สรรพคุณถั่งเช่าจริงหรือหลอกลวง?
ก่อนจะบอกว่าจริงหรือหลอกนั้นต้องอธิบายก่อนว่าถั่งเช่านั้นมีหลายชนิดแต่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันมี 4 สายพันธุ์หลักๆคือ
1. ถั่งเช่าทิเบต (Cordyceps sinensis) มีถิ่นกำเนิดบนเทือกเขาหิมาลัย ปัจจุบันสามารถเพาะเลี้ยงได้ในห้องทดลอง เป็นสายพันธุ์ที่มีงานวิจัยรองรับมากที่สุด
2. ถั่งเช่าสีทอง(Cordyceps militaris) เกิดจากการเพาะพันธุ์ในห้องทดลอง มีการกล่าวอ้างว่ามีสรรพคุณเทียบเท่าถั่งเช่าทิเบต
3. ถั่งเช่าหิมะหรือถั่งเช่าเกาหลี (Isaria tenuipes) เป็นเห็ดที่ขึ้นบนตัวของหนอนไหม
4. ถั่งเช่าจักจั่น (Isaria sinclairi) เป็นดอกเห็ดที่ขึ้นบนตัวอ่อนของจักจั่น คนไทยเรียกว่า "ว่านจักจั่น"
แต่ในที่นี้จะขอพูดถึงเฉพาะถั่งเช่าทิเบตนะครับ
ถั่งเช่าจริงๆแล้วเป็นยาสมุนไพรที่จะต้องขายโดยเภสัชกร แต่ที่เห็นขายกันเกลื่อนในท้องตลาดนั้นเพราะ อ.ย.ได้กำหนดปริมาณสารออกฤทธิ์เอาไว้ไม่ให้เกินตามที่กำหนดและมีการผสมส่วนประกอบอื่นๆเพิ่มเข้าไปจึงจัดอยู่ในประเภทของ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่ใช่ยาเหมือนถั่งเช่าที่เป็นตัวๆ สำหรับสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลักๆในถั่งเช่าสามารถวัดด้วยเครื่องตรวจ HPLC ได้ เช่น
1. คอร์ไดเซปิน เป็นสารที่มีเฉพาะในถั่งเช่าเท่านั้น
2. อะดีโนซีน
3. สารกลุ่มพอลิแซ็กคาไรด์
แล้วสรรพคุณต่างๆที่โฆษณาจริงหรือหลอก? ก็ต้องบอกว่าจริงเป็นบางส่วน (เขาบอกไม่หมด)
เช่น สรรพคุณการต้านมะเร็ง ลดโอกาสเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เสริมสมรรถภาพทางเพศ บำรุงตับและไต
สรรพคุณเหล่านี้ทดลองในหนูและสุนัขได้ผลจริง สำหรับในคนนั้นเป็นกรณีศึกษาในผู้ป่วยบางรายยังต้องรอการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบเพื่อยืนยันผลที่ชัดเจนอีกครั้ง
แล้วสรรพคุณทางยาอะไรบ้างที่ถั่งเช่ามีแน่ๆ?
จากการหาข้อมูลทางการแพทย์ก็พบว่ามีเขียนไว้ชัดเจนว่า ถั่งเช่ามีสรรพคุณคือ
1. ลดระดับน้ำตาลในเลือดจึงควรระวังหากใช้ร่วมกับยาลดน้ำตาลในเลือดเพราะมันจะเสริมฤทธิ์กัน
2. จากการที่ถั่งเช่ามีสารกลุ่มพอลิแซ็กคาไรด์ จึงมีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน จึงควรระวังในผู้ป่วยที่เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองและต้องทานยากดระบบภูมิคุ้มกัน
3. ฤทธิ์ป้องกันการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ช่วยในการไหลเวียนเลือด ควรระวังในผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่มป้องกันการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดเพราะมันจะเสริมฤทธิ์กัน
เครดิตรูปประกอบ : https://www.bangkokhospital.com/content/royal-cordyceps-emperor-of-stimulant
อ้างอิงจาก: วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข http://tpd.dtam.moph.go.th/images/ak/journal/paper/journal_12-1_Full.pdf