สิ่งนี้เรียกว่า “น้ำปลาพริก”
สิ่งนี้เรียกว่า “น้ำปลาพริก” คำว่า “น้ำปลาพริก” เป็นคำที่ใช้มาแต่เดิม “น้ำปลา” เป็นคำหลัก ส่วน “พริก” เป็นคำนามขยาย แอดมินเห็นคำนี้เป็นประเด็นมาก เถียงกันว่าสิ่งนี้ แท้จริงแล้วเรียกว่าอะไรระหว่าง “น้ำปลาพริก” หรือ “พริกน้ำปลา” ซึ่งแอดมินเองก็ตัดสินไม่ได้ว่าคำไหนถูกต้อง แอดมินจึงส่งอีเมลไปถามสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ถึงเรื่องนี้สำนักงานราชบัณฑิตยสภาก็ตอบมาว่า พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๕๔ ไม่ได้เก็บคำว่า “น้ำปลาพริก” หรือ “พริกน้ำปลา” ไว้ แต่เก็บคำว่า “น้ำปลา” และ “พริก” ไว้โดยมีความหมายดังนี้ น้ำปลา น. นํ้าสำหรับปรุงอาหารให้มีรสเค็ม ทำจากปลาเป็นต้นหมักกับเกลือ. พริก น. ชื่อไม้ล้มลุกในสกุล Capsicum วงศ์ Solanaceae ผลมีรสเผ็ด มีหลายชนิด เช่น พริกขี้หนู ( C. frutescensL.), พริกหยวก พริกชี้ฟ้า ( C. annuum L.)
ทั้งนี้ หากพิจารณาความหมายของคำทั้งสองตามที่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๕๔ คำว่า “น้ำปลาพริก” หรือ “พริกน้ำปลา” ก็คือ อาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำปลาและพริกทั้งคู่ อย่างไรก็ตามได้สอบถามความเห็นจาก ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล กรรมการวิชาการของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้รับข้อมูลว่า “น้ำปลาพริก” คือคำที่ใช้มาแต่เดิม “น้ำปลา” เป็นคำหลัก ให้ความหมายว่า เค็ม ส่วน “พริก” เป็นคำนามขยาย พริกช่วยเสริมรสเค็มให้เจือเผ็ด เวลาเติมรสอาหารด้วยน้ำปลาพริกอย่างเติมในข้าวผัดเพราะต้องการความเค็มนำ แต่ไม่ต้องการเค็มโดด ๆ จึงใช้น้ำปลาพริก นอกจากนี้มี “น้ำปลาพริก” อีกแบบหนึ่งที่ใช้ “พริกป่น” แทน “พริกขี้หนู” ก็เรียกว่า “น้ำปลาพริกป่น” ไม่มีผู้เรียกว่า “พริกป่นน้ำปลา”
พรทิพย์ เดชทิพย์ประภา
พนักวรรณศิลป์ชำนาญการ
https://www.facebook.com/kumthailand/posts/2376113422706857/