หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

ตำลึง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

เนื้อหาโดย มารคัส

ตำลึง

ชื่อสมุนไพร  ตำลึง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น  ผักแคบ(ภาคเหนือ),ผักตำนิน(ภาคอีสาน),แคเด๊าะ(กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์  Coccinia grandis (L.) Voigt.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์   Coccinia indica Wight & Arn. , Coccinia cordifolia (L.) Cogn.
ชื่อสามัญ  Ivy gourd
วงศ์  CUCURBITACEAE

 

ถิ่นกำเนิดตำลึง

มีการสันนิษฐานว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของตำลึงนั้นอยู่แถบคาบสมุทรมาเลเซียและอินโดจีน เช่น ประเทศไทย , กัมพูชา , พม่า , เวียดนาม , มาเลเซีย , อินโดนีเซีย และจีน เป็นต้น ปัจจุบันพบตำลึงขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในประเทศเขตร้อนชื้นหลายสิบประเทศ แต่มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่รู้จักนำตำลึงมาใช้เป็นผักปรุงอาหาร เช่น ในประเทศอินเดีย ศรีลังกา และฟิลิปปินส์ จะมีการนำตำลึงมาใช้เป็นสมุนไพรเท่านั้น

สำหรับในประเทศไทยนั้น มีการนำตำลึงมาใช้ประโยชน์มานานแล้ว แต่ที่มีหลักฐานเป็นลายลักอักษรคือ  ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเลย์ พ.ศ.2416โดยได้อธิบายความหมายของคำว่า “ตำลึง” ไว้ว่า “เป็นชื่อผักอย่างหนึ่ง เป็นเถาลูกมันสุกสีแดง ยอดอ่อนๆ ต้มกินก็ได้ แกงเลียงก็ดี อนึ่งเป็นชื่อเงินสี่บาท”  ปัจจุบันเราจึงพบตำลึงขึ้นเองตามธรรมชาติอยู่ทั่วไปทุกภาคในประเทศไทย ผักตำลึงที่ชาวไทยเก็บมาบริโภคทุกวันนี้อาจกล่าวได้ว่า เป็นตำลึงที่ขึ้นเองโดยธรรมชาติมากกว่าที่ปลูกเสียอีก


ประโยชน์และสรรพคุณตำลึง

ยอดและใบตำลึงใช้กินเป็นผักสด หรืออาจนำไปต้มหรือลวกจิ้มกับน้ำพริก และใช้ปรุงในแกงต่างๆ เช่น แกงจืด แกงเลียง ต้มเลือดหมู ก๋วยเตี๋ยวหมูตำลึง นำไปผัดตำลึงไฟแดง หรือใส่ในไข่เจียว ผลอ่อนของตำลึงกินกับน้ำพริกคล้ายแตงกวา หรือดองกินคล้ายแตงดองได้ เนื้อในผลสุกของตำลึงมีรสอมหวาน

นอกจากประโยชน์ด้านอาหารแล้ว ตำลึงยังช่วยกำจัดกลิ่นตัว กลิ่นเต่า ด้วยการใช้ต้นตำลึง (เถาและใบ) นำมาตำผสมกับปูนแดงแล้วทาบริเวณรักแร้  ใช้ทำทรีตเม้นต์ทำให้ผิวหน้าเต่งตึง ด้วยการใช้ยอดตำลึงและน้ำผึ้งอย่างละครึ่งถ้วย นำมาปั่นในโถให้ละเอียด แล้วนำมาพอกหน้า ทิ้งไว้ประมาณ 20 นาทีแล้วล้างออก หรืออาจจะนำใช้เป็นยารักษาตาไก่ได้อีกด้วย

ส่วนสรรพคุณทางยาของตำลึงนั้น ตามตำรายาไทยระบุว่า ตำลึงเป็นยาเย็นดับพิษร้อน เถา รสจืดเย็น เป็นยาเย็นดับพิษ แก้ตาช้ำ ปวดตา ใช้ถอนพิษ แก้ฝี แก้โรคตาต่างๆ ใบ มีรสเย็นแก้ปวดแสบปวดร้อน แก้คัน แก้โรคผิวหนัง แก้ไข้หวัด ถอนพิษไข้ แก้เริมช่วยย่อยอาหาร แก้หลอดลมอักเสบ แก้โรคตา รักษาเลือดออกตามไรฟัน แก้โลหิตจาง ใบตัวผู้ ใช้ผสมยาเขียว แก้ไข้ แก้พิษจากขนพืชหรือสัตว์ต่างๆ ราก ลดความร้อน แก้ไข้ทุกชนิด แก้พิษ แก้โรคตา ผล แก้เจ็บเส้น ลิ้นเป็นแผล แก้ฝีแดง ทั้งต้น มีรสเย็น แก้โรคผิวหนัง แก้มะเร็ง ลดน้ำตาลในเลือด แก้โรคหัวใจ

ส่วนในตำรายาพื้นบ้านของไทย มีการใช้ราตำลึงแก้ดวงตาเป็นฝ้า แก้โรคตา ดับพิษทั้งปวง แก้ไข้ทุกชนิด แก้เบาหวาน ส่วนของต้นใช้กำจัดกลิ่นตัว น้ำจากต้นใช้รักษาเบาหวาน ส่วนของใบใช้แก้ไข้ ดับพิษร้อน ถอนพิษทั้งปวง แก้คัน แก้แมลงกัดต่อย เป็นยาโรคผิวหนัง แก้เบาหวาน และผลใช้แก้ฝีแดง สำหรับในอินเดียและบังคลาเทศจะใช้ส่วนของรากและใบในการรักษาเบาหวาน  และในทางการแพทย์แผนปัจจุบันได้มีผลการศึกษาวิจัยที่พิสูจน์สรรพคุณต่างๆนี้ในสัตว์ทดลองชนิดต่างๆมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2496 และทำงานวิจัยต่อเนื่องมาจนปัจจุบันนี้ โดยพบว่าตำลึงมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระพบมีสารกลุ่มเทอปินอยด์ (Terpenoids) ที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาล โดยออกฤทธิ์คล้ายอินซูลิน ช่วยกระตุ้นการทำงานของเบต้าเซลล์ในหนูทดลอง และแสดงฤทธิ์ป้องกันการเกิดเบาหวาน ลดไขมันในเลือด ปกป้องตับจากสารพิษ ต้านการอักเสบ แก้ปวด และแก้ไข้ และมีการทดลองในอาสาสมัครระบุว่าใบตำลึงมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดเมื่อทดสอบด้วยวิธี Glucose tolerance test อีกด้วย


ลักษณะทั่วไปตำลึง

ตำลึงจัดเป็นไม้เถาล้มลุกอายุหลายปี เถาแก่ของตำลึงจะใหญ่และแข็ง เถาตำลึงจะมีลักษณะกลม สีเขียว ตามข้อมีตำลึงจัดเป็นเอาไว้ยึดเกาะ ใบเป็นใบเดี่ยวออกแบบสลับ ใบรูปร่างคล้าย 5เหลี่ยม ขอบใบเว้าเล็กน้อย บางครั้งจะเว้ามากเป็น 5 แฉก ขนาดกว้าง 5-8 เซนติเมตร ใบสีเขียวเรียบไม่มีขนของใบมีต่อมคายน้ำ ก้านใบยาว 3-6 เซนติเมตร

ทั้งนี้ชาวไทยแบ่งตำลึงออกเป็นสองชนิด คือ ตำลึงตัวผู้และตำลึงตัวเมีย โดยใช้ลักษณะของใบเป็นหลัก กล่าวคือชนิดที่มีใบเป็นหยักเว้าเข้าไปถึงโคนใบเรียกว่าตำลึงตัวผู้ ส่วนชนิดที่มีใบกว้างเต็มหรือเว้าเล็กน้อยเรียกว่าตำลึงตัวเมีย 

ดอกเป็นดอกเดี่ยวออกจากบริเวณซอกใบ ดอกแยกเพศกันอยู่คนละต้น ดอกมีกลีบสีเขียว ปลายดอกแยกออกเป็น 5แฉก โคนตัดกันเป็นกรวย กลีบดอกสีขาว เกสรตัวผู้มี 3อัน เกสรตัวเมียมี 1อัน ผลรูปร่างกลมรีคล้ายแตงแต่เล็กกว่า กว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร ยาว ประมาณ 5 เซนติเมตร ผลดิบสีเขียว มีสายขาวๆ  เมื่อแก่สุกจัดมีสีแดง หรือแดงอมส้มเนื้อในสีแดงและมีเมล็ดหลายเมล็ดข้างในลักษณะแบนสี ขนาด 2-3 เซนติเมตร


การขยายพันธุ์ตำลึง

ตำลึงสามารถขยายพันธุ์โดยวิธีเพาะเมล็ดหรือการเพาะชำเถาแก่ โดยมีวิธีการดังนี้ การปลูกด้วยการเพาะเมล็ดก่อนอื่นต้องเตรียมเมล็ดตำลึงที่แก่จัดมาผึ่งให้แห้งแล้วเตรียมดินโดยผสมปุ๋ยคอกลงไปในดินที่จะใช้ปลูก ขุดหลุมลึก 10-20 เซนติเมตร โดยมีระยะห่างประมาณ 50 เซนติเมตร ต่อหลุม แล้วนำเมล็ดพันธุ์ที่เตรียมไว้หยอดลงไปหลุมละ 2-3 เมล็ด จากนั้นกลบดินให้มิดแล้วรดน้ำให้ชุ่มจากนั้นรดน้ำ เช้า-เย็น แต่ควรระวังอย่าให้น้ำมากจนเกินไป หลังจากต้นกล้างอกประมาณ 5-7 เซนติเมตร ให้ทำค้างไว้ให้เถาตำลึงเกาะเลื้อยขึ้นไป ส่วนการปลูกด้วยการเพาะชำเถาแก่นั้น นำเถาแก่ของตำลึง (ต้องมีข้อของเถาในท่อนเถาแก่ที่จะนำมาปลูกด้วย) มาตัดเป็นท่อนยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร แล้วนำไปเพาะในถุงชำที่ผสมดินกับปุ๋ยคอกแล้ว  จากนั้นรดน้ำให้ชุ่มรอให้ท่อนพันธุ์มีรากและใบงอกออกมา ประมาณ 10 เซนติเมตร จึงนำไปปลูกในแปลงได้


องค์ประกอบทางเคมี   

การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของส่วนต่างๆ ของตำลึง พบว่า

ใบ ประกอบด้วย สารบีตาแคโรทีน(b-carotene)บีตาไซโตสเตอรอล (b-sitosterol) พอลิพรีนอล (polyprenol) วิตามินซี วิตามินอี วิตามินเค 1 แทนนิน โปรตีน โปแตสเซียม (potassium)    


รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของตำลึง
     

ที่มา : Wikipedia

ผล ประกอบด้วย สารคิวเคอร์บิตาซิน บี (cucurbitacin B) บีตาแคโร-ทีน ไลโคพีน (lycopene) คริพโตแซนทิน (cryptoxanthin) บีตาไซโตสเตอรอล(b-sitosterol)  เดาโคสเตอรอล (daucosterol) ทาราซีโรน (taraxerone) ทาราซีรอล (taraxerol) ลูพีออล (lupeol) บีตาอะไมริน (b-amyrin) วิตามินซี เส้นใย โปรตีน และเพกติน (pectin)

ราก ประกอบด้วย สารคอกซินิโคไซด์ เค (coccinioside-K) ลูพีออล(lupeol)  บีตาอะไมริน (b-amyrin) บีตาไซโตสเตอรอล(b-sitosterol)  

เมล็ด ประกอบด้วย กรดไขมัน ได้แก่ กรดปาล์มิติก (palmitic acid) โอเลอิก (oleic acid) ลิโนเลอิก (linoleic)

นอกจากนี้ตำลึงในฐานะอาหารยังมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้

คุณค่าทางโภชนาการของตำลึง (ใบอ่อน) 100 กรัม

-          พลังงาน                              35                                กิโลแคลอรี่

-          ใยอาหาร                             1                                  กรัม

-          โปรตีน                                 3.3                               กรัม

-          ไขมัน                                  0.4                               กรัม

-          คาร์โบไฮเดรต                       4.5                               กรัม

-          วิตามิน A                      18608                          IU

-          วิตามิน B1                          0.17                             มิลลิกรัม

-          วิตามิน B2                          0.13                             มิลลิกรัม

-          วิตามิน B3                          1.2                               มิลลิกรัม

-          วิตามิน C                      34                                มิลลิกรัม

-          แคลเซียม                            126                              มิลลิกรัม

-          ฟอสฟอรัส                           30                                มิลลิกรัม

-          เหล็ก                                   4.6                               มิลลิกรัม           

 

รูปแบบ/ขนาดวิธีใช้


การศึกษาทางเภสัชวิทยา

ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด สารสกัดจากส่วนต่างๆ ของตำลึง ได้แก่ ใบ ผล เถา ส่วนเหนือดิน และราก มีผลลดน้ำตาลในเลือดได้ดีเทียบเท่าหรือดีกว่ายาแผนปัจจุบัน โดยสารสกัดตำลึงมีฤทธิ์กระตุ้นการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ เพิ่มระดับอินซูลิน ทำให้มีการสังเคราะห์ไกลโคเจนเพิ่มขึ้น และลดการเปลี่ยนไกลโคเจนมาเป็นกลูโคสเป็นผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง

          การศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานระยะเริ่มต้น (ระดับน้ำตาลในเลือด 110-180 มก. /ดล.) ซึ่งได้รับสารสกัด 50% อัลกอฮอล์จากใบและผล ขนาด 1 ก./วัน  เป็นเวลา 90 วัน พบว่าผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง (fasting blood glucose) และหลังจากรับประทานอาหารไปแล้ว 2 ชั่วโมง (post-prandial blood glucose) ลดลงร้อยละ 16 และ 18 ตามลำดับ และยังมีผลลดน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด (HbA1c) แต่ไม่มีผลต่อระดับไขมันในเลือด และไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย เมื่อให้ผู้ป่วยเบาหวานรับประทานยาเม็ดผงแห้งจากใบตำลึง ครั้งละ 3 เม็ด วันละ 2 ครั้ง นาน 6 สัปดาห์ จากนั้นทำการทดสอบความทนทานต่อน้ำตาล (oral glucose tolerance test) โดยให้กลูโคส 50 ก. วัดระดับน้ำตาลในเลือดก่อนและหลังทำการทดสอบ พบว่าผู้ป่วยมีความทนต่อกลูโคสดีขึ้น และไม่พบความผิดปกติของน้ำหนักตัว ค่าทางโลหิตวิทยา เอนไซม์แอสพาร์เทตทรานส์อะมิเนส (aspartate transaminase) อะลานีนทรานส์อะมิเนส (ala-nine transaminase) ยูเรีย และไตของผู้ป่วย และในผู้ป่วยเบาหวานที่รับประทานสารสกัดจากตำลึง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้และตัวทำละลาย) ขนาด 500 มก./กก. เป็นเวลา 6 สัปดาห์ พบว่าสารสกัดมีผลลดระดับของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสลายกลูโคส ได้แก่ กลูโคส-6-ฟอสฟาเตส (glucose-6-phosphatase) และแลกเตตดีไฮโดรจิเนส (lactate dehydrogenase) และเพิ่มระดับของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสลายไขมัน คือ ลิโปโปรตีนไลเปส (lipoprotein lipase) แสดงว่าสารสกัดจากตำลึงทำหน้าที่คล้ายกับอินซูลินในยับยั้งการสร้างน้ำตาลและกระตุ้นการสลายไขมัน ซึ่งช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยได้

            นอกจากนี้งานวิจัยในสัตว์ทดลองที่ประเทศอินเดีย พบว่า สารสกัดน้ำ สารสกัดแอลกอฮอล์ และผงแห้งบดของใบและเถาตำลึง แสดงฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของหนูปกติ หนูที่อดอาหาร และหนูที่เป็นเบาหวานเนื่องจากได้รับสาร streptozotocin (STZ)  เมื่อหนูที่เป็นเบาหวานดังกล่าวได้รับสารสกัดเอทานอลใบตำลึง ๒๐๐ มิลลิกรัม/กิโลกรัม ติดต่อกัน ๔๕ วัน พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดลดลงระดับอินซูลินเพิ่มขึ้น เพิ่มการออกซิเดชันของกลูโคสในตับและเม็ดเลือดแดง ลดกลูโคนีโอเจเนซิสระดับไขมันและกรดไขมันในเลือดลดลง มีปริมาณวิตามินซีในพลาสมาเพิ่มขึ้น มีปริมาณเอนไซม์กำจัดสารพิษเพิ่มขึ้นทั้งกลูตาไทโอนเปอร์ออกซิเดส และกลูตาไทโอน เอส ทรานสเฟอเรส งานวิจัยชิ้นอื่น พบว่า ผงแห้งบดของใบและเถาตำลึงแสดงฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ทั้งในสุนัขปกติและสุนัขเบาหวาน  สารสกัดน้ำและแอลกอฮอล์ของรากตำลึง แสดงฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดในกระต่ายปกติ สารสกัดแอลกอฮอล์ที่ 250 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แสดงฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดในหนูที่อดอาหาร นอกจากนี้ สารเพ็กทิน จากผลตำลึงที่ 200 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัมในหนู ปกติแสดงฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด เพิ่มการทำงานของเอนไซม์ ไกลโคเจนซินทีเตส และเพิ่มปริมาณไกลโคเจนในตับ

และ ปี พ.ศ. 2546 ทีมผู้วิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทำการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับพืชอาหารและสมุนไพรที่ใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือด พบว่าตำลึง และโสมอเมริกันเป็นพืชที่มีข้อมูลสนับสนุนประสิทธิภาพด้านนี้ดีที่สุด การทดลองทางคลินิก (แบบ double-blind ขนานกัน 2 กลุ่ม) ในประเทศบังกลาเทศพบว่า เมื่อให้ผงแช่แข็งแห้งของใบตำลึงวันละ 1.8 กรัมกับผู้ป่วยเบาหวาน ชนิด 2 นาน 6 เดือนประกอบกับการควบคุมอาหาร พบว่า ค่าน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (fasting plasma glucose) ของกลุ่มผู้ป่วยลดลง จาก 178.8 เป็น 122.1 และค่าน้ำตาลในเลือดแบบสุ่ม (random plasma glucose) จาก 245.4เป็น 186.9 โดยกลุ่มควบคุมไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเช่นนี้ 

ฤทธิ์แก้ปวด  เมื่อฉีดสารสกัดน้ำจากใบ ขนาด 25, 50, 100, 200 และ 300 มก./กก. เข้าทางช่องท้องของหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้ปวดด้วยวิธี tail flick test เปรียบเทียบผลกับมอร์ฟีน ขนาด 2 มก./กก. และยาไอบูโปรเฟน (ibuprofen) ขนาด 20 มก./กก. พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์แก้ปวดได้ โดยที่ขนาด 300 มก./กก. จะมีฤทธิ์ดีใกล้เคียงกับมอร์ฟีน สารสกัดน้ำจากใบ ขนาด 1 ก./กก. ผงน้ำคั้นจากผลสด ขนาด 50-200 มก./กก. มีฤทธิ์แก้ปวดในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยวิธี acetic acid-induced writhing tail flick test และด้วยเครื่อง analgesy meter

ฤทธิ์ต่อการฝังตัวของตัวอ่อน การศึกษาในหนูแรทเพศเมียน้ำหนัก 200-250 กรัม ที่เหนี่ยวนำให้มีโปรแลคติน (prolactin) ในเลือดสูง (hyperprolactinemia) หรือเหนี่ยวนำให้มีฮอร์โมนเพศชาย หรือเหนี่ยวนำให้เป็นโรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ (endometriosis) ซึ่งทำให้มีลูกยาก แบ่งหนูออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุมป้อนน้ำเกลือ (normal saline) 1 มล./กก. กลุ่มที่ 2 ป้อนยาแผนปัจจุบัน bromocriptine เพื่อกระตุ้นให้ไข่ตก ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการหลั่งฮอร์โมน prolactin ขนาด 30 มก./กก. หรือยา clomiphene citrate ที่มีฤทธิ์กระตุ้นให้ไข่ตกแต่มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือยา danazol ซึ่งเป็นยารักษาโรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ กลุ่มที่ 3 และ 4 เป็นกลุ่มที่ป้อนสารสกัดน้ำของตำลึงขนาด 500 มล./กก. (ขนาดต่ำ) และ 1,000 มล./กก. (ขนาดสูง) ตามลำดับ ทำการศึกษาทั้งสิ้นนาน 3 รอบของการมีรอบเดือน พบว่าหนูแรทที่ได้รับยาแผนปัจจุบัน bromocriptine และกลุ่มที่ได้รับสารสกัดน้ำของตำลึงขนาดสูง 1,000 มล./กก. จำนวนครั้งการฝังตัวที่มดลูกเท่ากับ 6.4 ± 1.94 และ 6.0 ± 0.75 ตามลำดับ ในขณะที่กลุ่มควบคุมมีค่าเท่ากับ 0.6 ± 0.4 ส่วนกลุ่มที่ได้รับสารสกัดน้ำของตำลึงขนาดต่ำ 500 มล./กก. จำนวนครั้งการฝังตัวที่มดลูกเท่ากับ 5.0 ± 0.70 ซึ่งได้ผลน้อยกว่ายาแผนปัจจุบัน และสารสกัดน้ำตำลึงขนาดสูง นอกจากนี้สารสกัดน้ำตำลึงขนาดสูงมีฤทธิ์เพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับสารสกัดน้ำตำลึงขนาดต่ำ และกลุ่มที่ได้รับยาแผนปัจจุบัน clomiphene citrate ซึ่งสารสกัดน้ำตำลึงทั้งสองขนาดไม่มีผลต่อระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน และไม่มีผลต่อความหนาของมดลูกและเยื่อบุมดลูก ส่วนการศึกษาในหนูแรทที่ได้รับยา danazol พบว่าทั้งยา danazol และสารสกัดตำลึงทั้งสองขนาดลดการเจริญเติบโตของเยื่อบุมดลูกเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าสารสกัดน้ำของตำลึงขนาดสูง 1,000 มล./กก. มีผลช่วยให้มีการเพิ่มการฝังตัวที่มดลูกเป็นการรักษาการมีลูกยากในหนูแรทที่เหนี่ยวนำให้มีโปรแลคตินในเลืดสูงได้ โดยไปเพิ่มจำนวนครั้งการฝังตัวของมดลูก เพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน แต่ไม่ได้ผลช่วยในการฝังตัวที่มดลูกในหนูที่เหนี่ยวนำให้เกิดภาวะ endometriosis หรือเหนี่ยวนำให้มีฮอร์โมนเพศชาย

ฤทธิ์ต้านการอักเสบ  การศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดน้ำจากใบและเถาตำลึง ขนาด 50, 100และ 200 มก./กก. ในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบที่อุ้งเท้าด้วย 1% ฟอร์มาลดีไฮด์ เปรียบเทียบกับยาอินโดเมทาซิน (indomethacin) ขนาด 10 มก./กก. พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ โดยที่สารสกัดน้ำจากใบมีฤทธิ์ดีที่สุด เมื่อฉีดสารสกัดน้ำจากใบ ขนาด 25, 50, 100, 200 และ 300 มก./กก. เข้าทางช่องท้องของหนูแรทก่อนและหลังเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบที่อุ้งเท้าด้วยสารคาราจีแนน เปรียบเทียบผลกับยาไดโคลฟีแนค (diclofenac) ขนาด 20 มก./กก. พบว่าการให้สารสกัดก่อนเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบสามารถลดอาการบวมของอุ้งเท้าหนูได้ โดยสารสกัดที่ขนาด 50 มก./กก. จะให้ผลดีที่สุดและเทียบเท่ากับยาไดโคลฟีแนค สำหรับการให้สารสกัดหลังเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบ พบว่าสารสกัดทุกขนาด ยกเว้นขนาด 25 มก./กก. มีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้เช่นกัน แต่มีบางงานวิจัยที่พบว่าการป้อนสารสกัดน้ำจากใบ ขนาด 1 ก./กก. ไม่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูแรท นอกจากนี้มีรายงานว่าผงน้ำคั้นจากผลสด ขนาด 50-200 มก./กก.  มีฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบที่อุ้งเท้าด้วยสารคาราจีแนนและฮิสตามีน

          สารสกัดอัลกอฮอล์จากใบ ขนาด 1, 2.5, 10 และ 20 มก./กก.  มีฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบที่อุ้งเท้าด้วยสารคาราจีแนนได้ แต่มีฤทธิ์น้อยกว่ายาเพรดนิโซโลน (prednisolone)  ขนาด 5 และ 10 มก./กก. และตำรับครีมที่มีสารสกัดเดียวกันนี้ผสมอยู่ 2% ไม่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองหรือลดรอยแดงจากยุงกัดในอาสาสมัคร จำนวน 5 คน เมื่อเทียบกับครีมเบส


การศึกษาทางพิษวิทยา 

การทดสอบความเป็นพิษ สารสกัด 50% เอทานอลจากทั้งต้นขนาด 10 ก./กก. ไม่ทำให้เกิดพิษเมื่อป้อนทางสายยางสู่กระเพาะอาหารหรือฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนังของหนูถีบจักร และเมื่อฉีดสารสกัดเดียวกันนี้เข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักร พบว่าขนาดต่ำสุดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายเป็นจำนวนครึ่งหนึ่ง (LD50) มีค่าเท่ากับ 750 มก./กก.


ข้อแนะนำ/ข้อควรระวัง

  1. ตำลึงที่ใช้เป็นผักนิยมใช้ชนิดตัวเมีย ส่วนชนิดตัวผู้นั้นจะใช้เป็นสมุนไพรเท่านั้น
  2. มีการศึกษาวิจัยพบว่าใบและยอดของตำลึงมีฤทธิ์ช่วยการกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ ดังนั้นในการนำมาบริโภคเพื่อเป็นอาหารหรือใช้เป็นสมุนไพรไม่ควรรับประทานมากจนเกินไปเพราะอาจทำให้ท้องเสียได้
  3. การทาน้ำตำลึงเพื่อแก้คันหรือรักษาโรคผิวหนังต่างๆไม่ควรถูแรงจนเกินไปในบริเวณที่เป็นผิวบอบบาง เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้หรือการอักเสบขึ้น

คลิปจาก จินตนาการความรู้

https://www.disthai.com/17105219/%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B8%A5%E0%B8%B6%E0%B8%87

เนื้อหาโดย: มารคัส
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
มารคัส's profile


โพสท์โดย: มารคัส
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
"เหมือนเป๊ะ! แตงโมจัดเต็มโคฟเวอร์ 'เจ๊มิ่ง' แซ่บเวอร์ทุกดีเทล"
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
น้ำใจยิ่งใหญ่! หนุ่มไร้เงินขอติดรถกลับบ้าน เจอผู้ให้เต็มคันสุดอบอุ่น
กระทู้อื่นๆในบอร์ด สาระ เกร็ดน่ารู้
วิธีล้างผักให้สะอาดปราศจากสารพิษตกค้างจริงไหมที่คำว่า ‘Salary’ มาจาก ‘Salt’ เพราะทหารโรมันรับค่าจ้างเป็นเกลือ?อยากโกอินเตอร์? เจาะลึกวิธีหางานต่างประเทศ 2567 แบบถูกกฎหมาย ได้สิทธิเต็มที่ ไม่มีโดนหลอก!ชาวต่างด้าวข้ามฝั่งมาคลอดฟรี คนไทยเสียงแตก งานนี้ใครได้ ใครเสีย
ตั้งกระทู้ใหม่