ชีวิตบทหนึ่งของ น.พ.ทวีศิลป์ โฆษก ศบค.
“ผมเคยเลี้ยงหมู เดินขอน้ำข้าวมาเลี้ยงหมู ทำขนมผิง ขายก๋วยเตี๋ยว เป็นชีวิตที่เหนื่อย ลำบาก...อยากทานเป๊บซี่ที ก็ต้องรอทานจากฟอง ที่เหลืออยู่ ไม่ก็แบ่งกับพี่น้อง”
ชีวิตบทหนึ่งของ น.พ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน
ก่อนก้าวสู่ โฆษกกระทรวงสาธารณะสุข
ย้อนกลับไปเมื่อ ๔๒ ปีก่อน ที่หน้าตลาดเทศบาล ๒ จังหวัดนครราชสีมา เด็กน้อยหน้าตี๋คนหนึ่งเกิดที่นี่ ไม่มีใครรู้ว่าอีกสี่สิบปีต่อมา เด็กน้อยคนนี้จะกลายมาเป็นจิตแพทย์ชื่อดัง ก่อนก้าวสู่ตำแหน่งโฆษกกรมสุขภาพจิตและสังคม และขึ้นเป็นผู้อำนวยการฯ และโฆษก กระทรวงสาธารณะสุข ในเวลาต่อมา
อย่าว่าแต่คนอื่นเลย เขาเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำ... ไม่รู้ว่าชีวิตของเขาและครอบครัวจะมาถึงจุดหักเหในวันหนึ่ง วันที่บิดาซึ่งเป็นกำลังสำคัญของครอบครัวประสบอุบัติเหตุไม่คาดคิด นั่นคือ “ต้องเสียขาไปหนึ่งข้าง” นับจากวันนั้น คุณหมอเล่าให้ฟังว่า ทุกอย่างดิ่งลงหมด จากเคยมีชีวิตที่ค่อนข้างสบาย จากการค้าขายโชวห่วยในตลาด นับตั้งแต่นั้นก็ต้องมาเลี้ยงหมู พับถุงขาย กรอกน้ำกรด ทำขนมผิง พับถุงขาย และอื่น ๆ อีกสารพัด เพื่อช่วยเหลือครอบครัว
ทุกอย่างดิ่งลงหมด เมื่อ...
“ตอนนั้นบ้านผมเปิดเป็นโชวห่วย อยู่หน้าตลาดเทศบาล ๒ ก็เป็นห้องแถว ไม่ได้ใหญ่โตอะไร แต่อาศัยว่าอยู่หน้าตลาด การค้าดี มีสะตุ้งสะตังค์ ผมจำได้ว่ามีภาพถ่ายภาพหนึ่ง มีรถของพ่อ เป็นรถปิกอัพไว้ส่งของอะไรด้วยซ้ำ
...จนวันหนึ่งแกขายของ แล้วน้ำแข็งมาส่งไม่ทัน แกก็ไปที่โรงน้ำแข็ง ไปเอาน้ำแข็งเอง ปรากฎว่าไปลื่น แล้วล้ม ขาด้านซ้ายไหลไปสู่เลื่อยวงเดือน ตอนนั้นผมยังเด็ก ๆ ประถม กำลังเรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียน ไม่รู้เรื่องอะไรเลย น้ำแข็งมันก็ลื่นมาก เป็นกั๊กใหญ่ ๆ ไสกันมาเข้าเลื่อยวงเดือน เพื่อไปเฉือน เวลาเค้าไปเฉาะจะได้ง่ายขึ้น เลื่อยวงเดือนก็อยู่บนลานสังกะสี เพื่อจะได้เลื่อยง่าย ๆ มันก็ลื่นไป ปรื้ดไป เลื่อยวงเดือนก็เลยผ่าตรงกลางฝ่าเท้าเลย แกมาเล่าให้ฟังทีหลัง ตอนนั้นหน้าแกตกใจมาก พอเห็นเลือดไหล แกก็เอามือบีบขาที่ฉีกทั้งสองข้างเอาไว้ หาเชือกฟางแถวนั้นพัน ก็มีคนช่วยหามมาส่งที่โรงพยาบาล แกก็ร้อง หมอ.. หมอช่วยรักษาให้หน่อย
...หมอเห็นแผล ก็บอกว่าไม่ไหว เพราะแผลมันฉกรรจ์มาก ใหญ่มาก ซึ่งตอนนั้นสามสิบกว่าปีที่แล้ว เทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้าพอ ก็จำเป็นต้องตัดขาข้างซ้ายทิ้ง จากนั้นพ่อก็พิการ พอพิการเสร็จ ทุกอย่างก็ดิ่งลงหมดเลย จากที่เคยอยู่ที่ตลาด ก็ต้องย้ายออกมาอยู่นอกเมือง คือคนขาขาดน่ะ จะทำอะไรได้ ขับรถก็ไม่ได้ ซื้อของก็ไม่ได้ ก็ต้องเริ่มต้นใหม่หมด แม่ก็มีลูก ๕ คน ผมเป็นคนที่ ๒ ช่วงนั้นแย่ที่สุดในชีวิต โชคดีว่าก่อนหน้านี้พ่อผมมีที่ดินซื้อไว้ตรงชานเมืองประมาณ ๑๐๐ ตารางวา ก็เลยมาอยู่ริมถนนมิตรภาพ อยู่ริมทางรถไฟ ซึ่งก็เป็นขอบเมืองเลย มาเลี้ยงหมู หาปลาแถวนั้น วิดปลาขาย เลี้ยงหมูไว้ขาย มีคอกหมู เล้าหมู ขายก๋วยเตี๋ยว ขายของทุกอย่าง ที่ขายได้ ทำขนมผิง พับถุง เล็ก ๆ น้อย ๆ ผมกับพี่ ๆ น้อง ๆ ก็ช่วยพ่อแม่ทำมาตลอด”
ต้องขอขี้เลื่อยมาต้มข้าวหมู
“ก็ไม่ได้รู้สึกว่าลำบากหรืออะไรนะ เพราะตัวเองก็ลำบากมาตลอด ตอนอยู่หน้าตลาดก็ช่วยพ่อช่วยแม่ขายของ กลับจากเรียนหนังสือก็ต้องมาค้าขาย เป็นภาพแบบนี้มาตลอด แต่คนที่ทุกข์คือพ่อกับแม่ที่ทุกข์มากขึ้น พ่อขาขาด แม่ต้องทำทุกอย่าง เช้าไปตลาด เราก็ไปขอน้ำข้าวตามบ้านแต่ละหลังแถว ๆ นั้นมาเลี้ยงหมู โห...ลำบากสุดๆ ข้าวเนี่ยจะไม่มีกรอกหม้อเลย
หน้าบ้านถึงแม้อยู่ถนนมิตรภาพ แต่ไม่มีคนผ่าน แต่ก่อนสามสิบปีที่แล้ว มันแทบจะเป็นชนบทมาก ๆ เลย นาน ๆ จะมีรถวิ่งผ่านสักคัน ตอนนั้นผมเรียนอยู่โรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา ก็ไกลพอสมควร ก็มีสามล้อนั่งไป เพราะเดินไม่ไหว ไกลมาก สักประมาณห้ากิโล สิบกิโลได้ ก็เลี้ยงหมูตั้งแต่เด็ก ๆ ไปเก็บผักตบชวามาซอยผสมรำข้าวกับน้ำข้าว ประหยัดเงินหน่อยก็ไปขอข้าวหมูมาจากบ้านใกล้ ๆ ช่วยพ่อหาฟืน หาอะไร ซึ่งก็มีญาติทำเฟอร์นิเจอร์ เค้าทิ้งขี้เลื่อยเศษไม้อะไรต่าง ๆ พ่อกับแม่ก็บอกให้เค้าเอาขี้เลื่อยมาทิ้งข้างบ้านเรา เพื่อเอาขี้เลื่อยแยกมา ทำเป็นฟืนต้มข้าวหมู ต้องใช้ฟืนเยอะ เพราะต้องต้ม ไม่งั้นหมูป่วยตาย ท้องเสียตายหมด
ตอนนั้นผมเรียนอยู่ที่โรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา จากนั้นก็ย้ายมาที่โรงเรียนเมืองนครราชสีมา มาต่อมัธยมที่โรงเรียนบุญวัฒนา ซึ่งเป็นสหศึกษา เพราะใกล้บ้าน ไม่ต้องลำบากพ่อกับแม่ เช้ามา ก็ต้องดูแลที่บ้าน ให้เรียบร้อย ตอนเย็นก็มาช่วยต่อ”
ทานเป๊บซี่สักขวด... ยังลำบาก
“ช่วงนั้นแม่ก็เริ่มป่วยเป็นโรคหัวใจ อายุสักสี่สิบกว่าแม่ก็เสียแล้ว ซึ่งตอนท่านเสีย ผมเรียนอยู่ชั้น ม.ศ. น้องคนเล็กยังเรียนชั้นประถมอยู่เลย ตอนนั้นก็เปลี่ยนมาหลายอาชีพ มาทำขนมผิง เช้า ๆ ก็มาช่วยก่อเตา เสาร์อาทิตย์ก็มานวดแป้งกัน มาใส่ซองพลาสติก มัดเป็นขยุ้ม ๆ ให้แม่เอาไปขายที่ตลาดเทศบาล 2 บางครั้งก็ติดตามคุณแม่ไปขาย หน้าบ้านก็ทำเป็นโชวห่วยเล็ก ๆ ขายก๋วยเตี๋ยว ขายข้าวแกง ทำทุกอย่าง เพราะเลี้ยงหมูได้ระดับหนึ่ง แล้วมันเหนื่อยมาก ไม่ไหว ตอนแรก ๆ เลยขายขนมผิงด้วย เลี้ยงหมูไปด้วย แต่ก็ไม่ได้ดีสักเท่าไหร่ เพราะขายไม่ออก บางทีทำไปแล้วไม่มีคนรับซื้อ ของก็เหลือเต็มไปหมด ก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร มันต้องพัฒนา ต้องมีสูตร คู่แข่งก็เยอะ ก็ล้มเลิกไป
ก็มาขายก๋วยเตี๋ยว เอาไม้ เอาเฟอร์นิเจอร์ เอาลัง พ่อผมก็มาต่อ ๆ ๆ กัน แต่ลูกค้าก็ไม่มาก นาน ๆ จะมีรถมาแวะจอด คนมากินส่วนใหญ่ก็เป็นขาประจำ เป็นคนแถวนั้น ขายตั้งแต่ชามละ 5 บาท จำได้ว่าเป๊บซี่ขวดนึง 2.50 บาท แต่แม่ไม่ให้กิน เป๊บซี่ขวดนึงเวลาเทขาย เค้าจะซื้อใส่ถุง เสร็จแล้วมันจะตีขึ้นมาเป็นฟอง เราก็จับตั้งลงมา จากฟองที่ตกลงมา เราก็ได้กินตรงนั้น คือมันหิวไง อยากจะกินเป๊บซี่ นานน้านสักทีนึง แม่จะให้เป๊บซี่ขวดนึง แต่มีข้อแม้ว่า ต้องแบ่งกัน 5 คน (หัวเราะ) พี่ชายก็เป็นคนจัดแจง ใส่หลอดเข้าไปหลอดนึง แล้วบอกว่า เอ้า ! คนที่หนึ่งดูดก่อน ก็ขีด ๆ ๆ ไว้ ดูดเสร็จ พี่ก็บีบปลายหลอดไว้ อย่ากลืนนะ บางทีก็ดูดดูดปร๊วด แต่ไม่ติดไง (หัวเราะ) ก็สนุกสนานกัน คือความที่เราไม่มีกิน เป็นส่วนนึงที่ทำให้เราพี่น้องได้แน่นแฟ้นกันมากขึ้น เพราะเราทุกข์ยากมาด้วยกัน”
เล่ามาถึงตรงนี้ คุณหมอก็เอ่ยถึงพี่ ๆ น้อง ๆ ว่า คนโตชื่อ ทวีศักดิ์ ต่อมาคือคุณหมอ ทวีศิลป์ คนกลางชื่อ ทวีชัย และคนถัดไปชื่อ ทวีโชค เป็นหมอเหมือนกันทั้งคู่ ส่วนน้องคนเล็กเป็นผู้หญิงชื่อ รวีวรรณ ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ สสวท.
“ทุกคนก็ต้องตื่นเช้ามาช่วยกันหมด พี่ชายก็ต้องเป็นคนเปิดบ้าน ยกโต๊ะออกไป ผมมีหน้าที่ยกหม้อต้มกระดูก ส่วนน้อง ๆ ช่วยกันก่อไฟ คนกลางก็ช่วยสับหมู ซอยผัก วันนึงซอยไปซอยมา ปาดนิ้วตัวเองเลือดสาด ส่วนคนเล็กก็ช่วยจัดโต๊ะ เอาเก้าอี้ มาเรียง ก็ต้องช่วยกันหมด
ก็มีบ้างนะ ที่คิดว่า ทำไมเสาร์อาทิตย์ เราถึงไม่ได้ไปเล่น อ้อ... อีกอาชีพที่ทำ คือกรอกน้ำกรดน้ำกลั่น เติมแบตเตอรี่รถ ช่วงนั้นพ่อก็หาอาชีพมาเสริม เราก็นั่งกรอกน้ำกรดน้ำกลั่น มันก็ลวกมือเราพอง เราก็คิดว่า ทำไมเราต้องมานั่งทำอย่างนี้ด้วย ทำไมเราไม่ได้หยุดอย่างเพื่อน ๆ เขา เห็นพ่อแม่คนอื่นเป็นข้าราชการ เสาร์อาทิตย์หยุดพาลูกไปเที่ยวดีจังเลย แต่เราไม่มีโอกาสอย่างนั้น มันเป็นความอยากในสมัยเด็ก ๆ แต่เราก็ต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ ซึ่งมองมาจนปัจจุบัน นั่นก็อาจเป็นเรื่องที่ดี ทำให้ผมกับพี่ๆ น้องๆ ถูกหล่อหลอม วันหยุดเราก็ได้อยู่กับพ่อแม่ ทั้งคู่ได้สอนเรา สอนให้รู้จักประหยัด ใช้จ่ายให้เป็น ดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง ซึ่งเราก็เห็นอยู่แล้วว่าสิ่งที่เกิดกับพ่อเราไม่ได้เป็นเรื่องที่เกิดโดยเจตนาเลย ทำทุกอย่างถูกต้องตามครรลองมาตลอด แม่เราก็เลี้ยงดูลูก ๆ มาอย่างดี ยังเป็นโรคหัวใจตายเลย นั่นก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่ใช้ชีวิตโดยประมาท”
ไม่ได้คิดจะเป็นหมอจิตเล้ย !
“จริง ๆ ผมก็ไม่ได้เป็นคนเรียนเก่งนะ ออกจะชอบศิลปะตามชื่อตัวเองด้วยซ้ำ งานขีดงานเขียนอะไรทั้งหลายก็ถนัด เคยประกวดได้เงินรางวัลด้วย แต่ที่เรียนแพทย์ ส่วนหนึ่งก็ตามความตั้งใจของพ่อกับแม่ด้วย ท่านบอกกับเราเสมอว่า เราจะเปลี่ยนแปลงความทุกข์ยากของเราได้ ก็คือ การได้เป็นหมอ ได้เรียนดี ๆ ซึ่งผมจำได้คือ ตอนที่สอบเข้าที่โรงเรียนบุญวัฒนา พ่อผมบอกว่า ถ้าต้องเข้าโรงเรียนเอกชนก็คงจะต้องออก เพราะที่บ้านไม่มีเงินส่ง ทำให้ผมต้องขยันขันแข็ง สอบเข้าให้ได้ ตั้งแต่นั้นก็วางชีวิตเป็นระบบมาตลอด ก็ไม่ถึงกับเรียนได้ดี แต่ก็ไม่ทิ้งการเรียน จนจบมัธยม เราก็ได้ที่ต้น ๆ ของสายวิทย์ ซึ่งได้ระบบ โควต้า ได้เข้าไปสอบก่อนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นโควต้าแพทย์ชนบท มีมหดิล มีขอนแก่น อะไรทั้งหลาย แต่ขอนแก่นจะสอบก่อน ปรากฏว่า พอไปสอบก็ติด เข้าไปได้ ผมก็เรียนปานกลาง ไม่ได้เป็นคนหัวดี ทำกิจกรรม วาด ๆ เวิด ๆ อยู่กับการทำหนังสือของสโมสรคณะแพทย์บ้าง กระทั่งจนจบ
จบมาก็ไม่ได้วางแผนชีวิตอะไร คิดว่าคุ้นเคยกับอีสาน เป็นเด็กอีสาน ก็คงอยู่ที่อีสาน ไม่ได้คิดว่าจะมาเป็นจิตแพทย์ด้วยซ้ำ ตอนนั้นยังไม่ได้วางแผนว่าจะเป็นหมอเฉพาะทางด้านไหน จบปุ๊บ ทุกคนก็ต้องมาจับลูกปิงปองกัน เพื่อไปใช้ทุนที่ต่างจังหวัด ซึ่งที่โคราชมีห้าตำแหน่ง แต่มีคนจับฉลากสิบคน คนที่ได้หมายเลข 1 – 5 ก็ได้ก่อน ส่วนผมตกตั้งแต่รอบแรก (หัวเราะ) จับไม่ได้ ก็ไหลรูดมาจนรอบที่สี่ ก็เหลือพวกโรงพยาบาลที่เขาไม่ค่อยอยากไปกัน หนึ่ง เป็นโรงพยาบาลขอบชายแดนทั้งหลาย สอง เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง อย่างกรณีของโรงพยาบาลที่รักษาโรคติดต่อทั้งหลาย และสุดท้าย โรงพยาบาลทางจิต ก็มีโรงพยาบาลจิตเวชที่สงขลา ที่นครราชสีมา บังเอิญเพื่อนผมที่จบรุ่นเดียวกัน เขาเป็นผู้หญิง เขาก็อยากอยู่ที่โรงพยาบาลที่เป็นเมืองท่องเที่ยวก็คือสงขลา ผมก็เลยเลือกกลับไปที่โคราช ก็ได้ไปอยู่จิตเวชที่นั่น
แรก ๆ ก็รู้สึก เราจะเรียนได้หรือเปล่าหนอ เพราะเราก็ไม่เคยสนใจ แต่คะแนนของการเรียนจิตเวชก็ไม่ได้ถึงกับแย่ ก็มีเอ แต่พอไปทำงานสักสองปี ก็รู้ว่ามีเรื่องอะไรที่เราควรรู้ตั้งเยอะแยะ โรงพยาบาลวัน ๆ นึงก็ต้องตรวจคนไข้สองร้อย สามร้อยคน เพราะตอนนั้นมีหมอน้อย มีกันอยู่สองคน วัน ๆ นึง ตอนเช้า ๆ สามชั่วโมงก็ตรวจคนไข้ร้อยคน ทั้งรับยาเก่า ทั้งปรึกษา ทั้งมีโรควิตกกังวล โรคจิต ความเครียด บ้างก็มาแบบหลงลืมตัว หมดสติ กินยาม้าก็มี เป็นโรคทางจิตมา อาละวาด คลุ้มคลั่ง ทำร้ายตัวเอง กินยาฆ่าตัวตายมา ก็แก้ไขเขา ช่วยชีวิตเขา เต็มไปหมด
ก็ยอมรับนะ แรก ๆ เราก็เครียด เพราะเรายังไม่มีวิชาความรู้ รู้สึกเหมือนถูกบังคับให้ต้องมาเรียน ผมก็ถามอาจารย์ ผมจะไปอย่างอื่นได้ไหม อาจารย์เขาบอกว่าคงยาก หมอมาทางด้านนี้แล้ว ก็มาเรียนต่อทางด้านนี้ก็แล้วกัน คือเปลี่ยนได้ ตอนนั้นก็มีประสาทวิทยา ก็ว่าจะไปเรียนประสาทวิทยา ปรากฏว่ารุ่นพี่เอาตำแหน่งนี้ไปเรียนก่อน ก็เลยว่า เอ้า ! เรียนก็เรียน ก็เรียนเป็นแพทย์เฉพาะทางอยู่สามปี ที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา) ก็เรียนทุกด้าน ทั้งด้านสมอง สุขภาพจิต โรคจิต
เงินเดือนตอนนั้น จบมาครั้งแรกตอนอยู่ที่โคราช ๔,๗๕๐ บาท เป็นนายแพทย์ ๔ ชีวิตตอนนั้นก็ยังลำบากอยู่นะ เพราะน้องก็ยังไม่จบ ต้องส่งอะไรกันอยู่ ต้องหาเงิน อยู่วงอยู่เวร กลางคืนอยู่เวรได้แค่ ๓๕๐ บาทเอง”
ชีวิตในวัย ๔๒ ปี
ต่อมา คุณหมอได้พบกับแฟนคือ คุณหมอวิไลรัตน์ วิษณุโยธิน (ปัจจุบันเป็นกุมารแพทย์ อยู่ที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ) ซึ่งทั้งคู่พบกันตอนไปใช้ทุนที่จังหวัดนครราชสีมา ก่อนแต่งงานและย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันคุณหมอมีลูก ๒ คนแล้ว เช่นเดียวกัน ช่วงที่อยู่ที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา คุณหมอก็เริ่มทำหน้าที่ตอบคำถามเรื่องจิตเวชผ่านสื่อต่าง ๆ ซึ่งนั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้คุณหมอเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป
“ผมก็ทำหน้าที่จิตแพทย์ และดูแลเรื่องวิชาการ งานทางด้านสื่อประชาสัมพันธ์หลาย ๆ อย่าง แล้วก็เป็นผู้ตอบคำถามทั้งหลายให้กับทางกรมสุขภาพจิต จนปี ๔๖ - ๔๗ ผู้ใหญ่ก็บอกให้มาอยู่ที่กระทรวงเลยแล้วกัน ตอนนั้นผมก็เป็นนายแพทย์ ๘ เริ่มจากการเป็นโฆษกกรมสุขภาพจิต แล้วขึ้นเป็นผู้อำนวยการสำนักสุขภาพจิตและสังคม พร้อมดำรงตำแหน่งโฆษกกระทรวงสาธารณะสุข
อ้างอิงจาก: https://www.facebook.com/2007331706232995/photos/a.2007341916231974/2359152557717573/