ต้องจับหนุ่ม พนง.ส่งอาหารที่แปะคลิปถูกสาวด่า
กรณีสาวด่าหนุ่มพนักงานส่งอาหาร จนตัวเองถูกไล่ออก ถ้ามองอีกมุมด้วยสติ ต้องตามจับหนุ่มคนนี้ พร้อมโทษอาญาทั้งจำทั้งปรับ ส่วนบริษัทที่ให้ออกสาว “จอมด่า” ต้องจ่ายค่าชดเชย อาจสูงถึง 10 เดือน
เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าว “ไล่ออกแล้ว! สาวด่ากราด พนง.ไม่ส่งอาหารที่ห้อง เจ้าตัวร่ำไห้ขอโอกาส” โดยมีรายละเอียดว่า “จากกรณีมีคนส่งอาหารรายหนึ่งใน จ.ภูเก็ต โพสต์คลิปเหตุการณ์ขณะที่ไปส่งอาหารให้กับลูกค้าสาวรายหนึ่ง แต่ถูกลูกค้าคนดังกล่าวต่อว่าด้วยถ้อยคำรุนแรง เนื่องจากไม่ยอมนำอาหารขึ้นไปส่งถึงห้อง แต่ให้ลูกค้าลงมารับที่หน้าคอนโดมิเนียม จนทำให้ลูกค้าดังกล่าวไม่พอใจและต่อว่าด้วยถ้อยคำรุนแรง” และล่าสุดสาวผู้นี้ก็ถูกบริษัทที่ตนทำงานอยู่ให้ “พ้นสภาพการเป็นพนักงาน” แล้ว
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะที่เป็นกรรมการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย (www.ecot.or.th) ให้ความเห็นส่วนตัวว่า
1. การ “เหวี่ยง” ของสาวดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง พร้อมลงท้ายว่า “ไสหัวไป” แต่ไม่ถือเป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้า ไม่ได้หมิ่นประมาท
2. หนุ่มส่งอาหารก็น่าเห็นใจที่ต้องพบกับลูกค้าแบบนี้ อาชีพบริการก็ต้องทำใจ แต่ถ้าตอบโต้ด้วยกำลังกลับไป ก็กลายเป็นการทะเลาะวิวาท หรือทำร้ายร่างกาย ซึ่งก็คงไม่คุ้มที่จะทำ
3. การ “ชำระแค้น” ด้วยการนำคลิปมาลงแบบนี้ผิดกฎหมาย เว้นแต่จะเบลอภาพไม่ให้คนจำได้ว่าเป็นใคร สถานที่ใด เพราะเท่ากับทำให้สาวดังกล่าวเสียหาย แต่หนุ่มดังกล่าวคงไม่ทันคิด ข้อนี้โลกโซเชียลควรรู้กฎหมาย
4. โทษที่หนุ่มส่งอาหารจะได้รับคือความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.328 หมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาฯ โทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท และ ม.393 ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา โทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สาวดังกล่าวยังสามารถฟ้องแพ่งโดยในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตาม ม.423 และยิ่งกว่านั้นยังผิด พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.16 โทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
สำหรับกรณีที่บริษัทนายจ้างให้สาวดังกล่าว “พ้นสภาพการเป็นพนักงาน” จะต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พรบ.แรงงาน ม.118 โดยถ้าลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวันเลยทีเดียว ถ้านายจ้างของสาวดังกล่าวรู้ผลที่จะได้รับ อาจไม่ทำตามกระแสโซเชียลที่ให้ไล่สาวคนนี้ออกจากงานก็ได้ สาวดังกล่าวไม่ได้ทำให้บริษัทเสียหายโดยตรงตาม ม.119 ชาวโซเชียลไปขุดคุ้ยกันเอง เธอไม่ได้แสดงกิริยาที่ไม่ดีในขณะปฏิบัติงาน
สาวคนดังกล่าว อาจต้องไปปรึกษากับสหภาพแรงงาน (ถ้ามี) หรือเจ้าหน้าที่แรงงานในท้องที่คือสำนักงานแรงงานจังหวัดภูเก็ตเพื่อขอคำปรึกษาในเรื่องนี้ต่อไป ยิ่งกว่านั้นยังอาจฟ้องคนส่งอาหารละเมิดที่เอาเรื่องส่วนตัวลงในสื่อทำให้เธอได้รับความเสียหายตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ ในอีกแง่หนึ่งคนที่ควรถูกพิจารณาการจ้างงาน น่าจะเป็นคนส่งอาหารที่นำคลิปไปลง
การเอาคลิปไปลง “เอามัน” “ระบาย” หรือ “ชำระแค้น” เช่นหนุ่มส่งอาหารผู้นี้ จึงจะได้รับผลร้ายที่คาดไม่ถึงอย่างแน่นอน โลกโซเชียลพึงสังวร และเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร
อ้างอิงข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายอาญา ม.326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ม.328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท และ ม.393 ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประมวลกฎหมายแพ่งฯ ม.423 ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้
พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ม.16 ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำต่อภาพของผู้ตาย และการกระทำนั้นน่าจะทำให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอายผู้กระทำต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง
พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 สำหรับกรณีที่บริษัทนายจ้างให้สาวดังกล่าว “พ้นสภาพการเป็นพนักงาน” จะต้องจ่ายค่าชดเชยตาม ม.118 ดังนี้:
1. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน แต่ไม่ครบหนึ่งปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณ เป็นหน่วย
2. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปี แต่ไม่ครบสามปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานเก้าสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
3. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปี แต่ไม่ครบหกปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
4. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหกปี แต่ไม่ครบสิบปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสองร้อยสี่สิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสองร้อยสี่สิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
5. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
อย่างไรก็ตามมีบางกรณีที่ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยตาม ม.119 คือ
1. ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
2. จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
3. ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
4. ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วเว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน
5. ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
6. ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน