หิมาลัย...ไร้หิมะ!!
หิมาลัย...ไร้หิมะ!!
NASA Earth Observatory รายงานว่า ในเดือนมกราคมของทุกปี #เทือกเขาหิมาลัยจะปกคลุมไปด้วยหิมะใหม่ๆ แต่การละลายของหิมะและน้ำแข็งในฤดูหนาวที่ผิดปกติในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทำให้ธารน้ำแข็งและภูเขาหลายแห่งไม่มีหิมะใหม่ๆ ปกคลุม ธารน้ำแข็งหลายแห่งเปลือยเปล่า แม้แต่บนยอดเขา
โดยเพจ IGreen แสดงให้เห็น ภาพเปรียบเทียบแสด #งธารน้ำแข็งสองสามแห่ง บนเทือกเขาหิมาลัย ภาพแต่ละภาพแสดงธารน้ำแข็งระดับสูงที่ช่องเขา Nanpa La และ Nup La ซึ่งอยู่ห่างจาก #ยอดเขาเอเวอเรสต์ ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 50 กิโลเมตรในช่วงฤดูใบไม้ร่วงวันที่ 13 ตุลาคม 2563 และในฤดูหนาววันที่ 17 มกราคม 2564 และภาพคู่แสดงธารน้ำแข็ง Rolwaling ซึ่งอยู่ห่างจาก Nanpa La ไปทางใต้ 20 กิโลเมตร
ในภาพเหล่านี้แสดงให้เห็นแถบอินฟราเรด (SWIR) ผสมกับสีธรรมชาติเพื่อแยกความแตกต่างของพื้นที่ธารน้ำแข็งที่มีหิมะ (สีน้ำเงินอ่อนที่สุด) น้ำแข็ง (สีน้ำเงินเข้ม) และน้ำละลาย (สีน้ำเงินเข้มที่สุด) หินเป็นสีน้ำตาล พืชพันธุ์เป็นสีเขียว ส่วนพื้นที่สีดำคือเงาของวัตถุต่างๆ
ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ถึงมกราคม 2564 แนวเส้นหิมะเฉลี่ยซึ่งเป็นแนวที่พื้นผิวที่ปกคลุมด้วยหิมะมาบรรจบกันบนธารน้ำแข็งเหล่านี้ ถอยร่นขึ้นมาประมาณ 100 เมตร ซึ่งบ่งบอกถึงการละลายอย่างมีนัยสำคัญ
มอรี เพลโต นักธรณีวิทยาจากนิโคลาส คอลเลจในสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า บริเวณส่วนใหญ่ของธารน้ำแข็งในขณะนี้อาจประสบกับการละลายตลอดทั้งปี ซึ่งถือเป็นปรากฎการณ์แปลกใหม่เพราะหลายปีที่ผ่านมาการละลายส่วนใหญ่จะหยุดลงในช่วงฤดูหนาวและแนวหิมะจะไม่เคลื่อนตัว แต่ตอนนี้ไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไปแล้ว
ปกติแล้วฤดูการละลายของหิมะ/น้ำแข็งในพื้นที่รอบยอดเขาเอเวอเรสต์มักจะเกิดขึ้นหนักๆ ในช่วงมรสุมฤดูร้อน (เมษายนถึงกันยายน) อย่างไรก็ตามในปีที่ผ่านมาอุณหภูมิที่อุ่นขึ้นอย่างผิดปกติได้ขยายระยะเวลาการละลายออกไปอีกถึง 4 เดือน
ณ วันที่ 22 มกราคม 2564 ปกติแล้วแถบนั้นจะมีอุณหภูมที่จุดเยือกแข็ง แต่สถานีตรวจอากาศที่ค่ายฐานเอเวอเรสต์รายงานว่ามีอุณหภูมิสูงสุดที่สูงกว่าจุดเยือกแข็งนานถึง 8 วันในเดือนนั้น และเฉพาะวันที่ 13 มกราคม มีอุณหภูมิสูงสุดที่ 7 องศาเซลเซียส ทั้งๆ ที่เป็นใจกลางฤดูหนาว
ทอม แมทธิวส์ นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยลัฟโบโร (สหราชอาณาจักร) ผู้ช่วยจัดการสถานีตรวจอากาศที่ยอดเขาเอเวอเรสต์ในระหว่างการเดินทางสำรวจภูมิศาสตร์แห่งชาติของแบรนด์นาฬิกา Rolex กล่าวว่า เรากำลังได้เห็นสภาพฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนในช่วงกลางฤดูหนาวของหิมาลัย
แมทธิวส์และเพื่อนร่วมงานยังสังเกตเห็นว่า มีหิมะสะสมน้อยลงในช่วงมรสุมฤดูร้อนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยทั่วไปแล้วมรสุมฤดูร้อนจะทำให้เกิดการสะสมของหิมะในแต่ละปีประมาณ 75% ในภูมิภาคหิมาลัยแถบนี้ อย่างไรก็ตามทีมงานสังเกตเห็นการเพิ่มขึ้นของฝนและการละลายในช่วงมรสุมฤดูร้อนในปี 2562 และ 2563 ซึ่งทำให้ปริมาณหิมะตกและหิมะที่ตกค้างในระยะยาวแถวเอเวอเรสต์ลดน้อยลง
ถึงแม้ว่าตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2564 อุณหภูมิจะลดลง #ต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง แต่ความหวังก็ยังริบหรี่ เพราะหิมะยังเบาบางเนื่องจากสภาพอากาศแห้ง สภาพแบบนี้จะทำให้เกิดการระเหิดที่เปลี่ยนหิมะซึ่งเป็นของแข็งไปเป็นก๊าซในอากาศโดยตรงทำให้หิมะยิ่งน้อยลงไปอีก
ข้อมูลจาก
Kasha Patel. (January 29, 2021). "Snow-Free Glaciers in Winter". NASA Earth Observatory





















