ค่าการตลาดทำให้น้ำมันแพง?
ค่าการตลาด คือหนึ่งในปัจจัยหลักของโครงสร้างราคา เพราะกำไรและต้นทุนการบริหารจัดการปั๊มอยู่ในนี้ หากไม่มีค่าการตลาด ก็จะไม่มีแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนสถานีบริการตามจุดต่าง ๆ ของประเทศ (จะเห็นว่าค่าการตลาดยังไม่ใช่กำไร เพราะยังไม่ได้หักต้นทุนต่าง ๆ ภายในปั๊มอย่างที่กล่าว)
สัดส่วนค่าการตลาดเมื่อคิดเป็นตัวเลขกลมๆ เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ประมาณ 2 บาทกว่าๆ (ในที่นี้คือค่าการตลาดเฉลี่ยของทุกผลิตภัณฑ์) ในขณะที่น้ำมัน 1 ลิตรประมาณ 20 บาท นั่นหมายความว่า สัดส่วนค่าการตลาดในราคาปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 10-15% ของราคาขายโดยประมาณ
คำถามคือ ตัวเลขสัดส่วนนี้สูงเกินไป จนเป็นสาเหตุว่าทำไมน้ำมันแพงได้หรือไม่ หรือการกำหนดค่าการตลาดเองของแต่ละเจ้าจะมีผลต่อราคาน้ำมันในประเทศถึงขนาดที่ว่าสามารถกำหนดราคาน้ำมัน อย่างที่บางคนชอบคิดกันว่า ปตท. เป็นผู้กำหนดราคาน้ำมัน (เพราะในความเป็นจริงค่าการตลาดเป็นปัจจัยเดียวในโครงสร้างราคาน้ำมันที่แต่ละแบรนด์ตามผู้ค้ามาตรา 7 สามารถตั้งราคาเองได้แต่มีหน่วยงานรัฐอย่าง สนพ. หรือชื่อเต็มๆ สำนักนโยบายและแผนพลังงาน กำกับดูแลอยู่ )
“ประเด็นร้อนแรงช่วงนี้ในแวดวงน้ำมันเราคงเห็นประเด็นการนำเสนอเรื่องที่ว่า นโยบายรัฐเห็นชอบค่าการตลาดในน้ำมันขายปลีก ไว้ที่อัตราเฉลี่ย 1.85 บาทต่อลิตร เป็นค่าการตลาดเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของน้ำมันทุกชนิดในภาพรวม ไม่ใช่พิจารณารายผลิตภัณฑ์ และจะมีความยืดหยุ่น +/- 0.40 บาทต่อลิตร หรือค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยจะอยู่ในช่วง 1.45 – 2.25 บาทต่อลิตร
คำถามคือ ค่าการตลาดกี่บาทถึงจะเหมาะสม และเท่าไหร่มันถึงจะเรียกว่าเยอะไปน้อยไป
น้ำมันขายปลีกในไทย มีหลายชนิดมาก และ ค่าการตลาดแต่ละชนิดก็ไม่เท่ากัน ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 63 (หน่วยต่อวัน) (ตัวเลขจาก สนพ.)
– ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันไทยในไทยกลุ่มเบนซิน (รวมแก๊สโซฮอล์ต่างๆ) อยู่ที่ 31.40 ล้านลิตรต่อวัน แบ่งเป็น เบนซิน 95 0.8 ล้านลิตร / โซฮอล์ 95 14.01 ล้านลิตร / โซฮอล์ 91 8.97 ล้านลิตร / E20 6.5 ล้านลิตร / E85 1.11 ล้านลิตร ตามลำดับ โดยค่าการตลาดจะอยู่ที่ประมาณ 3 บาทกว่า – 4 บาทกว่า ในเบนซิน ปกติ ส่วนกลุ่มแก๊สโซฮอล์จะอยู่ที่ประมาณ 1.7 – 2.4 บาท
– ส่วนดีเซล ก็มีหลายชนิดไม่แพ้กัน อยู่ที่นโยบายการส่งเสริมของรัฐบาลในแต่ละยุค โดยปริมาณการจำหน่ายกลุ่มดีเซล อยู่ที่ 67.64 ล้านลิตร โดยแบ่งเป็น ดีเซล B7 51.53 ล้านลิตร / B10 6.37 ล้านลิตร / B20 6.69 ล้านลิตร / ดีเซลพื้นฐาน 3.06 ล้านลิตร ตามลำดับ โดยค่าการตลาดจะอยู่ที่ประมาณ 1.7 บาทกว่า – 2.5 บาทกว่า
โดยค่าการตลาดที่ผู้ค้าตามมาตรา 7 ได้นั้น เป็นรายได้ของผู้ประกอบการปั๊มน้ำมันและแบรนด์ จะยังไม่หัก ค่าดำเนินการ ค่าขนส่งน้ำมันจากคลังมาหน้าสถานีบริการ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเด็ก (หมายถึงเงินเดือนพนักงาน) ดอกเบี้ย(ที่ต้องกู้มาเปิดปั๊มที่ต้องใช้เวลาคืนทุน) ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ (ไอ่ที่ด่ากันว่า จะไปเข้าแต่ห้องน้ำเค้า ไม่เติมน้ำมันเค้า ค่าตรงนี้ก็มาจากค่าการตลาดน้ำมันนี่แหละครับ) หรือแม้แต่กระทั่ง ค่าเช่าที่ดิน หรือ ค่าที่ดินโดยแต่ละที่ไม่เท่ากันด้วย อีกทั้งยังมีส่วนที่แบรนด์แต่ละเจ้าจะหักจากผู้ค้าที่แต่ละแบรนด์ก็ไม่เท่ากันอีก
ในอดีตราคาน้ำมันของไทย มีการแทรกแซงจากภาครัฐในการเข้าควบคุมราคาอย่างชัดเจน หรือจะเรียกว่าบังคับก็ได้ ให้ขายราคาต่ำๆ เข้าไว้ จนไม่อยากมีเจ้าไหนอยากขยายสาขาเพิ่มเติม รวมถึงบางเจ้าก็เจ๊งปิดกิจการกลับบ้านไปก็เกิดขึ้นแล้วในอดีต
เราลองมาดูธุรกิจอื่นกันบ้างว่ากำไรจากการขายเท่าไหร่กันบ้าง ยกตัวอย่างจากลิงก์ที่ผมนำมา คือธุรกิจน้ำดื่ม ที่กำไรประมาณ 4 บาท
https://www.youtube.com/watch?v=vExv-mY8zdc
หรือแม้แต่กิจการอื่น ก็ยังกำไรมากกว่าขายน้ำมันเสียอีก แต่ก็ถ้าว่ากันด้วยปริมาณขายเอา Volume เข้าว่า เพื่อให้กิจการตัวเองได้เปิดต่อ หรือ เปิดกิจการอื่นควบคู่ไป เพื่อให้ตนมีกำไร เนื่องจากลงทุนไปแล้ว เคยได้ยินมาว่า บางคนยอมเปิดปั๊ม เพื่อจะได้มีกำไรจากการขายกาแฟ -*-
ทุกวันนี้ผู้ค้าน้ำมันในไทย ต้องพยายามปรับตัวในการหาธุรกิจอื่นมาเปิดเสริมเพื่อให้กิจการตนเองมีรายได้เพิ่มขึ้น เช่น ขายกาแฟ (กำไรยังเยอะกว่าขายน้ำมันอีก 5555) หรือเปิดให้เช่าพื้นที่ในปั๊ม ซึ่งไม่ควรเป็นแบบนั้นเพราะมันไม่ได้เป็นกิจการหลักในการเปิดปั๊มด้วยซ้ำ
เรื่องนี้ไม่มีใครตอบได้ว่า ค่าการตลาดที่เหมาะสมจะอยู่ที่เท่าไหร่กันแน่ แต่สุดท้ายการทำธุรกิจต้องบริหารในความเสี่ยง ไม่ว่าจะธุรกิจใดก็ตาม และก็คงไม่อยากให้มีการแทรกแซงราคากันไปมา จนเจ๊งไม่เป็นท่า ขายกิจการกันไปมา จนต้องมีเจ้าอื่นมาซื้อกิจการกันไปแบบในอดีตอีกแน่ๆ”
เมื่อพูดถึง “กำไร” แน่นอนว่าเป็นคำที่ผู้ค้าอยากได้ แต่ผู้ซื้อไม่อยากจ่าย ดังนั้นมันถึงเป็นคำแง่ลบเสมอในทัศนคติผู้บริโภค แต่หากจะมองอย่างเป็นธรรมแล้ว กำไรมีผลต่อการลงทุนและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศอย่างมาก มองง่ายๆ ว่าเมื่อนักลงทุนมองว่าธุรกิจใดที่สามารถสร้างกำไรได้ดี ก็มักจะเข้ามาลงทุน เมื่อมีการลงทุนมากก็ย่อมมีการแข่งขันมาก ซึ่งผลประโยชน์ก็ตกสู่ผู้บริโภคเอง กลับกันหากธุรกิจนั้นมีผลตอบแทนหรือกำไรที่ต่ำก็จะดึงดูดนักลงทุนได้น้อย (ลองคิดถึงภาพว่าหากน้ำมันมีค่าการตลาดต่ำ สร้างกำไรให้ผู้ประกอบการต่ำมาก จนไม่เกิดแรงจูงใจ สถานีบริการทำเลใดที่มีลูกค้าน้อยหรือห่างไกลความเจริญ โอกาสที่จะมีสถานีบริการไปเปิดก็แทบเป็นไปไม่ได้เลย) และสุดท้ายผลกระทบต่อผู้บริโภค
ถึงตรงนี้ผู้เขียนก็ฟันธงไม่ได้เช่นกันว่าตัวเลขค่าการตลาดในปัจจุบันนั้นถือว่ามากหรือน้อย เพราะเราเองก็ยังไม่ทราบต้นทุนการจัดการในแต่ละปั๊ม ซึ่งแตกต่างกันไป หากแต่เมื่อถา มว่าค่าการตลาดมีผลทำให้ราคาน้ำมันแพงหรือไม่ อันนี้ส่วนตัวคิดว่าไม่ เพราะอัตราส่วนเพียง 10-15% ถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น ๆ เช่น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ (ที่อัตราส่วนกำไรประมาณ 20-40%) โดยที่อย่าลืมว่า 10-15% นั้นเป็นสัดส่วนที่ต้องมี เพราะมันยังมีต้นทุนเรื่องการจัดการปั๊มรวมอยู่ด้วย ดังนั้นเวลาที่มีการโจมตีว่าค่าการตลาดสูงไปหลักสิบสตางค์ จึงเป็นเพียงการโจมตีของคนบางคนที่ไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจ ไม่เคยอยู่ในแวดวงพลังงาน ไม่เคยแม้แต่จะเกี่ยวอะไรกับปั๊มน้ำมันด้วยซ้ำ
อ้างอิงจาก: https://www.xn--72caab2fl6azbbby8lpav6ezjxc.com/ค่าการตลาดสูง-ค่าการตล/