22 กันยายน "วันแรดโลก" (World Rhino Day) ร่วมอนุรักษ์และต่อต้านการล่านอแรด
วันแรดโลก” ในวันที่ 22 กันยายน ในแต่ละวันจะเป็นวันสำคัญของโลก ซึ่งระลึกถึงบุคคล หรือเรื่องราวสำคัญที่น่าจดจำ และในวันที่ 22 กันยายน เป็นวันสำคัญอะไรนั้น ได้รวบรวมเรื่องราวของ “แรด” ในวันแรดโลก (World Rhino Day) มาเล่าสู่กันฟังในบทความนี้
ประวัติและที่มา “วันแรดโลก” ในวันที่ 22 กันยายน
วันอนุรักษ์แรดโลก (World Rhino Day) เริ่มต้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มนุษย์ตระหนักถึงการล่าแรดสายพันธุ์ต่างๆ จนใกล้สูญพันธุ์ และบางประเทศก็ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว จากความเชื่อที่ว่า นอแรดเป็นยา นั้น เมื่อพิสูจน์องค์ประกอบทางสารเคมีแล้วก็พบว่าเป็นโปรตีนที่ไม่ต่างจากเส้นผมของมนุษย์
“แรด” เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์จัดอยู่ในบัญชีไซเตส ในประเทศไทยเหลือเพียงตัวเดียวที่สวนสัตว์เชียงใหม่เท่านั้น ชื่อ “กาลิ” ถือว่าอยู่ในวัยชรา ซึ่งอายุขัยเฉลี่ยของแรดอยู่ที่ 40 ปี และเป็นสัตว์เลือดอุ่นที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก รองจากช้างนั่นเอง
องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย เผยว่าครั้งหนึ่งประเทศไทยเคยพบแรดชวา และแรดสุมาตรา (หรือที่เรียกว่ากระซู่) ในธรรมชาติ จากหลักฐานพบครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2540 ปัจจุบันได้สูญพันธุ์ไปแล้วจากประเทศไทย โดยเคยพบที่รอยต่อระหว่างจังหวัดยะลา และนราธิวาส
จำนวนแรดที่เหลือทั่วโลก มีอยู่ราว 30,000 ตัว โดยส่วนใหญ่เป็นแรดขาว รองลงมาคือ แรดดำ และแรดอินเดีย
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ประจำประเทศไทย หรือ WWF รายงานการพบแรดไว้ดังนี้
แรดอินเดีย 3,300 ตัว
แรดดำ 5,000 ตัว
แรดขาว 20,400 ตัว
แรดชวา 44 ตัว
ทำไมต้องอนุรักษ์ “แรด” ในวันแรดโลก
จำนวนประชากรแรดที่ลดลง จนใกล้สูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ ถือได้ว่าเกิดจากฝีมือล่าของมนุษย์ ที่นำชิ้นส่วนอวัยวะของแรดไปใช้ประโยชน์ส่วนตน โดยเฉพาะ นอแรดที่เชื่อว่าเป็นยา และส่วนหนึ่งนำไปเป็นเครื่องประดับ
"แรด" ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ป่าสงวนขึ้นบัญชีหมายเลข 1 ไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 ปัจจุบันการล่าแรดก็ทำให้แรดสูญพันธุ์ไปแล้วจากประเทศไทย ในอดีตเคยพบแรดที่ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และแรดตัวสุดท้ายในละแวกนี้ที่พบคือ “แรดชวา” ที่ถูกสังหารในปี พ.ศ. 2553 ที่ประเทศเวียดนาม
ตลาดการค้าขายนอแรดใหญ่ที่สุดพบที่ประเทศเวียดนาม การจัดวันแรดโลกขึ้น ถือเป็นการปลูกฝังค่านิยมให้คนรุ่นใหม่ เลิกความเชื่อการล่าเอานอแรดมาทำเป็นยาและเครื่องประดับ เพื่อลดใช้สิ่งของที่นำมาจากการล่าสัตว์ป่าเพื่อประโยชน์ของมนุษย์
อ้างอิงจาก: http://www.zoothailand.org/ewt_news.php?n_id=4179#prettyPhoto