ข่าวปลอมไม่เว้นวัน!! อ.เจษฎา ชี้แจงข่าวปลอม สร้อยคอต้านไวรัส
เฟซบุ๊กเพจ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ต้านข่าวปลอม เกี่ยวกับ สร้อยคอต้านไวรัส ข้อเท็จจริง ไม่มีในโลก และไม่สามารถต้านได้ ถือว่าเป็นโฆษณาลวงโลก
โดย อ.เจษฎา ได้โพสต์ข้อความไว้ว่า "นอกจากเรื่อง สร้อยคอประจุไฟฟ้าลบ ที่อ้างว่าใช้ต้านฝุ่น PM 2.5 ได้แล้ว (ซึ่งไม่เวิร์คอย่างที่อวดอ้างให้หรอกครับ) ตอนนี้ก็มีกระแสใหม่เป็น "สร้อยคอต้านเชื้อไวรัส" ออกมาขายกันด้วย มาในหลายรูปแบบ หลายยี่ห้อ นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยไม่ได้มี อ.ย. ไทย หรือ FDA อเมริกา หรือหน่วยงานใดๆ รับรอง"
พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนถามผมว่า ควรซื้อให้ลูกคล้องคอไหม ? ผมบอกว่า ก็คงไม่เวิร์คเช่นกันครับ เพราะไม่ใช่เครื่องมือทางการแพทย์ที่แพทย์แนะนำให้ใช้แต่อย่างไร ออกแนวอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงเสียมากกว่า ... ซื้อไปก็เปลืองเงินเปล่าๆ
ถ้าถามว่า "ก็มีเงินจะซื้อน่ะ เพื่อความสบายใจ" ... ก็ขอบอกว่า "ยังไงก็อย่าไปเชื่อถือมันมาก จนไม่ใส่หน้ากากอนามัย เมื่อต้องใกล้ชิดผู้ที่มีโอกาสติดเชื้อไวรัสมา" แล้ว ขอให้ปฏิบัติตัวตามหลักสุขภาพคือ "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ" เหมือนเดิมแล้วกัน
ที่นี้ ในส่วนหลักการทำงานของสร้อยพวกนี้ จะอ้างว่ามันมีสาร "คลอรีนไดออกไซด์" อยู่ ซึ่งเมื่อสร้อยปลดปล่อยก๊าซคลอรีนไดออกไซด์ออกมา จะฆ่าเชื้อโรค เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย ที่อยู่รอบตัวคนนั้นได้
ความจริงแล้ว สารคลอรีนไดออกไซด์ เป็นสารเคมีที่ทำปฏิกิริยาออกซิไดซ์ได้รุนแรง ปกติจะนิยมเอาไปใช้ในการใส่ลงไปในน้ำเพื่อฆ่าเชื้อโรคในน้ำ ไปจนถึงใช้เป็นน้ำยาในการทำความสะอาดอุปกรณ์ทางการแพทย์
แต่คลอรีนไดออกไซด์ในรูปของก๊าซนั้น มีความเป็นพิษ ทำให้เกิดอาการระคายเคือง อันตรายต่อระบบหายใจ และห้ามสูดดมในปริมาณมาก ... ก๊าซคลอรีนไดออกไซด์ ยังจะแตกตัวเป็นก๊าซคลอรีนและออกซิเจน ซึ่งคลอรีนก็เป็นก๊าซที่อันตรายต่อสุขภาพเช่นกัน เมื่อสูดดมเข้าไปแล้ว
ปกติ ในต่างประเทศ คลอรีนไดออกไซด์ จะเป็นหนึ่งในสารที่มีการเตือนให้ผู้ปกครองระวัง ไม่ให้ลูกหลานได้รับมากเกินไปด้วยซ้ำ เช่น จากน้ำบริโภคที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคด้วยสารนี้
ดังนั้นเมื่อย้อนกลับมาที่ "สร้อยคลอรีนไดออกไซด์ต้านไวรัส" ก็จะเกิดความย้อนแย้งขึ้นว่า ถ้าสร้อยมันสร้างก๊าซได้ในปริมาณที่น้อย และไม่เป็นอันตรายต่อผู้สูดดมเข้าไป ก็ไม่น่าจะฆ่าเชื้อโรคได้เพียงพอ ... ขณะที่ ถ้าสร้างได้เยอะถึงขนาดที่ทำให้เชื้อโรคตายได้ เด็กที่สวมใส่สร้อยคอนี้ ก็อาจจะเป็นอันตรายไปด้วย สรุปๆ คือ อย่าไปเปลืองเงินซื้อสร้อยพวกนี้เลยครับ กลับไปใช้วิธีตามมาตรฐานในการดูแลสุขภาพดีกว่า
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
เฟซบุ๊กเพจ Jessada Denduangboripant
อ้างอิงจาก: https://mekhaoduan.com/
https://www.facebook.com/jessada.denduangboripant