"กรณ์" บอกไม่แปลกใจที่แนวคิดของท่านหัวหน้าทีมเศรษฐกิจถูกวิพากษ์วิจารณ์
อ่านข่าวเรื่องนี้แล้ว ผมไม่แปลกใจที่แนวคิดของท่านหัวหน้าทีมเศรษฐกิจถูกวิพากษ์วิจารณ์
ปัญหาคือชาวบ้านที่เก็บเล็กผสมน้อยมาทั้งชีวิต เขาไม่เข้าใจว่า การบอกให้เขาเอาเงินออมออกมาจ่ายตลาด หรือซื้อของจากเซเว่นเพื่อดันตัวเลข GDP ให้สูงขึ้นนั้น จะทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นอย่างไร
ขอบคุณภาพจาก ข่าว Workpoint
หลายคนจึงผิดหวัง และไม่เข้าใจแนวความคิด เมื่อได้ฟังท่านรองนายกฯ แถลงรายละเอียดเพิ่มเติมแล้วก็ยังคาใจ
ยิ่งพอดูตัวเลขเงินออมบ้านเราที่กระจุกตัวมาก
คนไทยเกือบทั้งประเทศมีเงินในบัญชีไม่ถึง 50,000 บาท/คน
ส่วนคนรวยเพียง 0.07% มีเงินฝากรวม 3 ล้านล้านบาท เฉลี่ยบัญชีละ 48 ล้านบาท (ท่านรองนายกฯ อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย ตามที่ท่านรายงานเงินฝากกับ ปปช. ไว้ที่ 54 ล้านบาท ซึ่งผมก็อยากทราบเหมือนกันว่า ท่านจะเอาเงินออมของท่านออกมาใช้จ่ายช่วยชาติเท่าไร และใช้อย่างไร)
ดังนั้นหากคิดจะกระตุ้นการรักชาติ (หรือกระตุ้น GDP) ผมขอให้ท่านมุ่งเป้าไปที่ "บัญชีคนรวย" ไม่กี่คนในประเทศ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ที่มีเงินไม่ถึง 1 ล้านบาทในบัญชี ควรเก็บไว้เป็นเงินออม เป็นเงินฉุกเฉินยามวิกฤต เอาไว้ส่งลูกหลานเรียนหนังสือ หรือเอาไว้เลี้ยงตัวเองในยามแก่จะดีกว่า
ส่วนคนรวย โดยพฤติกรรมแล้วก็อย่าหวังว่าเขาจะออกมาบริโภคเพิ่มเติมมากนัก ไม่ได้กินใช้เยอะขึ้น คงไม่ได้ต้องจ่ายตลาดมากขึ้น แต่น่าจะเอาไปซื้อหุ้น หรือบิตคอยน์เสียมากกว่า
นโยบายที่ดี ที่ควรจะเร่งทำวินาทีนี้ คือการกระตุ้นให้คนหรือเอกชนที่มีสตางค์เอาเงินออกมาลงทุน และต้องลงทุนในลักษณะที่นำไปสู่การสร้างงาน สร้างโอกาส สร้างรายได้เพิ่มเติมแก่คนส่วนใหญ่ในระบบ นี่คือหน้าที่ที่ฝ่ายบริหารต้องเร่งปฏิบัติโดยเร็วที่สุด
ส่วนการบริโภคนั้น รัฐอย่าไปผลักภาระให้ประชาชนในยามยาก หนี้ครัวเรือนเราสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์อยู่แล้ว และเงินออมของคนไทยก็ไม่เพียงพอต่อการรักษาคุณภาพชีวิตของเขาในวัยชรา
การบริโภคต้องมาจากสามแหล่งหลัก 1- รายได้ของประชาชนที่เพิ่มขึ้น 2- กำลังซื้อจากนอกประเทศ และ 3- การใช้เงินของรัฐในการสร้างกำลังซื้อให้ประชาชน
ทั้งหมดนี้เป็นข้อสังเกตพื้นฐานเผื่อเป็นประโยชน์ในการช่วยกันคิดหาคำตอบครับ
อ้างอิงจาก: เพจ : กรณ์ จาติกวณิช - Korn Chatikavanij