โรคซิฟิลิส
ซิฟิลิส คืออะไร?
โรคซิฟิลิส เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยในประเทศไทย โดยจะแบ่งได้เป็น 4 ระยะ คือ ระยะเริ่มต้น ระยะที่สอง ระยะแฝง และระยะที่สาม ในแต่ละช่วงของซิฟิลิส ก็จะมีอาการแตกต่างกันไป และหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดผลเสียถาวรต่ออวัยวะในร่างกาย หรืออาจส่งผลต่อระบบประสาทได้ ในบางกรณีอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้เช่นกัน
ปัจจุบันในประเทศไทยมีอัตรา การติดเชื้อซิฟิลิส สูงขึ้นมาก จากการนำเข้าของยาต้านเอชไอวีฉุกเฉิน เนื่องจากสมัยก่อนโรคเอชไอวีมีวิธีป้องกันทางเดียว คือ การใช้ถุงยางอนามัย ทำให้คนใช้ถุงยางบ่อยกว่าเลยสามารถป้องกันซิฟิลิสได้ด้วย แต่พอมียาต้านฉุกเฉินเอชไอวีแล้ว คนก็หันมาใช้ถุงยางอนามัยน้อยลง เพราะคิดว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ นั้นรักษาได้ ซึ่งความเข้าใจดังกล่าว เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมนัก หากเรามองความเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ใช้ถุงยางเพียงแค่หนึ่งครั้ง (แม้จะทานยาต้านเอชไอวีฉุกเฉินอยู่) คน ๆ นั้นจะมีความเสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นทั้งหมด เช่น ซิฟิลิส หนองในแท้ หนองในเทียม เริม หูดหงอนไก่ ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดถือเป็นการแพร่เชื้อต่อกันไปเรื่อย ๆ และบางโรค เช่น ไวรัสตับอักเสบซี นั้นมีการรักษาที่ยุ่งยากและใช้ค่าใช้จ่ายสูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ถุงยางอนามัย ฉะนั้นถ้าเป็นไปได้ควรรณรงค์ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์จะดีที่สุด ทั้งสำหรับตัวคุณเองและสำหรับผู้อื่นด้วย
อาการของโรคซิฟิลิส
โรคซิฟิลิสนี้ สามารถแบ่งออกได้ เป็น 4 ระยะ ได้แก่
- ซิฟิลิสระยะแรก จะมีอาการเป็นแผล ขึ้นตรงจุดที่เชื้อเข้าสู่ร่างกาย โดยอาจเกิดขึ้นที่บริเวณปาก ทวารหนัก หรืออวัยวะเพศก็ได้ แผลนี้จะมีลักษณะเป็นสีใส ๆ คล้ายร้อนใน และไม่รู้สึกเจ็บ ทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่า อาจเป็นร้อนในหรือไม่เห็นแผลเลยก็ได้ เมื่อผ่านไป 2-3 สัปดาห์แผลนี้ก็จะหายไปเองและจะไม่มีอาการใด ๆ เกิดขึ้นอีกในระยะแรกนี้
- ซิฟิลิสระยะที่สอง อาการที่เห็นได้ชัด คือ จะมีผื่นขึ้นที่บริเวณฝ่ามือ หรือฝ่าเท้า โดยผื่นที่เกิดขึ้นอาจเป็นแค่จุดเดียว หรืออยู่เป็นกลุ่มก็ได้ อาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นได้จะมีอาการไข้อ่อน ๆหรืออาการต่อมน้ำเหลืองบวม
- ซิฟิลิสระยะแฝง ในระยะนี้ซิฟิลิสจะไม่มีอาการใด ๆ แสดงออกมาเลย และสามารถอยู่ในระยะนี้ได้เป็นปี ๆ ก่อนจะเข้าสู่ระยะถัดไป
- ซิฟิลิสระยะสาม หรือระยะสุดท้าย เมื่อเข้าสู่ระยะนี้ จะเป็นช่วงที่ซิฟิลิสเข้าสู่อวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหัวใจ สมอง หลอดเลือด หรือระบบประสาท และอาจทำให้อวัยวะต่าง ๆ นี้เกิดความเสียหายถาวรได้
การตรวจโรคซิฟิลิส
ซิฟิลิสสามารถตรวจได้ด้วยวิธีการตรวจเลือด และสามารถตรวจได้ตั้งแต่ 10 วันขึ้นไปหลังจากมีความเสี่ยงรับเชื้อซิฟิลิสมา นอกจากนี้ “ซิฟิลิส” สามารถตรวจผ่านวิธีตรวจปัสสาวะได้ด้วย แต่จะมีโอกาสพบเชื้อน้อยถ้าเชื้อซิฟิลิสไม่ได้อยู่ในท่อปัสสาวะ
การรักษาโรคซิฟิลิส
ซิฟิลิสสามารถรักษาได้ ด้วยการฉีดยาตามคำสั่งของแพทย์ โดยอาจเป็นการฉีดเข็มเดียว หรือ 3 เข็มแล้วแต่ดุลยพินิจของแพทย์ แต่การรักษาจะไม่สามารถฟื้นฟูอวัยวะที่เสียหายจากเชื้อซิฟิลิสได้ ทำได้เพียงฆ่าเชื้อซิฟิลิสให้หมดเท่านั้น เมื่อรักษาเรียบร้อยแล้ว จะมีการนัดคนไข้ มาตรวจเลือดซ้ำ เพื่อดูปริมาณเชื้อว่าลดลงหรือไม่ หากลดลงถึงเกณฑ์ที่กำหนดภายในระยะเวลา 3 เดือนจะหมายถึงว่าการรักษาซิฟิลิสเป็นอันเสร็จสมบูรณ์