เมื่อความขัดแย้งลามเข้ามาในบ้าน ! ท่ามกลางสถานการณ์ร้อนทางการเมือง
เมื่อความขัดแย้งลามเข้ามาในบ้าน !
......
ท่ามกลางสถานการณ์ร้อนทางการเมืองที่ดูเหมือนกำลังคุกรุ่นและลุกลามไปสู่วัยที่เด็กลงเรื่อย ๆ ประกอบกับสถานการณ์ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่มายาวนาน และนับวันยิ่งแบ่งข้างแบ่งขั้วกันจนลุกลามไปสู่การแบ่งระหว่างรุ่น
แม้กระทั่งพ่อแม่ลูก..ก็เห็นต่างกัน ! จนนำไปสู่ความขัดแย้ง และกังวลว่าอาจนำไปสู่การทำลายสัมพันธภาพในครอบครัว !
ความจริงเรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิด ถ้าจำได้เมื่อการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เชื่อแน่ว่าหลายครอบครัวที่มีลูกอยู่ในช่วงวัย New Voter หรืออายุ18 ปีขึ้นไป ที่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกได้ คงเผชิญปัญหาเรื่องวิธีคิดทางการเมืองที่มีความแตกต่างกันระหว่างพ่อแม่ลูกมีจำนวนไม่น้อย
ล่าสุด เมื่อมีการชุมนุมที่มีนิสิตนักศึกษาและนักเรียนเข้าร่วมด้วย จึงทำให้เกิดความไม่สบายใจของผู้ที่เป็นพ่อแม่จำนวนมากเช่นกัน บางครอบครัวไม่เป็นปัญหาก็นับเป็นเรื่องที่ดี แต่บางครอบครัวกลายเป็นความขัดแย้งภายในบ้าน จากเพียงแค่เห็นต่าง ก็เริ่มมีการถกเถียง และขยายผลไม่ฟังกัน จนลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งและทะเลาะกันในที่สุด
บางคนถึงขนาดเคร่งเครียดไมเกรนขึ้น เพราะมีความรู้สึกว่าลูกคิดไม่เหมือนตัวเอง ไม่เข้าใจว่าทำไมลูกถึงมีความคิดที่ต่างจากตัวเองขนาดนี้ บางคนถึงขั้นทะเลาะกันรุนแรง เพราะห้ามไม่ให้ไปร่วมชุมนุม ลูกก็ไม่ฟัง จนทำให้สัมพันธภาพแย่ลงเรื่อย ๆ และทำท่าจะไปกันใหญ่ ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร
ดิฉันเองก็ถูกถามบ่อยมากว่า มีปัญหาเรื่องนี้ไหม ?
ดิฉันมีลูกชาย 2 คนอยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนปลาย โดยปกติครอบครัวเราพูดคุยกันแทบทุกเรื่อง ทำให้มีพื้นฐานทางความคิดและเข้าใจดีว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร ที่สำคัญมีพื้นที่ทางความคิดของแต่ละคนที่มักไม่ก้าวก่ายกัน ทำให้เรื่องความคิดต่างในหลาย ๆ เรื่องรวมถึงเรื่องการเมือง จึงออกมาในรูปแบบว่า พ่อคิดอย่างไร แม่คิดอย่างไร และลูกทั้งสองคิดอย่างไร
เวลาพูดคุยกันจึงออกมาในลักษณะรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างกันมากกว่า ที่จะพยายามยัดเยียดว่าต้องให้ใครคิดเหมือนใคร
จริง ๆ อยากจะบอกว่า เรื่องพ่อแม่ลูกคิดไม่เหมือนกันเป็นเรื่องปกติ
เพราะต้องเข้าใจว่ายุคสมัยเปลี่ยน การรับรู้ก็เปลี่ยน วิธีคิดก็เปลี่ยน ฯลฯ ถ้าให้ลูกคิดเหมือนเราสิแปลก !
ฉะนั้น สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือต้องคิดว่าเราเคยผ่านประสบการณ์วัยรุ่นมาก่อนแล้ว เราควรจะโน้มตัวลงเพื่อที่จะพยายามทำความเข้าใจ และเปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้บนประสบการณ์ชีวิตของเขา โดยมีข้อควรคำนึงถึงบางประการ ทั้งข้อห้าม และข้อควรทำ
ข้อห้าม 5 ข้อ
หนึ่ง – อย่าโน้มน้าวให้ลูกคิดเหมือนพ่อแม่
ลูกไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนพ่อแม่ ที่ผ่านมาพ่อแม่จำนวนมากมักมีความคิดว่าลูกของเราควรคิดเหมือนเรา ถ้าคิดไม่เหมือนก็พยายามหาทางโน้มน้าว พร่ำพูด หรือต่อว่า เพื่อให้ลูกคิดเหมือนเราให้ได้ บางทีเราอาจต้องคิดว่าเมื่อตอนที่เราวัยใกล้เขา ก็มีหลายเรื่องที่เราคิดไม่เหมือนพ่อแม่ และไม่จำเป็นต้องเหมือนมิใช่หรือ
สอง – อย่าคิดว่าลูกไม่รู้เรื่อง
พ่อแม่จำนวนมากที่ถือดีคิดว่าลูกไม่รู้เรื่องหรอก เพราะลูกยังไม่เกิดจะรู้เรื่องอะไร แล้วในยุคสมัยเราที่เคยเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองมากมาย หลายเรื่องในอดีตเราก็ยังไม่เกิดมิใช่หรือ แต่เราก็อ่านได้ คิดได้ จะว่าไปยุคนี้เป็นยุคดิจิทัลที่เขาสามารถหาข้อมูลต่าง ๆได้มากยิ่งกว่ายุคเราหลายเท่านัก ฉะนั้น อย่าได้คิดว่าพวกเขาไม่รู้เรื่อง แต่ควรจะหาวิธีให้พวกเขาได้กลั่นกรองข้อมูลและเปิดใจรับข้อมูลให้รอบด้านด้วยตัวเองจะดีกว่า
สาม – อย่าคิดว่าลูกไม่ได้เรื่อง
ถ้าการที่ลูกคิดไม่เหมือนพ่อแม่ แล้วบอกว่าลูกไม่ได้เรื่องแล้วล่ะก็ คุณกำลังผลักลูกให้ห่างตัวออกไปอีก เพราะเขาจะยิ่งรู้สึกไม่พอใจที่พ่อแม่ไม่เข้าใจ แล้วยังกลายมาเป็นต่อว่าพวกเขาอีกต่างหาก ทีนี้ล่ะ มันอาจจะส่งผลกระทบไปในเรื่องอื่นๆอีกก็เป็นได้
สี่ – อย่าพยายามเปลี่ยนความคิดลูก
แม้ว่าพ่อแม่อาจไม่ถูกใจที่ลูกมีความคิดไม่เหมือนพ่อแม่ แต่ควรเคารพความคิดและการตัดสินใจของลูก ให้เขาได้ลองผิดลองถูกในแบบของเขา พ่อแม่เองก็มีหลายครั้งในชีวิตมิใช่หรือที่เคยลองผิดลองถูก แล้วมาพบในภายหลังว่ามันผิด ฉะนั้น อย่าพยายามเปลี่ยนความคิดลูก เด็กทุกคนต้องการคิดเอง อยากได้รับการยอมรับจากผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน
ห้า – อย่าตอกย้ำว่าลูกถูกชักจูง
ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน โลกโซเชียลมีเดียส่งผลอย่างมากในกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ เพราะฉะนั้น แทนที่จะบอกว่าลูกถูกชักจูง ก็ปรับมาสอนให้ลูกรู้เท่าทันสื่อดีกว่า ให้รู้ว่าจะแยกแยะอย่างไร ไหนข่าวเท็จ ข่าวจริง ข่าวลวง โดยอาจจะยกตัวอย่างจากสถานการณ์ปกติก็ได้ เช่น ชวนพูดคุยเรื่องโฆษณา เพื่อให้เขาเห็นว่าการโฆษณาก็หลอกได้ โลกของข่าวสารก็มีทั้งข้อมูลเท็จข้อมูลจริง และข้อมูลที่ทำร้ายกันก็ได้ สิ่งสำคัญคือต้องฝึกให้ลูกตั้งคำถาม และไม่หลงเชื่อทันที ควรสอนให้วิเคราะห์ให้เป็น ไม่ตกเป็นเครื่องมือของใคร
ทั้ง 5 ข้อนี้ ถ้าพ่อแม่ยิ่งห้ามก็จะเหมือนยิ่งยุ และเท่ากับยิ่งผลักลูกออกจากตัวเองมากขึ้น
ข้อควรทำ 5 ข้อ
หนึ่ง – เข้าใจ
พ่อแม่ต้องเข้าใจพัฒนาการตามช่วงวัยของลูกด้วยว่า วัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ สังคมปัจจุบันเป็นยุคข่าวสารไร้พรมแดน ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ความรู้สึกนึกคิดของวัยรุ่นมากขึ้นด้วย ในระยะวัยรุ่นเป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต G. Stanley Hall นักจิตวิทยาซึ่งได้ชื่อว่า เป็นบิดาของการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ด้านวัยรุ่น ให้นิยามวัยรุ่นว่าเป็น “วัยพายุบุแคม” มาจากการที่วัยรุ่นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และเป็นไปอย่างรวดเร็ว
สอง – ยอมรับ
เมื่อเข้าใจก็ต้องยอมรับในตัวลูก หากลูกมีความคิดอ่านทางการเมืองเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเหมือนหรือต่างจากพ่อแม่ ดีกว่าที่เขาจะไม่คิดอ่านอะไรเลย คอยถามแต่ว่าเรื่องนี้เป็นอย่างไรควรทำอย่างไร
สาม – รับฟัง
การรับฟังลูกมีความสำคัญมาก ต้องเปิดใจกว้างวางอคติและรับฟังอย่างจริงใจ และพยายามทำความเข้าใจ อาจตั้งคำถามเพื่อให้ลูกอธิบายถึงเหตุผลและความคิดเห็นของเขา เพื่อเป็นตัวอย่างและให้คำแนะนำลูกด้วยว่าควรเป็นนักฟังที่ดีด้วย การฟังอย่างรอบด้านมีความสำคัญมาก ไม่ใช่เลือกที่จะฟัง หรือฟังเฉพาะคนที่เราชอบ ควรบอกลูกว่าการฟังเป็นพื้นฐานของทุกเรื่อง โดยเฉพาะท่ามกลางความขัดแย้ง การรับฟังอย่างรอบด้านมีความสำคัญมาก
สี่ – ชี้ให้เห็น
หน้าที่สำคัญอีกประการก็คือ การชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่ลูกทำในวันนี้มันอาจจะส่งผลกระทบในอนาคต อาจยกตัวอย่างข่าวสารในอดีตที่เคยเกิดขึ้นว่าบางคนก็โดนอดีตตามไปหลอกหลอนปัจจุบันจนทำให้เสียโอกาสอะไรบ้างในชีวิต พยายามให้ลูกใช้ทักษะรอบด้านทั้งเรื่องการฟัง ดู อ่านอย่างรอบด้านแล้วก็จะนำมาสู่ขั้นคิดวิเคราะห์ได้ เพราะเรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องที่ต้องใช้ข้อมูล ข้อเท็จจริง มิใช่ความรู้สึก หรือความคิดเห็น
ห้า – ทำใจ
ข้อนี้ถือเป็นขั้นสุดของผู้เป็นพ่อแม่ที่ต้องทำใจให้ได้ ไม่ว่าลูกจะตัดสินใจอย่างไร ถ้าเราได้ทำหน้าที่ในการแนะนำและประคับประคองแล้ว ก็ต้องเคารพการตัดสินใจของลูก และบอกลูกว่าก็ต้องรับผลของการกระทำที่อาจจะตามมาด้วย
ทั้ง 5 ข้อที่ควรทำ เป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องคำนึงถึง เนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัยแห่งความสับสนและเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตที่ต้องก้าวจากเด็กไปสู่ผู้ใหญ่ ดังนั้น จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่พ่อแม่จะต้องประคับประคองชีวิตของลูกให้ผ่านพ้นวัยนี้ให้ดีที่สุดด้วยวิธีการที่เหมาะสม
ดร.เฮม จีนอตต์ ผู้เขียนหนังสือเรื่องวิธีพูดกับลูกวัยรุ่น โดยไม่ทำร้ายตัวตน และจิตใจของเขา และทำให้เขาอยู่ร่วมกับคุณได้ โดยไม่ทะเลาะหรือต่อต้านคุณ
“พ่อแม่ที่ฉลาดจะรู้ว่าการทะเลาะกับลูกวัยรุ่นนั้น เสมือนการพายเรือสู้กับกระแสน้ำ มีแต่จะนำหายนะมาให้ เวลาที่พ่อแม่โกรธอาจจะใช้คำพูดที่ไม่ตั้งใจทำให้เขารู้สึกโง่หรือความคิดไม่เข้าท่า อาจทำร้ายตัวตนและจิตใจจนทำให้เขาไม่รู้จักคุณค่าของตัวเอง และยังลามไปถึงการไม่รู้จักคุณค่าของคนอื่นอีกด้วย และที่เลวร้ายกว่านั้นคือ สักวันหนึ่งเขาจะคิดว่าตัวเขาเองเป็นเช่นนั้นจริงๆ”
น้ำเชี่ยวอย่าเอาเรือไปขวาง !
.....
ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน
19 สค.63
#เมื่อพ่อแม่ลูกเห็นต่างทางการเมือง #ครอบครัวขัดแย้งเรื่องการเมือง #ลูกวัยรุ่น #ความขัดแย้งลามมาในบ้าน