ไขข้อสงสัยอัมพฤกษ์ อัมพาตเหมือนหรือต่างกันยังไง
อัมพฤกษ์ อัมพาตเป็นโรคที่น่ากลัวในกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะวัยนี้เป็นวัยที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคทางสมองมากกว่าวัยอื่น หากเป็นแล้วจะทำให้เกิดอาการแขนขาอ่อนแรง ขยับตัวไม่ได้ เสี่ยงต่อการเป็นผู้ป่วยติดเตียง และยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในอันดับต้นๆ แม้โรคนี้จะเป็นโรคที่ดูน่ากลัวแต่เราสามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ และควรทำความเข้าใจโรคนี้เพื่อให้ตัวเรา และคนในครอบครัวห่างไกลจากโรคร้ายนี้ด้วย อัมพฤกษ์ อัมพาตเป็นผลมาจากโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งนับเป็นโรคที่เป็นสาเหตุการตายเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยสามารถแบ่งสาเหตุแยกย่อยได้อีก 2 ประเภท คือ
- หลอดเลือดในสมองตีบหรืออุดตัน ทำให้สมองขาดเลือดไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง (โดยพบได้ถึง 70-80% ของผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต) ส่งผลให้สมองตายหรือไม่สามารถทำงานได้ โดยเป็นผลมาจากปัจจัยต่างๆ หลายปัจจัยด้วยกัน อาทิ การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น
- หลอดเลือดสมองแตก สมองจะได้รับความเสียหายเนื่องจากถูกเลือดที่ไหลซึมออกมาจากหลอดเลือดเบียดเนื้อสมอง ทำให้สมองไม่สามารถทำงาน พบในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ภาวะความเครียด การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
สัญญาณบ่งบอกถึงอาการของโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
- มีอาการชาหรืออ่อนแรงของแขนขา หรือใบหน้าด้านใดด้านหนึ่ง
- ตาข้างใดข้างหนึ่งมัวหรือมองไม่เห็น
- พูดลำบากหรือพูดไม่ได้
- มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- มีอาการมึนงง เดินไม่มั่นคง เสียศูนย์
สิ่งที่ทำให้คนนิ่งนอนใจและไม่มาตรวจที่โรงพยาบาลคือผู้ที่มีภาวะสมองขาดเลือดแบบชั่วคราวหรือเข้าใจว่าเป็นอัมพฤกษ์ซึ่งอาการหายเองไม่ต้องรักษา ซึ่งถ้ามีอาการเตือนเกิดขึ้นชั่วขณะ หรืออาจเกิดขึ้นได้หลายครั้งแล้วหายไปเอง ประมาณ 10% จะมีภาวะสมองขาดเลือดแบบถาวร ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ทันที