10 สุดยอดตะกรุดที่นิยม
ตะกรุดเป็นคำนามหมายถึงแผ่นโลหะที่แผ่แล้วม้วนกลมๆ ลงอักขระเลขยันต์คาถาอาคม ว่ากันว่าตามถนัดของแต่ละเกจิอาจารย์ นอกจากจะลงในแผ่นโลหะแล้วก็ยังลงในใบลาน ใบตาล หนังหน้าผากเสือ หนังควายเผือกแล้วม้วนกลมๆ
ประโยชน์ของตะกรุด ก็คือเป็นเครื่องรางของขลัง เพื่อความเข้มขลัง ศักดิ์สิทธิ์ ดีในทางแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี ป้องกันภยันตราย ภัยพิบัติทั้งปวง รวมทั้งด้านเมตตามหานิยม ค้าขาย โชคลาภ กลับดวง พลิกชะตา เลื่อนยศ ร้ายกลายเป็นดี ฯลฯ
1. ตะกรุดมหาโสฬสมงคล หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง นนทบุรี
หลวงปู่เอี่ยมได้จารอักขระสูตรมหาโสฬสมงคลด้านหนึ่ง อีกด้านจะจารสูตรพระไตรสรณคมน์ และหลวงปู่เอี่ยมยังปลุกเสกอีก ๓ พรรษา ตะกรุดของหลวงปู่เอี่ยมจะมีการถักเชือกหุ้มและพอกด้วยผงพุทธคุณ
แล้วจึงลงรักทับไว้อีกทีหนึ่ง ตะกรุดที่ท่านสร้างไว้มีทั้งชนิดที่เป็นเนื้อตะกั่ว และเป็นเนื้อทองแดง พุทธคุณเด่นทางด้าน คงกระพันชาตรี แคล้วคลาด และเมตตามหานิยม ครบเครื่อง มีประสบการณ์มากมายมาตั้งแต่โบราณ จึงเป็นที่เสาะหากันอย่างมาก
2. ตะกรุด หลวงปู่กุน วัดพระนอน เพชรบุรี
อดีตถ้ากล่าวถึงตะกรุดที่มีราคาแพงที่สุด คงหนีไม่พ้นตะกรุดของหลวงปู่กุน วัดพระนอน ซึ่งเป็นตะกรุดสุดเข้มขลัง ตะกรุดมหาระงับ นารายณ์สะกดทัพ และอื่นๆอีกมากมาย เรียกได้ว่านักเลงในสมัยก่อนยังนำตะกรุดของหลวงปู่
ไปลองแขวนไว้ที่เสาบ้านใคร เป็นได้หลับไม่ตื่นกันทั้งบ้าน จะทำเสียงดังอย่างไรก็ไม่ตื่นกันเลย นั่นเพราะตะกรุดที่ท่านได้สร้าง ได้ลงอักขระไว้สะกดให้ทุกคนในบ้านหลับไม่ตื่นนั้นเอง ขออย่างเดียวอย่าไปขโมยของเขา ถ้าไปขโมยของเขาก็จะใช้ไม่ขึ้น
3. ตะกรุด หลวงปู่เงิน วัดบางคลาน พิจิตร
ตามบันทึกเล่าว่า หลวงปู่เงิน ท่านได้สร้างตะกรุด โดยลงยันต์ อะสิสัตติ ฯ หรือยันต์คู่ชีวิตเช่นกัน ซึ่งหลวงปู่เงินท่านได้ไปเล่าเรียนวิชาอาคมนี้ มาจากหลวงปู่โพธิ์ วัดวังหมาเน่า มาทั้งหมด วัดวังหมาเน่ากับวัดบางคลาน นั้นอยู่ไม่ไกลกันมากนัก
ตะกรุดของหลวงปู่เงิน มีขนาดค่อนข้างเขื่องอยู่เหมือนกัน คือ ยาวประมาณ ๓-๔ นิ้ว และค่อนข้างอวบอ้วนสักหน่อย ลักษณะของตะกรุด หลวงปู่เงินท่านจะสร้างคล้ายๆ ของ หลวงปู่โพธิ์ คือ เป็นตะกรุดที่ทำจากแผ่นตะกั่ว นำมาม้วนเสร็จก็ใส่แกนกลางด้วยตะกรุดอีกดอกหนึ่ง
4. ตะกรุด หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง พิจิตร
ตะกรุดของหลวงพ่อพิธมีชื่อเสียงเรียกว่าตะกรุดคู่ชีวิต ส่วนใหญ่ตะกรุดของท่านจะมีไส้กลางเป็นทองเหลือง เนื้อตะกรุดเป็นตะกั่วน้ำนมลงยันต์เป็นตาราง 5 ตาราง มีองค์พระอยู่ระหว่างตารางพอกตะกรุดด้วยผงวิเศษอีกชั้นหนึ่ง ก่อนนำมาถักเชือก แล้วลงรัก
ส่วนใหญ่ที่เจอจะเป็นลายจระเข้ขบฟัน ด้านพุทธคุณตะกรุดของท่านมีความศักดิ์สิทธิ์มากในเรื่องป้องกันอาวุธต่างๆจึงทำให้เป็นที่นิยมของศิษย์ในสมัยนั้นจวบจนถึงปัจจุบันนี้
5. ตะกรุด หลวงปู่เนียม วัดน้อย สุพรรณบุรี
หลวงปู่เนียม ท่านเป็นศิษย์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ซึ่งหลวงปู่เนียมเอง ท่านได้มีลูกศิษย์ที่เป็นพระเกจิดังอยู่ไม่น้อย อาทิ หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค หลวงพ่ออ่ำ วัดชีปะขาว
ซึ่งตามหลักฐานวัตถุมงคลที่ท่านสร้างส่วนใหญ่จะทำด้วยเนื้อตะกั่ว เช่น พระงบน้ำอ้อย พระพิมพ์เศียรโล้น รวมถึงตะกรดุ หลวงปู่เนียมท่านเกิดในสมัย ร.3 ท่านเป็นพระอาวุโสที่ญาติโยมนับถือกันเป็นอย่างมาก จนกล่าวได้ว่าท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบและมีวิทยาคมแก่กล้า
6. ตะกรุด หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ชัยนาท
ตามประวัติ ท่านจะทำตะกรุดใต้น้ำ ในวันเพ็ญเดือน๑๒ ของทุกๆปี ปีไหนตรงกับวันเสาร์ยิ่งดี ยิ่งแกร่ง เพราะเป็นวันแข็ง โดยท่านจะจุดเทียนลงไปจารในแม่น้ำหน้าวัดและที่หนองท่าเรือทอง เมื่อจารเสร็จจะปล่อยตะกรุดลอยขึ้นมาเหนือน้ำ
โดยร่างกายของท่าน ตลอดจนสบงจีวรที่ท่านสวมใส่จะไม่เปียกเลย จึงนับได้ว่า ตะกรุดหลวงปู่ศุข เป็นตำราที่ยากจะหาพระเกจิอาจารย์ท่านใดมาเสมอเหมือนได้ จึงไม่ต้องสงสัยว่า ทำไมทุกวันนี้ ตะกรุดของท่านจึงมีการซื้อขายกันในราคาที่แสนแพง
7. ตะกรุด หลวงปู่ปาน วัดบางเ...้ย ต.คลองด่าน สมุทรปราการ
ตะกรุดโทน หลวงปู่ปาน วัดบางเ...้ย นับเป็นตะกรุดที่หาได้ยากยิ่ง มักจะสืบทอดจากวงศ์ตระกูล ลักษณะของตะกรุดหลวงปู่ปาน เท่าที่พบเห็นส่วนใหญ่ จะเป็น "ตะกรุดเนื้อตะกั่ว" ชนิดตะกั่วเคี่ยว หรือตะกั่วทุบ
เนื้อตะกั่วจะนิ่มกว่าตะกั่วของพระเกจิทั่วไป สภาพเดิมๆ จะต้องมีการถักเชือก โดยขึ้นเชือกถักลายหนึ่ง แบบเดียวกับหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค แต่ต้องพิจารณาถึงอายุ เอกลักษณ์ วิถี กลิ่นไอ เรียกว่า ต้องมีประสบการณ์ตรงในการเช่าหาตะกรุดเก่าๆ จึงจะแยกแยะได้ออก
8. ตะกรุด หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง
หลวงปู่เอี่ยม ท่านลงด้วยยันต์มงกุฎพระเจ้า เสร็จแล้วจึงมีการพอกผงพุทธคุณ แล้วลงรัก ตะกรุดดอกนี้ ยาวประมาณ 5 นิ้ว โตประมาณ3หุน เก่าจัดดูง่ายมากๆ ถักเชือกลายเกลียวขึ้น 5เสา เชือกเก่าแห้งกรอบ สมกับอายุเป็น100 ปีขึ้นไป
ตะกรุดหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง ที่ถักเชือกลายแบบนี้ แถมยังขึ้นลายเกลียว5เสาอีก บางคนตีเป็นสายวัดสะพานสูงก็มี ซึ่งถ้าตีเป็นตะกรุดสายวัดสะพานสูงจริงๆ ดอกนี้คงไม่พ้นท่านปรมาจารย์หลวงปู่เอี่ยมแห่งวัดสะพานสูงแน่นอน ซึ่งนั่นหมายถึงว่าตะกรุดดอกนี้อาจมีราคาหลักแสนขึ้นไป
9. ตะกรุด หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี
ตะกรุดแกนตะกั่ว พันสายสินญ์ กลิ้งผงพุทธคุณทั้งดอก จุ่มรักยางไม้ผสมชาติ แดงได้ใจ ขนาด 3 นิ้ว สายสินญ์ถักเก่าผุเป็นผง แกนเนื้อตะกั่วชินสนิมแดง กรรมวิธีการสร้าง ท่านฯนำแผ่นตะกั่วทุบโบราณ ได้จากเศษตะกั่วและพระท่ากระดานชำรุด
ที่ท่านนำมาจากวัดท่ากระดาน มาจารอักขระหัวใจโลกธาตุขณะม้วนบริกรรมคาถากำกับ จากนั้นเอาผงวิเศษมากลิ้งกับตะกรุดและทำการลงรักหรือยางไม้ตามแต่จะหาได้ในท้องถิ่น ปลุกเสกตามฤกษ์ยามตามตำราโบราณ เสร็จพิธีจึงนำมาแจกแก่ลูกศิษย์ญาติโยมต่อไป
10. ตะกรุด หลวงปู่กลั่น วัดพระญาติ พระนครศรีอยุธยา
ตะกรุดที่ปลุกเสกโดยหลวงปู่กลั่น มีอยู่หลายรุ่น ส่วนมากท่านจะสร้างตะกรุดจากทองแดงและตะกั่ว แต่ละรุ่นล้วนมากด้วยประสบการณ์ จนเป็นที่เล่าขานกันมาปากต่อปาก ว่ากันว่า ตะกรุดของหลวงพ่อกลั่นโดดเด่นทางด้านอยู่ยงคงกระพัน
เนื่องจากท่านมีวิชาชาตรี หรือวิชาลูกเบา ที่ไม่ต้องสักยันต์ลงไปในผิวหนัง แต่ใช้วิธีการชักยันต์เข้าตัว ซึ่งความอัศจรรย์ของวิชาลูกเบานี้ หากใครก็ตามที่จะมาทำร้ายโดยการใช้สิ่งของที่มีน้ำหนักมากมาทุ่มลงบนตัว คนที่มีวิชาลูกเบาจะรู้สึกเหมือนของชิ้นนั้น เป็นของเบา ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บปวดใดๆ