5เรื่องจริงของวัคซีนแอสตราเซเนกา ผลิตโดย สยามไบโอไซเอนซ์
ในท่ามกลางวิกฤติของโควิด-19 ในประเทศไทย พบว่า สังคมเริ่มมีความใส่ใจ และ สนใจ ในความรู้เกี่ยวกับการป้องกันตัวเอง รักษาสุขภาพ เพื่อให้รอดพ้นจากโรคระบาดดังกล่าว ไม่ว่าเป็นกระแสกว้านซื้อหน้ากากอนามัยจนมีภาวะขาดตลาดในช่วงขณะหนึ่ง และร่วมถึงเริ่มศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ด้วยความหวัง พร้อมติดตามข่าวสารในประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด
สำหรับประเด็นบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ (บริษัทในพระปรมาภิไธย) ได้รับอนุญาตผลิตวัคซีน "แอสตราเซเนกา" ที่จะพูดถึงนั้น กำลังได้รับความสนใจในขณะนี้ เช่นกัน โดย บริษัทฯ ได้มีการก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2552 โดยทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ถือหุ้น 100% ด้วยทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 2 บริษัทหลักคือ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด และบริษัท เอเพ็กซ์เซล่า จำกัด จะดำเนินการวิจัย พัฒนา และผลิตยา เครื่องมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ มีการวิจัยพัฒนาและผลิตครบวงจร ตั้งแต่ตัวยาสำคัญและสารออกฤทธิ์ จนถึง ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป
บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด มาจากพระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) โดยทรงพระราชทานพระราชดำรัสเรื่องสุขภาพของประชาชน ด้วยทรงเห็นว่า ‘คน’ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะพัฒนาประเทศ สร้างความพอมี พอกิน และทรงให้ความสำคัญในการฟื้นฟูปัญหาสุขภาพของประชาชน เพื่อการพัฒนาประโยชน์สุขให้เกิดกับส่วนรวมและประเทศชาติ
ต่อมา ในปี 2560 เครือสยามไบโอไซเอนซ์ ได้มีการจัดตั้งบริษัทลูกอีก 2 บริษัท เพื่อต่อขยายธุรกิจ คือ บริษัท เอบินิส จำกัด เพื่อวิจัย พัฒนา ผลิตและส่งออกยาชีววัตถุอย่างครบวงจร เน้นยารักษาโรคมะเร็ง โรคโลหิตจาง และ โรคแพ้ภูมิตนเอง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ สะเก็ดเงิน เป็นต้น โดยเป็นบริษัทร่วมทุนกับ CIMAB รัฐวิสาหกิจยาอันดับหนึ่งของคิวบา และบริษัท อินโนไบโอคอสเมด จำกัด เพื่อผลิตและจำหน่าย ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ชีวเวชสำอาง ซึ่งเป็นนวัตกรรมจากงานวิจัยและพัฒนาของเครือฯ
พร้อมผลิต วัคซีนโควิด-19 เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในช่วง 12 ต.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข สยามไบโอไซเอนซ์ เอสซีจี และแอสตร้าเซนเนก้า บริษัทผู้ผลิตชีวภัณฑ์ชั้นนำสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน ได้ร่วมลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) ในการผลิตและจัดสรรวัคซีนวิจัยป้องกันโควิด-19 AZD1222 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด โดยในหนังสือแสดงเจตจำนงระบุว่า “ ทุกฝ่ายตกลงจะทำงานร่วมกัน เพื่อเสริมศักยภาพด้านกำลังการผลิตของ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ให้พร้อมรองรับการผลิตวัคซีนจำนวนมากเพื่อให้ประเทศไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมและทันเวลา”
ขณะที่ แอสตร้าเซนเนก้า จะจัดสรรวัคซีนวิจัยดังกล่าวโดยไม่มุ่งหวังผลกำไรในช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมกันนี้จะถ่ายทอดเทคโนโลยีและร่วมมือกับสยามไบโอไซเอนซ์ ในการติดตั้งกระบวนการผลิตด้วย หากในอนาคตอันใก้ลวัคซีนโควิด-19 ได้ผลดี กระทรวงสาธารณสุขจะได้รับวัคซีนวิจัย AZD1222 หลังจากผ่านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด โดยมีเป้าหมายเริ่มจัดสรรวัคซีนสำหรับประชาชนชาวไทยได้ภายในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564
ในส่วนองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ เครื่องจักร สามารถประยุกต์ใช้ผลิตวัคซีนวิจัย AZD1222 เพื่อป้องกันโควิด-19 จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดและแอสตร้าเซนเนก้า โดยหลังจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากแอสตร้าเซนเนก้ารวมทั้งขั้นตอนของ อย. คาดว่า วัคซีนชุดแรกจะพร้อมใช้ในกลางปีหน้า ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนดังกล่าวได้สำเร็จเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จากข้อมูลข้างต้นที่ได้กล่าวมาเกี่ยวกับ "สยามไบโอไซเอนซ์" นั้น ได้สรุปออกมา เป็น 5 ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนแอสตราเซเนกา ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีเกิดขึ้นในช่วงวิกฤติโควิด-19 เพื่อคนไทย ที่จะได้รับวัคซีนในการป้องกัน ร่วมถึงได้ความรู้พัฒนาทางการแพทย์ของวัคซีนในประเทศไทยได้อีกด้วย สมดั่งพระปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) ที่ได้ตั้งใจไว้ในการก่อตั้ง "สยามไบโอไซเอนซ์"
----------------------------------------
อ้างอิงจาก: ThaiPbs, สยามไบโอไซเอนซ์