นการตรวจตามความสมัครใจและไม่มีข้อห้าม)
- ฉีดวัคซีน: ฉีดวัคซีนขณะตั้งครรภ์ป้องกันโรคคอตีบบาดทะยัก
- อาหารและวิตามินเสริมขณะท้อง: คุณแม่จะได้รับการประเมินพฤติกรรมการบริโภคอาหาร แจ้งและอธิบายผลการประเมิน ให้คำแนะนำการบริโภคอาหารขณะตั้งครรภ์ จ่ายยาเม็ดเสริมไอโอดีน ธาตุเหล็ก และโฟเลตในหญิงตั้งครรภ์ตลอดการตั้งครรภ์ และควรได้รับโฟเลต (Folic acid) ขนาด 400 ไมโครกรัมต่อวัน ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์จนถึงอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ เพื่อลด Neural tube defect ของทารก ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดความผิดปกติต่อระบบประสาทแต่กำเนิด
- ให้ความรู้รายกลุ่ม: การให้ความรู้ตามมาตรฐานโรงเรียนพ่อแม่รายกลุ่ม พร้อมข้อแนะนำที่หญิงตั้งครรภ์จะนำไปเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนได้ด้วยตนเอง
- สายด่วน: จัดให้มีช่องทางติดต่อระหว่างผู้รับบริการกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข/หน่วยบริการที่ฝากครรภ์ ได้ 24
ชั่วโมง เพื่อให้การช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินอย่างทันท่วงที
การเตรียมตัว ฝากครรภ์ครั้งแรก
- จดบันทึกวันที่ประจำเดือนครั้งล่าสุดเพื่อให้ง่ายต่อการคำนวณวันครบกำหนดคลอด โดยใช้วันที่ประจำเดือนมาวันแรก
- ในการมาพบแพทย์ควรพาสามีหรือบุคคลในครอบครัวมาด้วย
- เตรียมตอบคำถามเกี่ยวกับประวัติตั้งครรภ์ ประวัติการแท้ง การใช้ยาคุมกำเนิด การแพ้ การใช้ยาต่าง ๆ ประวัติการผ่าตัด และโรคประจำตัว
- สอบถามบุคคลในครอบครัวเกี่ยวกับโรคทางพันธุกรรม
- สอบถามครอบครัวฝ่ายสามีเกี่ยวกับโรคทางพันธุกรรม
คุณแม่สามารถเปิดคู่มือการฝากครรภ์ได้ที่นี่ ซึ่งจะแนะนำข้อมูลเบื้องต้นในการฝากครรภ์แต่ละครั้ง คำถามที่คุณแม่ควรเตรียมมาถามคุณหมอ และการเตรียมตัวมาฝากครรภ์ในแต่ละครั้งอย่างละเอียด
อ่านเพิ่มเติม
ร่วมมือกับคุณหมอสร้างครรภ์ที่มีคุณภาพ – บทสัมภาษณ์อย่างละเอียดจากสูตินรีแพทย์
การตรวจคัดกรองความผิดปกติทางพันธุกรรมในระหว่างการตั้งครรภ์
อ้างอิงจาก: Source
American Pregnancy Association
Mayo Clinic
Web MD
สำนักงานเขตสุขภาพที่ 9 กระทรวงสาธาณสุข, การฝากครรภ์คุณภาพและการปฏิบัติตัวขณะตั้งครรภ์ http://164.115.22.73/r9health/wp-content/uploads/2020/07/4-การฝากครรภ์คุณภาพและการปฏิบัติตัวขณะตั้งครรภ์.pdf