มท.เตือน ทุกจังหวัดรับมือ "พายุโกนเซิน" สั่งท้องถิ่นช่วยปชช.รวดเร็ว ตลอด 24 ชั่วโมง
กรณี พายุโกนเซิน พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพอากาศร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าพายุโซนร้อนกำลังแรงโกนเซินขณะนี้ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองกว๋างงาย ประเทศเวียดนาม มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อาจส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศในไทยช่วงวันที่ 14 - 16 ก.ย. 64 โดยเฉพาะภาคอีสาน
ขณะที่ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก นอกจากนี้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย มีกำลังแรง โดยจะทำให้ทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีคลื่นสูง
พล.อ. อนุพงษ์ ระบุว่า เพื่อให้การเตรียมรับมือผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้สั่งการไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ดำเนินการดังนี้
1. แจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย ทราบถึงสถานการณ์เป็นระยะ พร้อมแจ้งแนวทางการปฏิบัติและช่องทางในการติดต่อสื่อสารเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐได้ในทุกช่องทางอย่างต่อเนื่อง และให้คณะทำงานของจังหวัดติดตาม ประเมินสถานการณ์ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
2. กำชับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละระดับ ดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัย ในการแบ่งมอบพื้นที่ ภารกิจ หน่วยงานรับผิดชอบให้ชัดเจน โดยเฉพาะการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลสาธารณภัย เตรียมพร้อมในพื้นที่เสี่ยงภัยไว้เป็นการล่วงหน้า เพื่อให้มีความพร้อมเผชิญเหตุในการช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
3. เมื่อเกิดเหตุสาธารณภัยในพื้นที่ ให้จัดชุดปฏิบัติการทั้งส่วนราชการฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ มูลนิธิ อาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เร่งเข้าคลี่คลายสถานการณ์ พร้อมทั้งดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในด้านต่างๆ ตลอดจนจัดตั้งโรงครัวพระราชทานในการประกอบอาหารเลี้ยง การแจกจ่ายถุงยังชีพตามวงรอบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
4. หากสถานการณ์ในพื้นที่มีแนวโน้มรุนแรง ให้สั่งอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัย หรือศูนย์พักพิงที่จัดเตรียมไว้โดยทันที และให้ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายอาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เข้าดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นระบบ ควบคู่ไปกับมาตรการในการป้องกันและควบคุมโรคโควิด
5. สำหรับจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายทะเล ให้ฝ่ายปกครอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำชับสถานประกอบการ โรงแรมในพื้นที่ชายทะเล เร่งสื่อสารให้นักท่องเที่ยวระมัดระวัง และห้ามลงเล่นน้ำในช่วงที่มีคลื่นลมแรง พร้อมประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานของกรมเจ้าท่า กองทัพเรือ ตำรวจน้ำในพื้นที่ ดำเนินมาตรการที่กำหนดในการนำเรือเข้าที่กำบัง และห้ามการเดินเรือช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเคร่งครัด