เลือกตั้งท้องถิ่น : คะแนนเสียงบริสุทธิ์? วาทกรรมสลิ่มที่ฝ่ายประชาธิปไตยหลงใช้
สมรภูมิการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็น นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือนายกอบจ. และสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือส.อบจ. ที่ถูกแช่แข็งมายาวนานตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2557 เป็นต้นมา รวมแล้วประมาณ 7 ปี ที่ไร้การเลือกตั้งท้องถิ่น งบประมาณตกอยู่ในการดูแลของข้าราชการประจำที่ไม่มีความยึดโยงจากอำนาจของประชาชน ประชาธิปไตยในระดับฐานราก (ขออนุญาตนำคำที่รัฐบาลพร่ำตลอดมาใช้) ต้องหยุดชะงัก หรือแม้แต่การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ ที่ผู้เปิดตัวว่าจะลงชิงชัยต้องรอเก้อต่อไปอย่างไร้วี่แววว่ารัฐบาลจะจัดให้มีการเลือกตั้ง
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ได้มีการประกาศราชกิจจานุเบกษาให้มีการจัดการเลือกตั้ง และได้มีการเลือกตั้งในวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา ผู้สมัครหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ลงสังกัดพรรคการเมือง คณะการเมือง ผู้สมัครอิสระ ผู้สมัครในนามกลุ่มต่างๆ ที่มีพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลหนุนหลังแต่ไม่เปิดตัว หรือนอมินีของกลุ่มทุนท้องถิ่นต่างๆ เริ่มมีการเคลื่อนไหวในช่วงก่อนเลือกตั้ง ทั้งการติดป้ายหาเสียง ลงพื้นที่เข้าหาพบปะชาวบ้าน หรือมีการให้เงินผ่านหัวคะแนนเพื่อหวังว่าตนหรือคนของกลุ่มตนจะได้ครองชัยชนะในการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ (อย่างปฏิเสธไม่ได้)
แต่สิ่งที่ผู้เขียนอยากนำเสนอมุมมองก็คือนักการเมืองท้องถิ่นที่ลงสนามการเลือกตั้งในนามของฝ่ายประชาธิปไตย ที่พากันออกมาขอบคุณ “คะแนนเสียงบริสุทธิ์” ที่ตนได้รับคะแนนเสียงจาก Voters ที่มีความบริสุทธิ์ ไม่ได้มีการแจกเงินผ่านหัวคะแนน หรือไม่ได้ใช้บารมีในท้องถิ่น ฟังอย่างผิวเผินดูเป็นคำที่ชวนให้รู้สึกดีและเป็นเกียรติถึงแม้จะไม่ได้รับชัยชนะ แต่สิ่งที่อยากชวนให้ฉุกคิดและเชื่อมโยงถึงการเมืองระดับประเทศว่าในสภาพการเมืองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่มีการรัฐประหารหลายครั้ง เพื่อยึดอำนาจจากดร.ทักษิณและน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ได้รับคะแนนเสียงถล่มทลายจากการนำเสนอนโยบายที่จับต้องได้ กลุ่มคนที่สนับสนุนการรัฐประหารหรือศัพท์ทางการเมืองไทยเรียกว่าสลิ่ม ต่างอ้างว่าประชาชนโง่ เสื้อแดงที่เลือกพรรคเพื่อไทยโดนหลอก รู้ไม่ทัน ถูกนักการเมืองเลวซื้อเสียงเพื่อเข้ามาโกงกิน คนชั้นกลางในกรุงเทพฯที่เลือกประชาธิปัตย์เป็นคนที่มีความรู้ ไม่ซื้อสิทธิ์ขายเสียงแต่ต้องแพ้ตลอดเพราะคนโง่มีมากกว่าคนฉลาด ทำให้ต้องมีการรัฐประหารเพื่อที่จะให้ทหารผู้มีความซื่อสัตย์ได้มาบริหารประเทศและจัดการนักการเมืองเลวให้สิ้นซาก
คำว่า “คะแนนเสียงบริสุทธิ์” ที่ฟังหรืออ่านแล้วชวนให้รู้สึกดี แท้จริงนั้นเป็นสิ่งที่ฝ่ายประชาธิปไตยหยิบมาเป็นการตอกย้ำของการไม่สลายหายไปของวาทกรรมเหล่านี้ และยิ่งเป็นการนำวาทกรรมเหล่านี้มาครอบงำตัวเอง เพราะถึงแม้การเลือกตั้งท้องถิ่นนั้นปฏิสธไม่ได้ว่ามีการใช้เงินในพื้นที่จริง แต่อย่าลืมว่าเงินไม่ได้เป็นปัจจัยอย่างเดียวในการเลือกตั้งอย่างที่งานวิจัยของนักวิชาการหลายท่านได้ชี้ไว้ แต่ผู้เขียนอนุมานว่าในสังคมไทยที่ต้องพึ่งพิงระบบอุปถัมภ์ ความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองท้องถิ่นกับชาวบ้านจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้นโยบายในเชิงอุดมการณ์
แต่ถ้าหากเราปล่อยให้มีการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ ไม่มีการตัดตอนหรือแช่แข็งกระบวนการประชาธิปไตย ฝ่ายประชาธิปไตยทำงานอย่างขยันขันแข็งมีเอกภาพ นำเสนอนโยบายอย่างต่อเนื่อง ประชาชาชนได้เรียนรู้ว่าเลือกคนแบบไหน กลุ่มใด มาเป็นตัวแทนแล้วจะได้รับการพัฒนาแบบไหนหรือไม่มีการพัฒนาเลย นั่นคือความรับผิดชอบร่วมกันของประชาชนในพื้นที่ สุดท้ายกระบวนการประชาธิปไตยในท้องถิ่นที่ไม่ถูกตัดตอน (หวังว่าจะเป็นเช่นนั้น) จะมีพลวัตในตัว Voters เอง โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้เรื่องคะแนนเสียงบริสุทธ์ใดๆ มากล่าวเป็นการตอกย้ำวาทกรรมสลิ่มอีกเลย