เช็กลิสต์ จะรู้ได้อย่างไรว่าเรา “ติดหวาน” อยู่หรือเปล่า
รู้ได้อย่างไรว่าติดหวาน
- อยากรับประทานขนมหวาน รวมถึงผลไม้รสหวาน ผลไม้แห้งและผลไม้แช่อิ่มบ่อย ๆ
- หากไม่ได้รับประทานของหวานจะรู้สึกไม่มีแรง เหนื่อย หงุดหงิด
- หิวบ่อย หรือมักนึกถึงอาหารอยู่เสมอ แม้จะเพิ่งรับประทานเสร็จ
- หลังอาหารทุกมื้อต้องตามด้วยของหวาน ผลไม้หวาน น้ำอัดลม หรือน้ำหวาน
- มีของหวานติดบ้านเป็นประจำ
- เติมน้ำตาลในอาหารคาวเกือบทุกจาน
- ดื่มน้ำอัดลม น้ำหวาน ชา กาแฟรสชาติหวาน แทนน้ำเปล่าตลอดทั้งวัน
เลิกหวาน เลี่ยงโรค
- รับประทานของหวานแต่พอดี หรือเพียงชิ้นเล็ก ๆ
- เลือกผลไม้ไม่หวานจัดแทนขนมหรือผลไม้รสหวาน เช่น ชมพู่ ฝรั่ง เป็นต้น
- งดเติมน้ำตาลลงในอาหาร เครื่องดื่ม หรือขนม โดยอาจเริ่มต้นจากลดปริมาณลงเรื่อย ๆ จนในที่สุดจึงไม่ต้องเติมอีกเลย
- ดื่มน้ำเปล่า โดยไม่ปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ เนื่องจากจะทำให้รู้สึกหิวและเพิ่มความอยากของหวานมากขึ้น
- รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง และถั่วเปลือกแข็ง เพื่อช่วยบรรเทาความอยากของหวาน
- เลิกตุนขนมไว้ในบ้าน รวมถึงควรอ่านฉลากโภชนาการ เพื่อดูปริมาณน้ำตาล
คนไทยติดหวาน
รายงานจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายแห่งประเทศไทย พบว่าอัตราการบริโภคน้ำตาลของคนไทยได้เพิ่มขึ้นจนถึงปัจจุบัน เฉลี่ยมากถึง 20-26 ช้อนชาต่อคนต่อวัน ซึ่งองค์การอนามัยโลก แนะนำให้รับประทานน้ำตาลเพียงแค่วันละ 6 ช้อนชา (24 กรัม) เทียบง่ายๆ โดยน้ำตาล 4 กรัม เท่ากับ 1 ช้อนชา จะเห็นได้ว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลเกินจากปริมาณที่แนะนำหลายเท่าตัว โดยน้ำตาลอาจแฝงมาในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะขนมไทยชนิดต่างๆ เนื่องจากขนมหวานไทยมีวิธีปรุงและตักแบ่งขายโดยไม่มีบรรจุภัณฑ์มาตรฐานที่ระบุคุณค่าอาหารและปริมาณน้ำตาลไว้ให้เห็นชัดเจน
ตัวอย่างปริมาณน้ำตาลในขนมแต่ละชนิด
ชื่อขนม ปริมาณ น้ำหนัก(กรัม) ปริมาณน้ำตาล (กรัม)
ขนมเปียกปูน 1 ชิ้น 50 10
ข้าวต้มมัดไส้กล้วย 1 ชิ้น 70 10.5
ข้าวเหนียวสังขยา 1 ห่อ 100 19
ข้าวเหนียวหน้าปลาแห้ง 1 ห่อ 100 22
ขนมทองหยอด 1 ลูก 9 5.1
ขนมเม็ดขนุน 1 เม็ด 8 3
ขนมฝอยทอง 1 แพ 32 12.8
ขอขอบคุณข้อมูลจาก นพ. จิรทีปต์ ขวัญแก้ว แพทย์ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม รพ. สมิติเวช ศรีนครินทร์
อ้างอิงจาก: https://pluto134340.com/beauty/5163/