หมดยุคแชร์ข่าวปลอม..ถ้าไม่อยากอบอุ่นในโลกออนไลน์เดียวดายที่หน้าบัลลังก์
ข่าวปลอมที่แพร่ระบาดก็ไม่ต่างอะไรกับเชื้อโรค ถึงแม้จะมีการชี้แจงข้อเท็จจริงไปแล้วก็ยังถูกวนกลับมาแชร์ซ้ำไป ซ้ำมา
เช็กก่อนเชื่อ ไม่ตกเป็นเหยื่อข่าวปลอม
รับรู้ข่าวสารมาแล้ว ก็อย่าปักใจเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ ควรตรวจสอบหาแหล่งที่ของข่าวหรือภาพก่อนว่ามาจากแหล่งไหน ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือเพียงใด ใครเป็นผู้เขียน ระบุวันเวลา หรือสถานที่ไว้ชัดเจนหรือไม่ โดยอาจหาข้อมูลจากเว็บไซต์ที่เป็นสำนักข่าว, หนังสือพิมพ์, เว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือ หรือค้นหาจาก Google ว่าข่าวสารดังกล่าวเป็นเรื่องจริงหรือไม่ หากไม่สามารถหาแหล่งที่มาได้ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจเป็นข่าวปลอม
วิธีตรวจสอบที่มาของภาพที่โพสต์ในโลกออนไลน์ว่ามีที่มาจากไหน เป็นภาพเก่า ภาพใหม่ หรือภาพตัดต่อ และใครเป็นเจ้าของภาพตัวจริง สามารถทำได้โดย "คลิกขวาที่ภาพ" จากนั้นเลือกคำว่า "ค้นหาภาพนี้ใน Google" หรือ "Search Google for image" จากนั้นระบบจะทำการค้นหาที่มาของภาพให้ทันที
ยกตัวอย่าง เมื่อไม่กี่วันมานี้ที่โลกออนไลน์ส่งต่อภาพอาคารหรูที่ถูกลือว่าเป็นคฤหาสน์ "เจ้าสัวซีพี" หากเราลองค้นหาข้อมูลตามวิธีข้างต้น ก็จะพบความจริงที่ว่าอาคารดังกล่าว เป็น สถาบันอบรมผู้นำสู่ความยั่งยืน (C.P.Leadership Development Center) ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
ทุกวันนี้ ข่าวปลอมข่าวมั่วมันเยอะมาก จะแชร์อะไรต้องคำนึงถึงเงินในบัญชี และความพร้อมที่จะไปยืนอยู่หน้าบัลลังด้วย เพราะสมัยนี้ไม่ว่าจะเป็นแวดวงบันเทิง ภาคธุรกิจ ไม่มีใครยอมถูกรังแก ถูกใส่ร้ายด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จแล้ว
เพราะฉะนั้น ใช้สื่อออนไลน์อย่างมีสติ อย่าตื่นเต้นกับข่าวสารที่ได้รับ จนลืมเช็กว่าเรื่องเหล่านั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เพราะไม่เช่นนั้นก็อาจตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่ประสงค์ดี...