วิทยาศาสตร์จากน้ำอัญชันมะนาว
วิทยาศาสตร์จากน้ำอัญชันมะนาว
น้ำอัญชัน เป็นเครื่องดื่มดับร้อนที่สามารถทำรับประทานกันได้ที่บ้าน โดยขั้นตอนและวิธีการทำ ดังนี้
อุปกรณ์ในการทำน้ำ อัญชัน มะนาว
- น้ำตาลทรายขาว
- ดอกอัญชันสดหรือแห้ง
- มะนาว
- ตะแกรงกรอง หรือผ้าขาวบาง
- ถ้วยตวง
- ช้อนชา
- น้ำร้อน
- น้ำแข็ง
วิธีการทำน้ำ อัญชัน มะนาว
- นำอัญชันแห้งใส่ในน้ำร้อนประมาณ 1/2 ถ้วย
- คนดอกอัญชันให้สีของดอกอัญชันละลายออกมาในน้ำ จนได้สีเข้มตามต้องการ
- กรองดอกอัญชันออกจากน้ำ ผ่านตะแกรงกรอง หรือผ้าขาวบาง
- เติมน้ำตาลปรุงรส ตามต้องการ
- บีบน้ำมะนาวลงไปน้ำอัญชัน ชิมรสตามชอบ
- เทน้ำอัญชันลงในแก้วใส่น้ำแข็ง
- ตกแต่งถ้วยด้วยมะนาวหั่นแว่น
วิทยาศาสตร์ จากกรด-เบส
คุณสมบัติของสารที่เป็นกรด และเบส
กรด คือ สารที่ละลายน้ำแล้วแตกตัวเป็นไฮโดรเจนไอออนได้
ชนิดของกรด
กรดสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ กรดอินทรีย์ (กรดที่ได้จากสิ่งมีชีวิต) และกรดอนินทรีย์ (กรดที่ได้จากสิ่งไม่มีชีวิต)
ลักษณะทั่วไปของกรด
- มีรสเปรี้ยว หรือซ่า
- ทำปฏิกิริยากับสารประกอบคาร์บอเนต เช่น ผงฟู, หินปูน, หินอ่อน, ผงชอล์ก, เปลือกหอย, เปลือกไข่ เป็นต้น เกิดฟองแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์
- ทำปฏิกิริยากับโลหะ เกิดฟองแก๊สไฮโดรเจน
- มีฤทธิ์กัดกร่อน
- มีค่า pH น้อยกว่า 7
- เปลี่ยนสีกระดาษลิตมัส จากสีน้ำเงิน เป็นสีแดง
เบส คือ สารที่ละลายน้ำแล้วสามารถแตกตัวเป็นไฮดรอกไซด์ไอออนได้
ลักษณะทั่วไปของเบส
- มีรสฝาด ขม และลื่นมือ มักพบมากในสารทำความสะอาด ยกเว้น น้ำยาล้างห้องน้ำ
- ทำปฏิกิริยากับโลหะอลูมิเนียม หรือสังกะสี ได้ฟองแก๊สไฮโดรเจน
- ทำปฏิกิริยากับไขมัน เกิดสารลื่นมือ คล้ายสบู่
- มีฤทธิ์กัดกร่อน
- มีค่า pH มากกว่า 7
- เปลี่ยนสีกระดาษลิตมัส จากสีแดง เป็นสีน้ำเงิน
วิทยาศาสตร์จากน้ำอัญชันมะนาว
ต้นอัญชัน เป็นพืชดอกชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นไม้เลื้อย จัดอยู่ในวงศ์เดียวกันกับพืชจำพวกถั่ว ลักษณะดอกที่พบบ่อย จะเห็นสีของดอกเป็นสีน้ำเงินหรือสีม่วง โดยมีตรงกลางดอกเป็นสีเหลือง
สารเคมีที่พบในดอกอัญชัน
ดอกอัญชัน มีสารเคมีที่สะสมอยู่ภายในดอก เช่น สารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ที่ช่วยเรื่องการกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ดี จึงมีส่วนช่วยทำให้ผมดำเงางาม บำรุงสายตา และลดอาการเหน็บชา
การทดสอบความเป็นกรด – เบสของน้ำอัญชัน
เมื่อละลายน้ำออกมา จะมีสีน้ำเงิน ซึ่งสารละลายของน้ำอัญชัน สารที่ละลายออกมานี้ คือสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารอินดิเคเตอร์ ที่ใช้ในการบ่งชี้ความเป็นกรด-เบส ของสารละลายอื่นๆ
สารที่มีฤทธิ์เป็นกรด เมื่อใส่ลงไปในน้ำอัญชัน จะเกิดการเปลี่ยนสีเป็นสีม่วงแดง
ในทางตรงกันข้าม หากใส่สารที่มีฤทธิ์เป็นเบส เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำสบู่ ใส่ลงไปในน้ำอัญชันจะเกิดเป็นสีเขียวอมฟ้า
เมื่อคั้นน้ำอัญชันออกมาจากดอกแล้ว จะพบว่าน้ำอัญชันมีสีน้ำเงินเข้ม และเมื่อบีบน้ำมะนาวลงในน้ำอัญชัน จะทำให้น้ำอัญชันเกิดการเปลี่ยนสี เป็นสีม่วงแดง การเปลี่ยนสีของน้ำอัญชันนี้ ทำให้เราสามารถทราบได้ว่า น้ำมะนาว ที่มีรสเปรี้ยว มีคุณสมบัติเป็นกรด โดยกรดที่อยู่ที่ในน้ำมะนาวนั้น เป็นกรดอินทรีย์ที่มีชื่อว่า กรดซิตริก นั่นเอง
https://www.youtube.com/watch?v=RA14a44dp-E
Facebook http://facebook.com/Scientiakid
website : http://www.scientia.in.th








