สังเกตุอาการมะเร็งเต้านมด้วยตัวเอง รู้ไวรักษาทัน
มะเร็งเต้านม เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของผู้หญิงทั่วโลกและเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงไทย แต่เนื่องจากปัจจุบันผู้หญิงยุคใหม่มีความตื่นตัวในการตรวจสุขภาพมากขึ้น และมีการพัฒนาคุณภาพของเครื่องมือการตรวจที่ทันสมัยขึ้นทำให้เราสามารถพบมะเร็งเต้านมในระยะแรก ๆ ได้เร็วขึ้น ทำให้เปอร์เซ็นต์การตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มต้นมีมากขึ้น ซึ่งวันนี้เรามีข้อสังเกตสัญญาณเตือนของการเกิดมะเร็งเต้านมมาให้เพื่อนจะได้ทราบอาการเบื้องต้นก่อนต้องไปพบแพทย์จะมีอะไรบ้างนั้นมาดูกันครับ
สัญญาณเตือนที่สามารถสังเกตุได้ด้วยตัวเองมีดังนี้
- คลำพบก้อนเนื้อบริเวณเต้านม หรือใต้รักแร้ สามารถทำได้ด้วยตัวเองที่บ้านเป็นประจำ โดยก้อนเนื้อที่พบอาจจะกดเจ็บ หรือไม่เจ็บก็ได้ ผู้หญิงทุกคนควรตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือนหลังรอบเดือนหมด ประมาณ 1 สัปดาห์
- ขนาดหรือรูปร่างของเต้านมเปลี่ยนไป แม้ปกติเต้านมทั้ง 2 ข้างอาจมีขนาดและรูปร่างที่ต่างกันบ้าง แต่การหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของเต้านมข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างมีลักษณะผิดปกติไปจากเดิม จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้เท่าทันหากเกิดโรคร้ายตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
- ผิวหนังที่เต้านมบุ๋มลงไปคล้ายลักยิ้ม หรือบวมหนาเหมือนเปลือกส้มรวมถึงสีหรือผิวหนังบริเวณลานหัวนมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยให้ละเอียด เนื่องจากอาจเป็นอาการของเซลล์มะเร็งที่ลุกลามมาถึงชั้นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง
- อาการเจ็บผิดปกติที่เต้านมหรือผิวหนังของเต้านมอักเสบ หากมีอาการเจ็บเต้านมโดยที่ไม่ใช่ช่วงมีประจำเดือน หรือพบว่าผิวหนังรอบ ๆ เต้านมบวมแดงอักเสบ โดยเฉพาะเมื่อคลำพบก้อนเนื้อร่วมด้วย อย่าละเลยว่าเป็นเรื่องธรรมดาเด็ดขาด
- ผื่นคันบริเวณเต้านมรักษาแล้วไม่หายขาด ผื่นคันอาจเกิดขึ้นที่หัวนมหรือบริเวณเต้าส่วนใหญ่ เริ่มต้นเป็นเพียงผื่นแดงแสบ ๆ คัน ๆ แม้จะรักษาโดยแพทย์ผิวหนังแล้วยังไม่หายขาดจนกลายเป็นแผลตกสะเก็ดแข็ง ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
- มีน้ำเหลืองหรือของเหลวไหลออกมาจากหัวนม โดยเฉพาะหากพบว่าน้ำเหลืองหรือของเหลวไหลนั้นมีสีคล้ายเลือด และออกจากหัวนมเพียงรูเดียว ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเต้านมโดยละเอียด
ผู้หญิงทุกคนควรมีความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะวิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง และเสริมสร้างความมั่นใจในประเด็นของการสังเกตความผิดปกติของเต้านม และการตรวจโดยการคลำ เพราะผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม โดยมีปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงมากมาย ทั้งอายุ พันธุกรรม และพฤติกรรมการใช้ชีวิต การป้องกันที่ดีคือหมั่นสำรวจความผิดปกติของร่างกายและเต้านมสม่ำเสมอ หากพบสัญญาณเตือนมะเร็งเต้านม ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น