หูดหงอนไก่ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ต้องระวัง!
โรค หูดหงอนไก่ หรือ (Genital warts , Condyloma acuminata) คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งโดยลักษณะอาการของโรคคือ มีติ่งเนื้อขรุขระคล้ายหงอนไก่ ขึ้นบริเวณอวัยวะเพศหรือทวารหนัก เป็นโรคที่พบได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิงในช่วงอายุระหว่าง 16-30 ปี ซึ่งในปัจจุบันโรคหูดหงอนไก่พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
อาการของโรคหูดหงอนไก่เป็นอย่างไร
อาการของผู้ที่ติดโรคหูดหงอนไก่หากมีภูมิคุ้มกันแข็งแรงจะไม่แสดงอาการใดๆเลย ไปจนถึงมีติ่งเนื้อ ลักษณะคล้ายดอกกะล่ำปลีขึ้นอย่างชัดเจนตามบริเวณ อวัยวะเพศ ช่องคลอด ทวารหนัก ท่อปัสสาวะ หรือบริเวณง่ามขา โดยที่ผู้ป่วย 1 รายอาจพบรอยโรคในหลายๆ ตำแหน่งได้ ลักษณะของรอยโรคที่เกิดขึ้นแบ่งเป็น 3 กรณีหลักๆ คือ รอยโรคจะหายไปเอง รอยโรคจะอยู่เหมือนเดิม และรอยโรคจะขยายเพิ่มขึ้น ซึ่งขนาดและการเรียงตัวของหูดอาจแตกต่างกันไป ส่งผลให้ผู้ติดเชื้ออาจเกิดความสับสนเพราะมีอาการคล้ายกับโรคซิฟิลิส โรคหูดข้าวสุก หรือโรคผิวหนังชนิดอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่โรคหูดหงอนไก่จะไม่มีอาการเจ็บหรือระคายเคืองแต่อย่างใด เว้นแต่ในผู้ป่วยส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจมีอาการคันอย่างรุนแรง แสบร้อน มีเลือดออกจากบริเวณแผล
สาเหตุของโรคหูดหงอนไก่
หูดหงอนไก่เกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Human Papillomavirus หรือ HPV ซึ่งในปัจจุบันพบไวรัสชนิดนี้มากกว่า 200 สายพันธุ์ย่อย โดยเชื้อที่ทำให้เกิดโรคหูดหงอนไก่มากถึง 90% คือสายพันธ์ุ 6 และ 11 เมื่อร่างกายของผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัส HPV เข้าร่างกาย จะใช้ระยะเวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 3 เดือนในการแบ่งตัวเข้าสู่เซลล์ชั้นล่างสุดของเยื่อบุ จนเกิดการเปลี่ยนรูปร่างเป็นติ่งเนื้องอกขึ้นมาให้เห็นได้ชัดเจน และโดยปกติแล้วผู้ที่เป็นโรคหูดหงอนไก่ประมาณร้อยละ 80% จะสามารถหายเองได้ภายใน 2 ปี แต่ในผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานอ่อนแอหรือส่วนน้อยของผู้ป่วยทั้งหมดที่ร่างกายจะเกิดเป็นรอยโรคเรื้อรัง
ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการติดต่อของโรค
-
การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อไวรัสโรคหูดหงอนไก่
-
พฤติกรรมการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
-
มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย
-
ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
-
มีกิจกรรมทางเพศอื่น ๆ ที่ไม่ปลอดภัย
-
การติดต่อจากแม่ไปสู่ลูกในระหว่างการคลอด
ตำแหน่งที่พบรอยโรคหูดหงอนไก่
เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหูดหงอนไก่มักขึ้นในบริเวณร่างกายที่มีเนื้อเยื่อเมือก เนื่องจากเป็นบริเวณที่อับชื้นและอุ่น ซึ่งผู้หญิงจะพบมากที่ปากช่องคลอด ปากมดลูก ผนังช่องคลอด ทวารหนัก รวมถึงบริเวณฝีเย็บ ส่วนในผู้ชายมักพบบริเวณใต้หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ รูเปิดท่อปัสสาวะ เส้นสองสลึง และบริเวณรอบทวารหนักในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
และตำแหน่งที่พบรอยโรคในทารกที่ผ่านการคลอดทางช่องคลอดมารดาที่เป็นโรคหูดหงอนไก่ จะมีเป็นหูดหงอนไก่ที่หลอดลม อาจมีอาการเสียงแหบและเกิดการอุดกั้นของกล่องเสียงได้
การตรวจวินิจฉัยโรคหูดหงอนไก่
การตรวจวินิจฉัยโรคหูดหงอนไก่นั้น แพทย์จะเริ่มต้นด้วยการตรวจบริเวณรอยโรคที่มองเห็นได้ชัดเจน หากไม่แน่ชัดแพทย์จะทำการตรวจชิ้นเนื้อบริเวณรอยโรคด้วยการตรวจทางพยาธิวิทยาโดยการใช้กรดอะซิติกเพื่อสร้างปฏิกิริยาให้หูดมีสีซีดจากลงจากเดิม และตรวจด้วยการเก็บตัวอย่างเชื้อเพื่อทำการระบุเชื้อ ซึ่งในกรณีที่ผลตรวจพบว่าผู้ป่วยเป็นโรคหูดหงอนไก่แน่ชัดแล้ว แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆร่วมด้วย เพื่อหาแนวทางในการรักษาได้อย่างเหมาะสม
การรักษาหูดหงอนไก่
โรคหูดหงอนไก่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นในการรักษาโรคนี้เพื่อให้ผู้ป่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับรอยโรค และบรรเทาอาการของรอยโรคให้จางหายเท่านั้น ซึ่งโรคหูดหงอนไก่มีวิธีการรักษาที่หลากหลายขึ้นอยู่กับลักษณะอาการและการวินิจฉัยของแพทย์ เช่น กรณีที่ผู้ป่วยมีรอยโรคไม่ใหญ่มาก แพทย์จะเลือกใช้ยาชนิดทาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยาชนิดทา Podophyllin ชนิด 25% , ยาชนิดทา Podofilox ชนิด 0.5% , ยาชนิดทา Imiquimod cream ชนิด 5% , ยาชนิดทา Trichloroacetic Acid หรือ TCA ชนิด 50-70% และกรณีที่หูดมีขนาดใหญ่แพทย์จะรักษาโดยการจี้ด้วยไฟฟ้า หรือ Electrocauterization , การจี้ด้วยความเย็น หรือ Cryotherapy , การขูดเนื้องอก หรือ Curettage , การผ่าตัด หรือ Surgical excision โดยจากสถิติพบว่าผู้ป่วยโรคหูดหงอนไก่มากกว่า 50% มีโอกาสเกิดโรคซ้ำในช่วง 6 เดือนแรกหลังสิ้นสุดการรักษา ซึ่งเกิดจากเชื้อที่คงเหลืออยู่ในร่างกายและจากการติดเชื้อซ้ำ
การป้องกันโรคหูดหงอนไก่
ปัจจุบันโรคหูดหงอนไก่ยังไม่มียาที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันได้ 100% ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อ จึงต้องหลีกเลี่ยงโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV ด้วยวิธีเดียวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ดังต่อไปนี้
ป้องกันโรคด้วยการปฏิบัติตัว
-
การสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
-
หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ทางเพศร่วมกับผู้อื่น
-
หลีกเลี่ยงการมีสัมพันธ์กับผู้ที่มีแผลบริเวณอวัยวะเพศ
-
ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
-
หลีกเลี่ยงการมีสัมผัสกับผู้เป็นโรคหูดหงอนไก่
-
รักษาความสะอาดบริเวณ ทวารหนัก อวัยวะเพศ มุมอับชื้นต่าง ๆ ภายในร่างกาย
-
ตรวจเอชไอวีและโรคติดต่อเป็นประจำ
ป้องกันโรคด้วยการฉีดวัคซีน
-
วัคซีนการ์ดาซิล (Gardasil)
-
ป้องกันเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของโรคหูดหงอนไก่ได้ 90%
-
ป้องกันไวรัส HPV สายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกได้ 70%
-
-
วัคซีนเซอร์วาริก (Cervarix)
-
ป้องกันไวรัส HPV สายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก
-
ภาวะแทรกซ้อนของโรคหูดหงอนไก่
ผู้ป่วยโรคหูดหงอนไก่มีความเสี่ยงที่เชื้อไวรัสในร่างกาย จะพัฒนาไปสู่การเกิดโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น มะเร็งองคชาต มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งบริเวณแคมใหญ่ มะเร็งในคอหอย โดยโรคแทรกซ้อนดังกล่าวล้วนเกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ รวมถึงกรณีเพศหญิงที่มีหูดหงอนไก่ขนาดใหญ่ระหว่างการตั้งครรภ์ อาจส่งผลให้รอยแผลขัดขวางการคลอดจนแพทย์ต้องใช้วิธีการผ่าคลอดแทน
การดูแลตนเองระหว่างการรักษาหูดหงอนไก่
-
งดมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างการรักษา
-
เข้ารับการรักษาตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด
-
หมั่นรักษาสุขอนามัยร่างกายและบริเวณที่พบรอยโรค
-
หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อให้กับผู้อื่น
-
หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น สูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอ
-
ควรรีบพบแพทย์ทันที หากมีอาการผิดปกติ หรือ มีอาการรุนแรงมากขึ้น
-
ควรให้คู่นอนทำการตรวจรักษาร่วมด้วยเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ