ย้อนรอยการแสดงละครแฟนซีแห่งสยาม "อาบูหะซัน" สมัยรัชกาลที่๕
ชุดละครของไทยในสมัย ร.๕ ที่ออกแบบได้อย่างวิจิตรบรรจง เป็นละครแขกอาหรับราตรี เรื่อง อาบูหะซัน
ฝีมือการถ่ายโดย คาร์ล ซิกเฟร็ด เดอห์ริง (Karl Siegfried Döring) สถาปนิกชาวเยอรมัน
บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๒๒ มีลักษณะการประพันธ์ประเภทลิลิตสุภาพ จำนวน 991 บท
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้แรกที่นำนิทาน อาหรับราตรี (The Thousand and One Nights หรือ The Arabian Night's Entertainments) มาพระราชนิพนธ์เป็นภาษาไทย โดยทรงเก็บความจากเรื่อง "Sleeper Awaken" ซึ่งเป็นนิทานย่อยเรื่องหนึ่งในจำนวน 1001 เรื่องในอาหรับราตรี มาเรียบเรียงใหม่ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงพิชิตปรีชากร ตรวจแก้ไขถ้อยคำ จากนั้นโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ตรวจทาน และจัดพิมพ์เพื่อพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องจบโดยใช้เวลาเพียง 29 วันเพื่อให้ทันต่อโอกาสดังกล่าว
อะบูหะซัน กับนางนอซาตลอัวดัด ละครเรื่องนี้สมมุติเกิดขึ้นที่ นครแบกแดด แห่งอิรัก
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแปลชื่อเรื่องว่า นิทราชาคริต มีความหมายว่า การหลับและการตื่น หรือหลับๆตื่นๆ ตามแบบพฤติกรรมของตัวละครในเรื่อง
เนื้อเรื่องโดยย่อ
อาบูหะซัน ที่หลับแล้วตื่น มาพบว่าตนเองอยู่ในพระราชวัง แต่งเครื่องแต่งกายอย่างกาหลิบ ต่อมาก็เชื่อสนิทว่าตนเองเป็นกาหลิบจริงๆ แล้วเมื่อหลับและตื่นอีกครั้งในบ้านตนเอง ก็ยังหลงคิดว่าตนเองเป็นกาหลิบ แม้มารดาจะบอกว่าไม่ใช่ ก็ไม่เชื่อ อาบูหะซันยังหลับอยู่ในโลกเห็นความฝันหรือหลงใหลอยู่ในโลกมายา ไม่ยอมตื่นขึ้นมาในโลกความจริง
พระรูปเจ้านายทรงเล่นละครเรื่องนิทราชาคริช ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๒
อาบูหะซัน - พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค (กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ)
นางบำเรอนับแต่ซ้ายไปขวา
๑. นางดาวพระศุกร์ - พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นอดิศรอุดมเดช
๒. นางเศร้าจิตร - พระอมรวิสัย (เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ โต บุนนาค)
๓. นางชื่นจิตร - พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร (กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์)
๔. นางอรุณ - พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต (กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา)
๕. นางสร้อยจิตร - พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร (กรมพระดำรงราชานุภาพ)
๖. นางสร้อยไข่มุก - พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ (สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์)
Credit: Thummachuk Prompuay