แนะวิธี ทำบุญ ตักบาตร แบบ“New Normal” อย่างไรให้ดีต่อใจ ดีต่อโลก
เพราะเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ พุทธศาสนิกชนจึงเลือกที่จะทำบุญในวาระต่างๆ ไม่ใช่เพียงแค่วันสำคัญทางพุทธศาสนาเท่านั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ “ขยะพลาสติก” ที่มาจากการตักบาตร ทำบุญสังฆทาน เป็นศรัทธาที่มาพร้อมพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นการถวายอาหารที่บรรจุในถุงพลาสติกหูหิ้ว สังฆทานสำเร็จรูปที่ห่อหุ้มด้วยพลาสติก สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดขยะพลาสติกมหาศาล กลายเป็นภาระต่อวัดและมลภาวะต่อโลก
การทำบุญวิถีใหม่แบบ New Normal จึงเกิดขึ้นภายใต้แนวคิดของ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ขอเชิญชวนชาวพุทธร่วมทำบุญ ตักบาตรวิถีใหม่แบบ New Normal ที่ดีต่อโลกและดีต่อใจ กับการตักบาตรลดพลาสติกหรือภาชนะพลาสติก และเปลี่ยนมาใช้ถุงผ้าหรือตระกร้าใส่ของ ใช้ปิ่นโต หรือกล่องอาหาร ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ การใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ใบบัว ใบตอง มาทำเป็นภาชนะใส่อาหาร
อีกหนึ่งแนวคิดที่น่าสนใจไม่น้อย คือ “โครงการทำบุญตักบาตรต้นกล้า” ที่คุณหญิงกัลยา ร่วมจัดตั้งกับมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ นำต้นกล้าที่ชาวพุทธร่วมตักบาตร ไปปลูกที่วัดป่าคำเจริญ จ.อุดรธานี เพื่อพัฒนาเป็นสวนป่าและศูนย์การเรียนพุทธศาสนาสำหรับเด็กและชุมชน
การทำบุญ ตักบาตรเกิดจากความศรัทธา ความศรัทธานำมาซึ่งความสุขใจ การทำบุญวิถีใหม่ วันนี้ไม่ว่าจะในวันสำคัญทางศาสนา หรือวันสำคัญทางจิตใจ ทุกคนอาจไม่จำเป็นต้องไปที่วัด แค่เริ่มต้นจากการลดการใช้พลาสติกหรือใช้ซ้ำ การลดขยะ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การตักบาตรต้นกล้า ล้วนเป็นการทำบุญที่ดีต่อใจ ดีต่อสุขภาพ กาย และโลก