ต้นสาบเสือ..ชื่อน่ากลัว แต่ต้นน่ารัก(มั้ย)
ต้นสาบเสือ..ชื่อน่ากลัวเนอะ พอตอนหน้าแล้ง ดอกขาวๆ จะโรย พอตอนหน้าฝนเมล็ดที่ตกลงสู่ดิน ในช่วงหน้าแล้ง พอโดนฝนจะงอกเยอะเลย
ดอกเริ่มบานช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม
ต้นสาบเสือ
มีชื่อท้องถิ่นที่เรียกอื่นๆ หลายชื่อ เช่น หญ้าเสือหมอบ หญ้าดงร้าง หญ้าดอกขาว บ้านร้าง หมาหลง ฝรั่งเหาะ ฝรั่งรุกที่ ผักคราด หญ้าดงรั้ง หญ้าพระสิริไอสวรรค์ หญ้าเลาฮ้าง สะพัง มุ้งกระต่าย หญ้าลืมเมือง มนทน เบญจมาศ พายัพ พาทั้ง หญ้าเมืองวาย นองเส้งเปรง เซโพกวย ซิพูกุ่ย ไซ้ปู่กย ซีโพแกว่ะ เชโพแกว่ะ รำเคย ยี่สุ่นเถื่อน หญ้าเหมือน ต้นลำฮ้าง ต้นขี้ไก่ พาพั้งขาว จอดละเห่า เฮียงเจกลั้ง ปวยกีเช่า เป็นต้น
ต้นสาบเสือ
ลักษณะทั่วไป จัดเป็นวัชพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกากลาง มีเขตแพร่กระจายตั้งแต่ทางตอนใต้ของรัฐฟลอริด้า ไปจนถึงตอนเหนือของประเทศอาร์เจนตินา และระบาดทั่วไปในเขตร้อนของทั่วทุกทวีป ยกเว้นออสเตรเลียพบได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในประเทศไทยพบได้ทั่วไปในเขตร้อนเกือบทั่วประเทศ เป็นไม้ล้มลุก สูงประมาณ 1-2 เมตร กิ่งก้านและลำต้นจะปกคลุมไปด้วยขนนุ่มอ่อนๆชอบแสงแดดจัด ดอกของสาบเสือสามารถใช้เป็นดรรชนีวัดสภาพความแห้งแล้งได้อีกด้วย หากอากาศไม่แล้งพอต้นสาบเสือจะไม่ออกดอกค่ะ
ใบ มีสีเขียวอ่อน ลักษณะของใบคล้ายรูปรีทรงรูปสามเหลี่ยม ปลายใบแหลม ฐานใบกว้าง ขอบใบมีหยัก ที่ใบเห็นเส้นชัดเจน 3 เส้น ผิวใบทั้งสองด้านมีขนอ่อนปกคลุม ใบและก้านเมื่อนำมาขยี้จะมีกลิ่นแรงคล้ายกลิ่นสาบเสือ
ดอก ออกดอกเป็นช่อ มีสีขาวหรือสีฟ้าอมม่วง มีดอกย่อยประมาณ 10-35 ดอก
ผล มีขนาดเล็ก มีรูปร่างคล้ายรูปห้าเหลี่ยม มีสีน้ำตาลหรือสีดำ มีหนามแข็งบนเส้นของผล ที่ปลายผลมีขนสีขาว ช่วยพยุงให้ผลและเมล็ดปลิวไปตามลมได้
**เป็นสมุนไพรที่ใช้ได้ทั้งภายนอกและภายใน ลำต้น ใบ ดอก ราก ล้วนมีคุณค่าทางยา ช่วยรักษาโรคได้มากมาย เช่น รักษาโรคไต ใช้ห้ามเลือก และแก้ไข้ป่า**
สรรพคุณ
ดอก ช่วยชูกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย ช่วยบำรุงหัวใจ แก้กระหายน้ำ แก้ไข้ แก้ร้อนใน
ใบ ช่วยแก้ตาฟาง ตาแฉะ แก้ริดสีดวงทวาร แก้พิษน้ำเหลือง ช่วยถอนพิษ แก้อักเสบ ใช้ในการห้ามเลือดโดยนำใบสาบเสือมาตำหรือขยี้ แล้วนำมาพอกบริเวณบาดแผล จะช่วยห้ามเลือดได้เป็นอย่างดี เพราะในใบสาบเสือมีสารสำคัญหลายอย่างทำให้เส้นเลือดหดตัว และช่วยกระตุ้นให้เลือดแข็งตัวเร็วยิ่งขึ้น แต่อาจจะแสบมากๆ และเมื่อแผลหายแล้วจะช่วยป้องกันแผลเป็นได้ รักษาแผลเปื่อย
ต้น ใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง อาการท้องขึ้น ท้องเฟ้อ แก้ตัวบวม ช่วยดูดหนอง
ราก ใช้ผสมกับรากมะนาวและรากย่านาง(รากเถาวัลย์เขียว) นำมาต้มเป็นน้ำดื่มช่วยรักษาไข้ป่า รักษาโรคกระเพาะ
ทั้งต้น ของสาบเสือใช้เป็นยาแก้บาดทะยัก
-ช่วยลดโรคไตขั้นแรกได้ โดยใช้ส่วนลำต้นและใบ หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ตากแห้ง ก่อนนำไปคั่วด้วยไฟอ่อน เมื่อเริ่มได้กลิ่นหอมก็ถือว่าใช้ได้แล้วนำไปพักให้เย็น ชงเป็นชาดื่มวันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น ทุกวัน
-ช่วยห้ามเลือด มีผลการวิจัยที่ทดสอบประสิทธิภาพการห้ามเลือดของใบสาบเสือ พบว่าสามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากพบว่ามีสารบางชนิดที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด ใครที่เป็นแผลเล็กๆ เช่น หกล้ม หรือโดนมีดบาด ลองใช้ดูนะคะ นำใบสาบเสือตำผสมกับเกลือพอกที่แผล ใช้ห้ามเลือด ใบและดอก นำไปตำจนได้น้ำออกมา น้ำที่ได้ใช้ห้ามเลือดได้เช่นกัน
-ใช้เป็นยาฆ่าแมลง กลิ่นฉุนของสาบเสือก็สามารถใช้เป็นยาฆ่าแมลงได้อีกด้วย
ประโยชน์ของสาบเสือ
-แก้ผมหงอก ทำให้ผมดกดำ โดยนำใบสาบเสือมาตำแล้วใช้หมักผมเป็นประจำ ไม่นานจะทำให้เส้นผมดูดกดำขึ้น(ใบ)
-ใบสาบเสือมีฤทธิ์ในการกำจัดปลวก ไล่แมลง ฆ่าแมลงได้(ใบ)
-ทั้งต้นและใบนำไปใช้บำบัดน้ำเน่าเสียได้ ด้วยการเอาทั้งต้นและใบใส่ลงไปแช่ในบ่อน้ำเน่า เมื่อผ่านไปสัก 2-3 สัปดาห์ น้ำจะค่อยๆใสขึ้นเอง (ต้น,ใบ)
-ต้นสาบเสือมีกลิ่นแรง หากใช้ปริมาณมากจะเป็นการทำเป็นยาฆ่าแมลง การใช้ในปริมาณน้อยก็จะสามารถนำมาใช้เป็นน้ำหอมได้อีกด้วย(ทั้งต้น)
**สาเหตุที่เรียกว่า สาบเสือ เพราะว่า ดอกของสมุนไพรสาบเสือนั้นจะไม่มีกลิ่นหอม แต่จะมีกลิ่นสาบคล้ายสาบเสือ คนโบราณเวลาวิ่งหนีสัตว์ดุร้ายจะวิ่งเข้าดงต้นสาบเสือเพื่อช่วยอำพรางให้ปลอดภัย เพราะสัตว์จะไม่ได้กลิ่นคน