น้ำตาแห่งการสูญเสีย
บ่อยครั้ง ที่เราร้องไห้ให้กับการสูญเสีย ประชาชนเกาหลีเหนือเองก็เช่นกัน เมื่อยามที่การสูญเสียผู้นำประเทศสูงสุดมาถึง ประชาชนต่างก็ต้องพร้อมใจกันหลั่งน้ำตาออกมาให้มากที่สุด ส่งเสียงร้องคร่ำครวญให้ดังที่สุด พร้อมท่าทางที่ดูเศร้าที่สุดด้วย
โดยก่อนหน้านี้ เกาหลีเหนือ มีเหตุการณ์สูญเสียผู้นำประเทศมาแล้ว 2 ครั้ง คือสมัยคิมอิลซุง ในปี 1994 และ คิมจองอิล ในปี 2011 ซึ่งหลังการเสียชีวิตของผู้นำสูงสุด โดยเฉพาะในสมัยของคิมจองอิล ซึ่งประเทศได้มีช่วงเวลาแห่งการไว้อาลัยถึง 3 ปี และเมื่อสื่อของรัฐได้มีการเผยแพร่ภาพชาวเกาหลีเหนือแต่งกายไว้ทุกข์ ก้มกราบพื้น ร้องไห้หน้าซบดิน ส่งเสียงทุกระทมต่อการจากไปของท่านผู้นำ จนเกิดเป็นกระแสบนอินเทอร์เน็ต ที่ทั่วโลกตั้งคำถามว่า ชาวเกาหลีเหนือร้องไห้ทำไม และน้ำตาของพวกเขาเป็นของจริงแค่ไหน.
การร้องไห้ให้กับการจากไปของผู้นำเกาหลีเหนือ ถูกมองในหลายประเด็น อย่างสำนักข่าว CNN มองว่า มีสาเหตุจากระบบการปกครองแบบเผด็จการ ที่มักเรียกร้องการหลอกลวงจากผู้ที่ถูกกดขี่ เพราะการแสดงออกเช่นนั้น ทำให้พวกเขาอยู่รอดได้ง่าย คือต้องแสดงถึงความรักชาติ และหากไม่ทำเช่นนั้น ก็เสี่ยงที่จะถูกข่มเหง จึงเป็นทางเลือกเดียวที่ชาวเกาหลีเหนือหลายคนต้องทำตามตลอด 2 ทศวรรษการปกครองของคิม จองอิล
ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน สำนักข่าวแท็บลอยด์ DailyMail ก็เปิดเผยว่า แหล่งข่าวในเกาหลีเหนือ ระบุว่า ทางการของเกาหลีเหนือเตรียมลงโทษต่อประชาชนที่ไม่ร้องไห้ ร้องไห้ไม่จริงจัง รวมทั้งคนที่ไม่เข้าชุมนุมแสดงความไว้อาลัยในพิธีศพคิม จองอิล ด้วยการส่งตัวไปยังค่ายฝึกแรงงานอย่างน้อย 6 เดือนด้วย
Barbara Demick ผู้เขียนหนังสื่อเรื่อง ‘Nothing to Envy’ ที่เล่าถึงชีวิตของชาวเกาหลีเหนือผู้แปรพักตร์ ว่าในช่วงการเสียชีวิตของคิม อิลซุง ผู้อาศัยในเมือง Chongjin ได้นำดอกไม้มาวางไว้บริเวณรูปปั้นของคิม อิลซุง ที่ทำด้วยทองสัมฤทธิ์และต้องปล่อยน้ำตาอย่างมหาศาลราวกับปล่อยน้ำลงทะเล สลับกับการทุบตีพื้น แสดงความทุกข์ระทม เหมือนการแข่งขันกันว่าใครร้องไห้ได้มากที่สุด ดังที่สุด ซึ่งมีช่องทีวีของรัฐถ่ายทอดเหตุการณ์อยู่ สลับกับภาพของฟ้าผ่า และสายฝนที่ไหลริน
นักเรียนคนหนึ่ง ได้เล่าให้ฟังว่า “มันเป็นเหมือนกับการแข่งขัน ต้องจ้องมอง และร้องไห้ออกมา จนในที่สุด มันกลายเป็นกลไกอัตโนมัติของร่างกาย ที่เข้ามาแทนที่ในจิตใจ และทันใดนั้นมันกลายเป็นเหมือนการร้องไห้จริงๆ”ซึ่งเขารู้สึกว่าตัวเองต้องล้มตัวโยก สะอื้นไปเหมือนกับคนอื่นๆ
Demick ยังเล่าว่า ประชาชนบางคน ก็ร้องไห้ออกมาด้วยความวิตกกังวลกับสิ่งผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับพวกเขาในอนาคต เนื่องจากในตอนนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้จัก คิม จองอึน ผู้ที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำใหม่ จึงทำให้เกิดความกังวลถึงชีวิตความเป็นอยู่ ภายใต้การปกครองของผู้นำสมัยหน้า เช่นเดียวกับ Park Jong-Chul นักวิเคราะห์แห่งสถาบันแห่งชาติในกรุงโซล ที่มองว่า น้ำตาพวกเขา เป็นของจริง
แต่ก็มีประชาชนบางส่วนที่ร้องไห้ เพราะคิดว่าพวกเขาต้องร้องไห้ และรู้สึกว่าพวกเขาถูกจับตาดูอยู่ จึงต้องร้องไห้อีกมุมมองหนึ่ง เกี่ยวกับการร้องไห้ของ Hazel Smith ศาสตราจารย์ชาวอังกฤษ ผู้อาศัยอยู่ในเกาหลีเหนือเป็นเวลา 2 ปี ก็มองว่า ผู้ที่ร้องไห้เป็นตัวแทนชนกลุ่มน้อยที่ได้ประโยชน์ภายใต้กฎของผู้นำ เช่นภาพการร้องไห้ของนักเรียนมัธยมอันดับ 1 ของเปียงยาง ที่เป็นโรงเรียนชั้นสูง และภาพเหล่านี้มักถูกนำไปออกอากาศ แสดงให้ทั้งโลกเห็นความโศกเศร้าของการสูญเสียผู้นำด้วย
น้ำตาแห่งความปลื้มปิติ
น้ำตา ไม่ได้ไหลออกมาเพียงแค่เวลาเราเสียใจ หรือสูญเสีย สำหรับเกาหลีเหนือก็เช่นกัน ประชาชนไม่ได้ร้องไห้ออกมาเมื่อพวกเขาสูญเสียผู้นำสูงสุดเท่านั้น แต่ในเวลาที่พวกเขาได้พบ ได้สัมผัส กับผู้นำ เราก็มักเห็นภาพของประชาชนร่ำไห้ด้วยความปลื้มปิติ
ซึ่งเป็นตั้งแต่ในสมัยคิม อิลซุง มาถึงคิม จองอึนเลยด้วย Yvonne Schulz Zinda ศาสตร์จารย์ ด้านเกาหลีศึกษา แห่งมหาวิทยาลัย Hamburgระบุว่า ภาพน้ำตาไหลด้วยความปิติยินดีเหล่านี้ ไม่ใช่การแสดงที่แปลก เป็นอารมณ์ส่วนหนึ่งของลัทธิ ของการแสดงตัวตนของผู้นำในเกาหลีเหนือที่เริ่มต้นโดยคิม อิลซุง ปู่ของคิม จองอึน ที่ทำให้สถานะผู้ปกครองเกินจริงเกือบจะเหมือนพระเจ้า
ซึ่ง Park Jong-Chul เอง ก็มองว่า มีประชาชนที่ต้องแกล้งร้องไห้ในงานสูญเสียผู้นำ ในภาพแห่งความปิติ ก็ต้องมีประชาชนที่ต้องร้องไห้เสมือนปิติยินดี แม้ว่าน้ำตาทุกหยดจะไม่ใช่น้ำตาแห่งความปิติด้วย เช่นกัน และไม่ใช่เพียงภาพของการปิติยินดีที่ ได้พบผู้นำ แต่เกาหลีเหนือยังมีการร้องไห้ที่แสดงถึงความปิติยินดีกับความเป็นชาติเกาหลีเหนือ เมื่อได้ยินเพลงชาติ ในการแข่งขันกีฬานานาชาติด้วย
ซึ่งมีกรณีที่น่าสนใจคือการร้องไห้ของนักฟุตบอล Jong Tae-Se ระหว่างเพลงชาติเกาหลีเหนือ ในนัดแข่งกับบราซิล ในรายการ FIFA World Cupปี 2010 กรณีของ Jong แตกต่างจากการร้องไห้ของชาวเกาหลีเหนือคนอื่นๆ ที่มักถูกใช้เป็นภาพแสดงความรักชาติของประเทศ เพราะว่า Jong นั้นไม่ใช่ชาวเกาหลีเหนือ! แต่กลับร้องไห้อย่างปิติ เมื่อได้ยินเพลงชาติเกาหลีเหนือ ซึ่งเขาเกิดในญี่ปุ่น มีพ่อแม่เป็นชาวเกาหลีใต้ โดยเขาได้ใช้ชีวิตในญี่ปุ่น และเล่นใน J-League ก่อนจะมาเล่นให้กับทีมฟุตบอลของเกาหลีเหนือ
หลังคืนสิทธิการเป็นพลเมืองของเกาหลีใต้ และมอบหนังสือเดินทางเล่มใหม่ให้กับสถานกงสุลเกาหลีเหนือในโตเกียว ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ แม้จะไม่มีใครรู้ว่า แท้จริงแล้ว ทำไม Jong ถึงร้องไห้กับเพลงชาติเกาหลีเหนือ แต่ก็มีความคิดเห็นบางส่วนที่มองว่า น้ำตาเหล่านั้นเป็นพลังรักชาติอย่างแท้จริง แม้ว่าจะเป็นน้ำตาให้กับประเทศที่เขาไม่ได้อาศัยอยู่จริงๆ
#น้ำตาของผู้นำ
เมื่อพูดถึง คิม จองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ หลายครั้งเราจะนึกภาพของผู้นำที่โหดร้าย เกรี้ยวกราด โมโหง่าย แต่คิม เองก็เคยแสดงออกในด้านที่อ่อนแอ และเสียน้ำตาให้เราเห็นเช่นกัน โดยในช่วงการเสียชีวิตของ คิม จองอิล ผู้เป็นพ่อ ท่ามกลางการเสียน้ำตาที่มากมายของชาวเกาหลีเหนือ เราก็ได้เห็นภาพการร้องไห้ของคิม จองอึนเช่นกัน ซึ่งหลังจากนั้น ภาพการเสียน้ำตาของคิม ก็แทบไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลย จนกระทั่งมีข่าวเมื่อต้นปี 2018 ว่า คิม ได้ร้องไห้ให้กับเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของประเทศด้วย
มีการปล่อยภาพวิดีโอการร้องไห้ของคิม จองอึน ที่ถูกอธิบายว่าเป็นการร้องไห้ให้กับเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของประเทศ โดยเป็นช่วงก่อนที่ คิม จะได้พบปะกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ปธน. ของสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก ซึ่งสำนักข่าว Asahi Shinbun ของญี่ปุ่นระบุว่า คลิปฟุตเทจนี้ถูกปล่อยจากชาวเกาหลีเหนือแปรพักตร์ ที่มีการติดต่อกับสมาชิกระดับสูงในพรรคการเมือง ทั้งยังมีการคาดการณ์ว่า นี่อาจจะเป็นข้อความทางการของคิม ที่ต้องการส่งไปให้สมาชิกพรรคด้วย
ทั้งยังมีการมองว่า การเสียน้ำตาของคิมในครั้งนี้ ถ้าหากเป็นการร้องไห้จริงๆ ก็จะเป็นก้าวสำคัญของการเมืองระหว่างประเทศในช่วงนั้น ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐฯ และเกาหลีเหนือมีความตึงเครียด ซี่งเกาหลีเหนืออาจถูกคว่ำบาตรได้ หรือการร้องไห้ในครั้งนี้ แท้จริงอาจจะเป็นเรื่องของการส่งสารทางการเมืองด้วยก็เป็นได้
นอกจากการหลั่งน้ำตาของผู้นำ น้ำตาของประชาชนที่ร้องไห้ให้กับการสูญเสียผู้นำ ปิติยินดี และรักชาติแล้ว ยังมีน้ำตาอีกหลายครั้งที่เราเห็นเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ ไม่ว่าจะเป็น น้ำตาของชาวเกาหลีเหนือและใต้ ที่ได้พบกันในงานรวมญาติที่จัดขึ้น หลังต้องพัดพรากกันเมื่อเกาหลีเหนือ—เกาหลีใต้ แยกประเทศ น้ำตาของชาวเกาหลีเหนือแปรพักตร์ที่หนีออกจากประเทศสำเร็จ และเราเชื่อว่า ยังมีน้ำตาของชาวเกาหลีเหนือ ที่ต้องอาศัยอยู่ในประเทศที่มีการปกครองแบบเผด็จการ ที่พวกเขาไม่สามารถส่งเสียงร้องไห้ออกมาให้โลกได้รู้ และเราเองก็ไม่สามารถรับรู้ถึงการร้องไห้ของพวกเขาได้เลย
#ขอบคุณข้อมูลจาก pri.org edition.cnn.com
businessinsider.com foreignpolicy.com
newyorker.com sports.yahoo.com
dailymail.co.uk asahi.com thematter.co
#ผิดพลาดส่วนไหนขออภัยด้วยครับ
ขอบคุณสำหรับการ กดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม
ขอบคุณทุกท่านครับ