นับถือใจ!! หมอเดินทางไปเยี่ยมคนไข้ที่กักตัวอยู่ในไร่ สุดยอดมากเดินข้ามเขาไปสองลูกเลย
“หมอครับ จะถึงหละครับ พอเดินไหวไหม”
.
จะบอกว่าไม่ไหวก็กลัวเสียฟอร์ม ร้องตะโกนบอกไปว่า
.
“ไหว ยังพอไหว” ทั้งๆที่เหนื่อยแทบจะขาดใจ
.
เรื่องเล่าชีวิตหมออนามัยกับการดูแลสุขภาพของผู้ที่กักตัวฯ
.
“หมออนามัย หัวใจเพื่อชาวบ้าน”
คนต้นเรื่อง: หมออนามัย บนดอย
.
ในช่วงเช้าเข้าเวลาทำงาน ณ รพ.สต.บนดอยที่ห่างไกลจากความเจริญ ข้าพเจ้าประจำอยู่ รพ.สต.กับเพื่อนพยาบาลอีกคนหนึ่ง อากาศช่วงกลางวันมันช่างร้อนระอุ มองออกไปนอกหน้าต่าง เห็นเปลวแดดระยิบระยับ ประหนึ่งว่ามีกองฟืนสุมอยู่ใต้พื้นดิน มีเสียงจักจั่น และนกร้องประสานเสียงรับกันเป็นระยะๆ ย้ำเตือนให้เห็นความเป็นธรรมชาติที่ยังคงความสมบูรณ์ และความแห้งแล้งของบนดอยอยู่
.
พอว่างจากงานให้บริการแก่ผู้รับบริการในช่วงเช้า เวลาก็ล่วงเลยเที่ยงวันไปเกือบ 20 นาที ซึ่งเป็นเรื่องปกติของที่นี่ เวลาพักเที่ยง จะยืดเยื้อออกไปตามผู้รับบริการเป็นหลัก ข้าพเจ้าไม่รอช้า รีบไปทานข้าวกลางวันแบบง่ายๆ มีข้าวสวยที่หุงค้างหม้อไว้ตั้งแต่มื้อเช้ากับแกงผักกาด น้ำพริกหนุ่ม ที่เหลือจากทานมื้อเช้าเช่นกัน พอประทังชีวิตไปได้อีกหนึ่งมื้อ
พอทานข้าวกลางวันเสร็จ รีบกุลีกุจอ เอื้อมมือไปหยิบแฟ้มผู้ที่กักตัว มาบันทึกและสรุป เป็นข้อมูลที่ได้ลงไปเยี่ยมผู้กักตัวจากเมื่อวานนี้ แต่ด้วยภารกิจที่เร่งด่วน จึงยังไม่มีเวลาสรุป ได้แค่ลงบันทึกในแบบฟอร์ม ไล่จากคนที่ หนึ่ง สอง สาม .. ไปเรื่อยๆ อารมณ์และความรู้สึกเสมือนว่าได้ออกไปเยี่ยมผู้ที่กักตัวจริงๆอีกรอบหนึ่ง พอบันทึกมาถึงครอบครัวผู้กักตัว ที่มีทั้งแม่ ลูก และหลานๆ รวมจำนวน 7 คนที่อาศัยอยู่ในกระต๊อบที่ไร่ ห่างจากหมู่บ้านออกไปพอสมควร ที่ อสม.สรุปมาให้ ช่างเป็นเหตุบังเอิญจริงๆ จู่ๆ ก็มีญาติครอบครัวนี้มาติดต่อและแจ้งข่าวว่า
.
“หมอครับ เด็กน้อย 1 ใน 6 ของผู้กักตัวเองที่อยู่ในไร่ มีอาการไข้ เจ็บคอ ผมจะต้องทำอย่างไรบ้างครับ”
.
ข้าพเจ้านิ่งไปสักครู่ มีความรู้สึกเป็นห่วงเด็ก จะมีอาการเจ็บป่วยมากหรือเปล่า พอได้คำตอบในใจแล้ว จึงแจ้งญาติไปว่า
.
“เดี๋ยวหมอจะไปเยี่ยมเองนะ”
.
ขณะที่ตอบไป ก็ยังไม่รู้หรอก ว่าจะไปยังไง และเส้นทางที่จะไปมีสภาพเป็นอย่างไร ซึ่งผู้ป่วยรายนี้ยังไม่เคยไปเยี่ยม พร้อมกันนั้นได้โทรประสาน อสม.ในเขตรับผิดชอบและชวนไปเยี่ยมด้วยกัน
อสม.ถามกลับมา
.
“หมอไปไหวเหรอมันไกลมากนะ ต้องข้ามห้วย ข้ามเขา 2 ม่อน (เขา 2 ลูก) จึงจะถึงที่กักตัว”
.
คิดในใจ โหดขนาดนั้นเลยเหรอ และตัดสินใจอีกทาง พร้อมกับบอก อสม.ไปว่า
.
“ไม่เป็นไร อสม.ไม่ต้องไปหรอก หมอจะไปกับพี่ผู้ช่วยเอง”
.
พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ช่วยเหลือคนไข้ ที่ปฏิบัติงานใน รพ.สต.
เตรียมตัวเพื่อไปเยี่ยมผู้ป่วย พร้อมทั้งตัวข้าพเจ้าก็เตรียมความพร้อมในการป้องกันตัวเองให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุด ต้องใส่ชุดให้รัดกุม ภายใต้อุณหภูมิ ขณะนั้น 38 องศาเซลเซียลขึ้นไป ข้าพเจ้าจัดแจงใส่หน้ากากอนามัย ตามด้วย Face shield ที่ประยุกต์จากวัสดุในพื้นที่ สวมรองเท้าบู๊ทสำหรับเตรียมข้ามลำห้วย เตรียมยาให้ผู้ป่วย ปรอทวัดไข้ ถุงมือ
กว่าจะพร้อมเดินทางเวลาก็ล่วงเลยไปบ่ายโมงกว่าๆแล้ว เมื่อทุกอย่างพร้อม ก็นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ออกจาก รพ.สต.ไปหาคนไข้ทันที
.
เส้นทางจาก รพ.สต.ไปยังสถานที่กักตัว เริ่มจากถนนค่อนข้างสะดวกสบาย เข้าสู่ถนนลูกรัง ความยากลำบากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บางช่วงเป็นเส้นทางที่แคบและเขาสูงชัน บางช่วงมีลำห้วยขวางกั้นเส้นทาง ต้องเดินเท้าสลับกับนั่งซ้อนท้ายจักรยานยนต์หลายรอบ ข้าพเจ้าเหงื่อท่วมตัวภายใต้ชุดประยุกต์ที่ปิดมิดชิด หายใจภายใต้หน้ากากอนามัยที่ชุ่มด้วยเหงื่อ ช่างเป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน คำว่า “เหนื่อยสายตัวแทบขาด” คงเป็นแบบนี้เอง
.
เราเพิ่งจะมองเห็นภูเขาสูงชันตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้า คือจุดหมายปลายทางของเรา ข้าพเจ้าดีใจได้เดี๋ยวเดียว ต้องลงเดินอีกครั้ง ปล่อยให้ผู้ช่วยเหลือคนไข้ควบรถจักรยานยนต์ ขึ้นเนินที่แคบและชันไปรออยู่ตรงตัวเนินเขา สักครู่ได้ยินเสียงร้องตะโกนลงมาว่า
.
“หมอครับ จะถึงหละครับ พอเดินไหวไหม”
.
จะบอกว่าไม่ไหวก็กลัวเสียฟอร์ม ร้องตะโกนบอกไปว่า
.
“ไหว ยังพอไหว” ทั้งๆที่เหนื่อยแทบจะขาดใจ
.
มือข้างหนึ่งหิ้วถุงยา อีกข้างก็พยุงเกาะยึดกิ่งไม้ เถาวัลย์ หรือวัตถุตามข้างทาง ถึงกระนั้นก็ยังไถลลื่นไปหลายครั้ง ข้าพเจ้าพยุงตัวขึ้นไปเรื่อยๆ พอโผล่พ้นเนินเขา มองออกไปไกลๆเห็นกระต๊อบเล็กๆ อยู่ลิบๆ ความรู้สึกดีใจกลบความเหนื่อยล้าไปสิ้น
.
พอเข้าใกล้ในระยะสายตาที่มองเห็นชัดเจน สภาพกระต๊อบที่ปลูกอยู่กลางไร่ ไม่ได้มีความคงทนถาวร เสาทำด้วยไม้ขนาดท่อนแขน พอที่จะค้ำยันไม่ให้ล้มลงไปได้สักระยะเวลาหนึ่ง ฝาผนังทำจากกระสอบ และเศษผ้ากะลาเก่าๆ พอบังลมและกั้นให้เป็นสัดส่วน ส่วนหลังคามุงด้วยหญ้าคาวางทับๆเอาไว้ มีไม้ฟืนทับอีกที กันไม่ให้ลมพัดปลิว ผู้กักตัวที่พักในกระต๊อบคงร้อนหน้าดู
.
เมื่อถึงกระต๊อบ เห็นเด็กๆอายุไล่เลี่ยกันราวๆ 4-7 ปี จำนวน 4 คน แต่ละคนสวมเสื้อผ้าเก่าๆ เนื้อตัวมอมแมม ยิ้มกว้างๆ มาพร้อมกับผู้หญิงมีอายุ 2 คน คงจะเป็นยายและแม่ของเด็กๆ ทุกคนสวมหน้ากากผ้า ออกมาต้อนรับ ทุกคนเหมือนจะดีใจมาก ที่มีหมออนามัยมาเยี่ยมถึงไร่ ที่ขอบตาข้าพเจ้ามีน้ำเอ่อล้นออกมาโดยไม่ทันรู้ตัว รู้สึกสงสารเด็กๆ ที่ต้องทนอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนระอุแบบนี้ จนครบ 14 วัน
.
ข้าพเจ้ารีบทักทายเด็กๆ เพื่อกลบกลื่นน้ำตาที่ซึมออกมา
“เล่นที่ไร่สนุกไหม” ทุกคนตอบเกือบพร้อมกันว่า “สนุก”
ข้าพเจ้าไม่รอให้หายเหนื่อย ต้องรีบตรวจร่างกายคนไข้ทันที กลัวจะมืดค่ำในช่วงขากลับ พร้อมกับยึดหลักป้องกันการสัมผัส ยืนห่างกันช่วง 2 เมตร ให้ทุกคนล้างมือ ข้าพเจ้าเริ่มสอบถามความเป็นอยู่ ประเมินสภาพแวดล้อมทั่วไป ทุกคนบอกว่ามีความสุขกับการกักตัว ไม่ได้ลำบากอะไร สามารถอยู่ได้ครบ 14 วันแน่นอน
.
สำหรับเด็กน้อยที่ป่วย ข้าพเจ้าวัดไข้ได้เพียง 37.0 องศาเซลเซียล มีอาการเจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก ไม่หอบเหนื่อย จึงให้ยาที่จัดเตรียมมา พร้อมทั้งบอกกับแม่ของเด็กไว้ว่า
.
“หมอจะให้ยาแก้ไข้ ยาบรรเทาอาการไอ และยาลดน้ำมูก ให้กิน 3 วัน และจะติดตามอาการไข้ทุกวัน”
ก่อนที่จะเดินทางกลับ รพ.สต.พร้อมกับผู้ช่วยเหลือคนไข้
.
กลับถึงที่พักช่วงเย็นๆ ข้าพเจ้าก็หมดแรงพอดี คืนนั้นคงจะหลับเกือบสนิท ถ้าในใจไม่คิดเป็นห่วงเด็ก กลัวว่าจะมีอาการไข้ในเวลากลางคืน
.
ข้าพเจ้าได้ติดตามอาการไข้จากญาติที่ไปส่งอาหารและน้ำดื่ม เป็นประจำทุกวัน พบว่าตลอดระยะเวลา 3 วัน เด็กไม่มีไข้ อาการไอและมีน้ำมูก ทุเลาลงและหายเป็นปกติ ในวันที่สาม
.
ความรับผิดชอบ ความผูกพันกับชาวบ้านที่มีต่อกัน ทำให้ข้าพเจ้าลืมความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากที่พบเจอในระหว่างการทำงาน เพียงเพื่ออยากให้ชาวบ้านเหล่านั้นได้รับบริการสุขภาพที่ดี มีความปลอดภัยจากความเสี่ยงที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
.
ที่มา : ส.ปชส.น่าน